โครงการ การพัฒนาเครือข่ายทางสังคมในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10

detail

เด็กปฐมวัยควรได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น  เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ขั้นตอน/กระบวนการดำเนินงาน (Procedure/Process)

ที่มาของการดำเนินโครงการ มาจากเหตุผล 3 ประการ คือ 1) เด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10 ในภาพรวมพบพัฒนาการสงสัยล่าช้าจากการคัดกรองครั้งแรกร้อยละ 27.27 (เกณฑ์คือต้องพบไม่เกินร้อยละ 20) (HDC ณ วันที่ 31 มกราคม 2563) 2) เด็กในเขตสุขภาพที่ 10 มีไอคิวต่ำกว่าเกณฑ์ จากข้อมูลการสำรวจระดับสติปัญญาของเด็กนักเรียนไทยของ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (2559) พบว่า เด็กนักเรียนในเขตสุขภาพที่ 10 มีระดับสติปัญญา (IQ) เท่ากับ 90.88 ซึ่งเป็นอันดับสุดท้ายของประเทศ และ 3) การขับเคลื่อนนโยบายด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยภายใต้นโยบาย Smart Kids สู่ 1,000 วันแรกของชีวิต ของศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี โดยใช้รูปแบบ PIRAB ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร (นภัชชล  รอดเที่ยง มลุลี แสนใจ นิตยา พรรณณาภพ และเรืองอุไร อมรไชย, 2562)

ขั้นตอนการดำเนินงาน แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย

ระยะที่ 1 การถอดบทเรียนการดำเนินงานที่ผ่านมาด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10

ระยะที่ 2 การพัฒนาตำบลต้นแบบ และอำเภอต้นแบบด้านเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10  

ระยะที่ 3 การขยายผลตำบลต้นแบบ และอำเภอต้นแบบด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย และการนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10 ทั้งระดับตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับเขตสุขภาพที่ 10

ประโยชน์หรือผลลัพธ์

ระยะที่ 1 ผลจากการถอดบทเรียนในอำเภอเข้มแข็ง 5 อำเภอ จาก 5 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 10 (ปีงบประมาณ 2564) เกิดผลลัพธ์ดังนี้

              1) ข้อมูลพื้นที่สะท้อนภาพการดำเนินงานของเครือข่ายทางสังคมในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ผ่านกลไกความเข้มแข็งของเครือข่ายการทำงานร่วมกัน 2 แนวทาง แนวทางที่ 1 ใช้เครือข่ายคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) เป็นเครือข่ายหลักในการขับเคลื่อนงานเด็กปฐมวัย   แนวทางที่ 2 ใช้เครือข่ายคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และระดับตำบล (พชต.) เป็นเครือข่ายหลักในการขับเคลื่อนงานเด็กปฐมวัย

              2) ข้อมูลพื้นที่สะท้อนภาพสถานการณ์การพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่อำเภอเข้มแข็งที่พบว่าถึงแม้จะเป็นอำเภอเข้มแข็งแต่พบว่ามีระดับความรุนแรงของปัญหาพัฒนาการล่าช้า ปัญหาซีดของเด็กปฐมวัย และปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง อยู่ในระดับมาก และพบข้อมูลที่สัมพันธ์กับปัญหาพัฒนาการล่าช้าของเด็กปฐมวัย เช่น ผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเด็ก และครูเกินร้อยละ 95 ไม่เคยใช้คู่มือ DSPM  มีแม่วัยใสเพิ่มขึ้น หญิงตั้งครรภ์ได้รับการดูแลก่อนคลอดไม่ครบ 5 ครั้งตามเกณฑ์คุณภาพ หญิงตั้งครรภ์มีภาวะโลหิตจาง เด็กแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม เด็กแรกเกิดได้รับนมแม่อย่างเดียวไม่ถึงหกเดือนมีอัตราที่สูง และพบปัญหาเด็กติดจอมีแนวโน้มสูงขึ้นด้วย

              3) ข้อมูลพื้นที่สะท้อนภาพปัญหาพัฒนาการล่าช้าของเด็กปฐมวัยซึ่งพบในเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก การลงทุนเพื่อการพัฒนาเด็กในระดับชั้นอนุบาล ขาดแคลนมากกว่าชั้นเตรียมอนุบาล การไม่ยอมรับผลการประเมินพัฒนาการเด็กของผู้ปกครอง

              4) ข้อมูลพื้นที่สะท้อนภาพระบบฐานข้อมูลเด็กปฐมวัยไม่ครบถ้วนและมีความคลาดเคลื่อนค่อนข้างสูง

              5) ข้อมูลจากการทบทวนเอกสารและการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้ได้แนวทางการพัฒนาเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10 โดยอาศัยกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น (ขนิษฐา นันทบุตร, 2562)

