คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization)

detail

การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization) เป็นวิธีการประเภทหนึ่งในการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง ซึ่งวัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยพิจารณาจาก 3 ส่วนหลัก แบ่งเป็น SCOPE ดังนี้

  • SCOPE I: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Direct Emissions) จากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้พาหนะขององค์กร (ที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง) การใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำเสีย การรั่วซึม/รั่วไหล จากกระบวนการหรือกิจกรรม เป็นต้น
  • SCOPE II: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ได้แก่ การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร เช่น พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ เป็นต้น
  • SCOPE III: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมด้านอื่น ๆ (Other Indirect Emissions)  ได้แก่ การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การเดินทางไปสัมมนานอกสถานที่ การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น

การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization หรือ Corporate Carbon Footprint) เป็นวิธีการประเภทหนึ่งในการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์อย่างต่อเนื่องทั้งการใช้พลังงาน การเกษตรกรรม การพัฒนาและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง การตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบอื่น ๆ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน และนับวันปัญหาดังกล่าวก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น

การดำเนินงานของกองกายภาพและสิ่งแวดล้อม

มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัดทำโปรแกรม MU Carbon Footprint ในปี 2558 เพื่อใช้เป็นระบบจัดเก็บฐานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะ/ส่วนงาน และพัฒนาโปรแกรม MU ECO Data ร่วมกับคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อเก็บหลักฐานและข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของทั้งมหาวิทยาลัยพร้อมทั้งตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และเป็นการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยอย่างมีประสิทธิภาพ ตามยุทธศาสตร์การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainability Resource Use) ของ นโยบายขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนายั่งยืน (Mahidol University Sustainability Action) ตามเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (Ensure sustainable consumption and production patterns) ที่ครอบคลุมประเด็นการจัดการและการใช้ทรัพยากรธรรมธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และเป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)

และสนับสนุนส่วนงานจัดทำรายงานการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกและขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยการสร้างระบบการประเมินและทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยพื่อให้ส่วนงานมีความเข้าใจในการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint Organization) ได้อย่างมีมาตรฐาน 

โดยกองกายภาพและสิ่งแวดล้อมให้การสนับสนุนหน่วยงานในการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร ดังนี้

  1. การให้คำปรึกษาและช่วยประเมินขอบเขต ตรวจสอบเอกสารหลักฐาน ประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งทวนสอบภายในให้กับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย

  2. การประสานงานกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) และผู้ทวนสอบภายนอก รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการทวนสอบและขึ้นทะเบียน 

  3. การประสานงานกับหน่วยงานซื้อขายคาร์บอนเครดิตและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ในการชดเชยคาร์บอน

และในปี พ.ศ. 2564 ได้เริ่มต้นกระบวนการชดเชยคาร์บอนให้แก่ส่วนงานที่เข้าร่วมโครงการ 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อประเมินข้อมูลการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินงานของหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย
  2. เพื่อใช้ในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยมหิดลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3. เพื่อเป็นการทวนสอบและขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กรของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยมหิด
  4. เพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการของหน่วยงานในมหาวิทยาลัยมหิดล

วิธีการดำเนินการ

1. การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร

  • จัดตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน
  • กำหนดขอบเขตในการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร
  • กำหนดขอบเขตขององค์กรในการรวบรวมแหล่งปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกขององค์กรที่ต้องการประเมินผล
  • กำหนดขอบเขตการดำเนินงานโดยระบุกิจกรรมที่มีการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่สัมพันธ์กับการดำเนินงานขององค์กร โดยให้ประเมินผลในประเภทที่ 1 (Scope I) และประเภทที่ 2 (Scope II)
  • ศึกษาและเก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
  • จัดทำ ระเบียบปฏิบัติการ (Procedure) การจัดทำก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
  • ประเมินปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร
  • จัดทำรายงานก๊าซเรือนกระจก

2. การทวนสอบคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร

  • การทวนสอบภายใน (Internal Audit)
  • การทวนสอบจากหน่วยงานทวนสอบที่ผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองผู้ทวนสอบ (External Audit)
  • ปรับปรุงแก้ไขรายงานก๊าซเรือนกระจกตามคำแนะนำของผู้ทวนสอบ (External Audit)

3. การขึ้นทะเบียนขอเครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร 

  • ดำเนินการส่งใบสมัครและหลักฐานสำหรับการขอขึ้นทะเบียนแสดงเครื่องหมายรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร
  • ติดตามผลการขอขึ้นทะเบียนจนแล้วเสร็จตามขั้นตอนที่กำหนดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) จนได้รับตราสัญลักษณ์
    ทั้งนี้ อบก. จะมีการจัดงาน “ร้อยดวงใจ ร่วมใจลดโลกร้อน” ขึ้นในช่วงเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อเป็นการขอบคุณและมอบประกาศนียบัตรให้แก่องค์กรที่เข้าร่วมกิจกรรมและโครงการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ภายใต้การดำเนินงานของ อบก. 