ระยะที่ 2 การพัฒนาตำบลต้นแบบ และอำเภอต้นแบบด้านเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ปีงบประมาณ 2564-2565) ตามกรอบแนวคิดการพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น ซึ่งยึดหลักการทำงาน 4 หลักการ  คือ

              1) การใช้พื้นที่เป็นฐานการพัฒนา (Area-based development)

              2) การคำนึงถึงสุขภาพในทุกนโยบายของชุมชนท้องถิ่น (Health in all policies)

              3) การสร้างการมีส่วนร่วม และ

              4) การสร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ ภายใต้ 6 ชุดกิจกรรมหลัก ได้แก่

1) การพัฒนาศักยภาพสำหรับเด็กปฐมวัยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กปฐมวัย 2) การพัฒนาหรือปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้หรือการดูแลเด็กปฐมวัย 3) การพัฒนาบริการสำหรับการดูแลเด็กปฐมวัย 4) การจัดตั้งกองทุนหรือจัดให้มีสวัสดิการช่วยเหลือกันเพื่อการดูแลเด็กปฐมวัย 5) การพัฒนาและนำใช้ข้อมูลในการส่งเสริม แก้ไขหรือจัดการปัญหาเด็กปฐมวัย และ 6) การพัฒนากฎ กติกา ระเบียบที่สนับสนุนการดูแลเด็กปฐมวัยในการยกระดับการดูแลเด็กปฐมวัยในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สภาวะแวดล้อม สุขภาพ และการเมืองการปกครอง เพื่อให้เด็กปฐมวัยเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดีของสังคม

              เกิดผลลัพธ์ คือ ได้อำเภอต้นแบบด้านเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัย จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญ (7 ตำบลต้นแบบ) มีบทเรียนที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน นวัตกรรมและจัดการความรู้ซึ่งเป็นงานเด่น ดังนี้

1) เทศบาลตำบลนาป่าแซง งานเด่นคือ เนอร์สเซอรี่โฮมสุข

2) เทศบาลตำบลห้วย งานเด่นคือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคุณภาพ

3) เทศบาลตำบลหนองข่า งานเด่นคือ พัฒนาคุณภาพเด็กดีที่เนอร์สเซอรี่ 3 วัย ภูไทหนองข่า

4) องค์การบริหารส่วนตำบลลือ งานเด่นคือ การส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยแบบมีส่วนร่วม

5) เทศบาลตำบลปทุมราชวงศา งานเด่นคือ คลินิกส่งเสริมสุขภาพเด็กดี

6) พชต.นาหว้า  งานเด่นคือ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กคุณภาพวัดบ้านโนนสำราญ

7) พชต.คำโพน งานเด่นคือ  การส่งเสริมพัฒนาการและสร้างวินัยเชิงบวกในเด็กปฐมวัยในพื้นที่รับผิดชอบ รพ.สต.คำโพน

8) พชต.โนนงาม  งานเด่นคือ  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดโนนงามน่าอยู่ บ้านโนนงามหมู่ 3

ระยะที่ 3 การขยายผลตำบลต้นแบบ และอำเภอต้นแบบด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย และการนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10 (ปีงบประมาณ 2565-2566) เกิดผลลัพธ์ดังนี้

             1) ได้ตำบลต้นแบบด้านเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัยในจังหวัดอำนาจเจริญ เพิ่มอีก 1 ตำบล คือ ตำบลไม้กลอน อำเภอพนา ที่มีจุดเด่นด้านการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก นวัตกรรมลานส่งเสริมพัฒนาการเด็ก “เอื้อยฮักน้อง  อ้ายฮักน้อง พาน้องเล่น” บูรณาการการทำงานร่วมกับเด็กและเยาวชนในชุมชน โดยความร่วมมือของ บ้าน วัด โรงเรียน  ชุมชน และมหาวิทยาลัย

             2) ได้จังหวัดต้นแบบด้านเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัย จำนวน 1 จังหวัด คือ จังหวัดศรีษะเกษ ซึ่งจังหวัดศรีสะเกษมีกลไกหลักคือคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขระดับอำเภอ (คปสอ.) มีการพัฒนากลไกการทำงานร่วมกันใน 3 ระดับ คือ กลไกระดับตำบล (44 ตำบลต้นแบบ) กลไกระดับอำเภอ (22 อำเภอต้นแบบ) มีการบูรณาการ คน งาน ข้อมูล และทรัพยากร โดยที่มีโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล หนุนเสริมองค์ความรู้ด้านวิชาการ ขับเคลื่อนให้จังหวัดศรีสะเกษเป็นจังหวัดต้นแบบด้านเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัย

             3) ได้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับตำบล (จำนวน 10 ข้อ) ระดับอำเภอ (จำนวน 6 ข้อ) ระดับจังหวัด (จำนวน 5 ข้อ) และระดับเขตสุขภาพที่ 10 (จำนวน 7 ข้อ)