4. การชดเชยคาร์บอนเครดิต

  • คำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ต้องการลด
  • จัดซื้อคาร์บอนเครดิตจากผู้ขายเครดิตชดเชย
  • ดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ตามมขั้นตอนที่กำหนดโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) จนได้รับตราสัญลักษณ์

โดยมีส่วนงานที่เข้าร่วมและได้รับการรับรองดังนี้ 

  • 2560  ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล (Golden Jubilee Medical Center: GJ) 
  • 2561  คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Faculty of Information and Communication Technology: ICT) และ
                คณะเวชศาสตร์เขตร้อน (Faculty of Tropical Medicine: TM)
  • 2562  คณะทันตแพทยศาสตร์ (Faculty of Dentistry: DT) และ
                คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ (Faculty of Environment and Resource Studies: EN)
  • 2563  วิทยาลัยนานาชาติ (Mahidol University International College: IC) และ
                หอสมุดและคลังความรู้มหาวิทยาลัยมหิดล (Mahidol University Library and Knowledge Center: LI)
  • 2564  สถาบันวิจัยประชากรและสังคม (Institute for Population and Social Research: IPSR) และ
                บัณฑิตวิทยาลัย (Faculty of Graduate Studies: GR) โดยได้ดำเนินการชดเชยคาร์บอนให้แก่ส่วนงานทั้งหมด (Carbon Neutral)
  • 2565  คณะวิศวกรรมศาสตร์ (Faculty of Engineering: EG) และ
                คณะเทคนิคการแพทย์ (Faculty of Medical Technology: MT) โดยได้ดำเนินการชดเชยคาร์บอนให้แก่ส่วนงานทั้งหมด (Carbon Neutral)
  • 2566  คณะสาธารณสุขศาสตร์ (Faculty of Public Health: PH) และ 
                 สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน (ASEAN Institute for Health Development: AD) โดยได้ดำเนินการชดเชยคาร์บอนให้แก่ส่วนงานทั้งหมด (Carbon Neutral)

 

และได้จัดทำ คู่มือการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของโรงพยาบาล ภายใต้ โครงการส่งเสริมกิจกรรมการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงาน 

  


 

โครงการผู้บริหารคาร์บอนต่ำ

เป็นการสร้างความตระหนักในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริหารและบุคลากรให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นการสร้างต้นแบบผู้นำให้แก่ประชาคมมหิดล ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากกิจวัตรประจำวันของผู้บริหารแต่ละท่านเป็นระยะเวลา 1 ปี เพื่อคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายบุคคลและดำเนินการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผ่านกิจกรรมชดเชยคาร์บอน (Carbon Offsetting Program) หรือการซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชย ซึ่งเป็นเครดิตที่ได้จากกิจกรรมที่ช่วยลด หรือทดแทนก๊าซเรือนกระจกที่เราปล่อยไปได้ เช่น การใช้พลังงานทางเลือก การใช้ก๊าซชีวภาพต่าง ๆ ฯลฯ และขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ซึ่งหมายความว่า ผู้บริหารของมหาวิทยาลัยมหิดลไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปีนั้น เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2561 และมีผู้บริหารที่เข้าร่วมในแต่ละปีดังนี้

  • 2561 ทีมผู้บริหารมหาวิทยาลัยเข้าร่วมทั้งสิ้น 14 ท่าน และชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 118 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • 2562 มีผู้บริหารเข้าร่วม 16 ท่าน และชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 178 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • 2563 มีผู้บริหารเข้าร่วม 18 ท่าน และชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 219 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • 2564 มีผู้บริหารเข้าร่วม 22 ท่าน และชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 386 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • 2565 มีผู้บริหารเข้าร่วม 13 ท่าน และชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก  79 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

 

 

ทั้งสองโครงการนี้เป็นหนึ่งในการสร้างความมีประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของบุคลากร นักศึกษา และชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย รวมถึงเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรและองค์กรในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) และขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนายั่งยืน (Mahidol University Sustainability Action) และเป็นตัวอย่างของหน่วยงานและสถาบันการศึกษาอื่น ๆ ต่อไป