กลุ่มเป้าหมายหรือพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์

              เขตสุขภาพที่ 10 มี 5 จังหวัด ประกอบด้วย อำนาจเจริญ  อุบลราชธานี  ยโสธร  มุกดาหาร และศรีสะเกษ

ระดับผลลัพธ์

1) ผลลัพธ์ระดับท้องถิ่น เกิดตำบลต้นแบบด้านเครือข่ายการพัฒนาเด็กปฐมวัย จำนวน 52 ตำบล (จังหวัด

อำนาจเจริญ จำนวน 8 ตำบล  จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 44 ตำบล) เกิดอำเภอต้นแบบ 24 อำเภอ (จังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 2 อำเภอ  จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 22 อำเภอ) และเกิดจังหวัดต้นแบบ 1 จังหวัด คือ จังหวัดศรีสะเกษ

             2) ผลลัพธ์ระดับเขตสุขภาพที่ 10 พบเด็กปฐมวัยในภาพรวมมีพัฒนาการสงสัยล่าช้าจากการคัดกรองครั้งแรกลดลง โดยก่อนเริ่มโครงการ พบร้อยละ 27.27 (HDC ณ วันที่ 31 มกราคม 2563) หลังดำเนินโครงการพบร้อยละ 25.12 (HDC ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2565) ลดลงร้อยละ 2.15

ความต่อเนื่องและระยะเวลาของการดำเนินงาน

ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปีงบประมาณ 2564-2566 หลังสิ้นสุดโครงการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงมีการดำเนินการพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

            1) จังหวัดศรีสะเกษ เป็นแกนนำขับเคลื่อนงานพัฒนาเด็กปฐมวัยของ 5 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 10 โดยได้รับทุนสนับสนุนจากงบพัฒนาจังหวัด ปีงบประมาณ 2566 จำนวน 8,000,000 บาท เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยใน 5 จังหวัด ให้มีพัฒนาการที่สมวัย มีอีคิวดี และมีความพร้อมสำหรับการคัดกรองระดับสติปัญญา (IQ) ระดับชาติ ในปี พ.ศ.2569 เมื่อเด็กเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้เด็กปฐมวัยในเขตสุขภาพที่ 10 มีระดับสติปัญญาเพิ่มขึ้น เกิน 100 ทุกจังหวัด

            2) ผู้ดำเนินโครงการ จากโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำโครงการ การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเป็นศูนย์พัฒนาเด็ก EF โดยฝึกอบรมพัฒนาให้บุคลากรของศูนย์สาธิตส่งเสริมพัฒนาการทักษะสมองเด็กปฐมวัย ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี เป็นวิทยากรที่ถ่ายทอดความรู้ได้ และพัฒนาให้ศูนย์สาธิตฯ ที่มีอยู่เดิม กลายเป็นศูนย์เด็ก EF ต้นแบบของเขตสุขภาพที่ 10 ส่วนในระดับพื้นที่ตำบลโนนหนามแท่ง การพัฒนาศูนย์ เด็กเล็ก จำนวน 5 ศูนย์ เป็นศูนย์เด็ก EF โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลโนนหนามแท่ง จำนวน 10,000 บาท เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นไป นอกจากนี้ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกับศูนย์ดูแลกลางวัน (Day care) สำหรับผู้สูงอายุตำบลโนนหนามแท่ง ฐานการเรียนรู้ที่ 2 ปู่ย่าตายายเลี้ยงหลาน และโครงการเยี่ยมบ้านบูรณาการเพื่อการดูแลกลุ่มเปราะบาง ของศูนย์ดูแลกลางวันสำหรับผู้สูงอายุ ตำบลโนนหนามแท่ง  โดยได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 100,000 บาท เริ่มดำเนินการในเดือนมิถุนายน 2566 เป็นต้นไป

Partners/Stakeholders

1) สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

2) โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี

3) ศูนย์อนามัยที่ 10 อุบลราชธานี

4) วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สรรพสิทธิประสงค์

5) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ

6) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี

7) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยโสธร

8) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร

9) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ

10) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอำนาจเจริญ

11) โรงเรียนบ้านนายูง ตำบลไม้กลอน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ

12) โรงเรียนบ้านลือนาคำ ตำบลไม้กลอน อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ

13) สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก (ททบ.5 เอชดี), บริษัทใบหอม โปรดักชั่น 2005 จำกัด และรายการ ตามรอยบุญ

ผู้ดำเนินการหลัก
ดร.เรืองอุไร อมรไชย
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
1) ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน 2) นายเจตพล แสงกล้า 3) ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐการ 4) นางเรืองศิริ เจริญพงษ์ 5) นายไพโรจน์ เจริญพงษ์ 6) นางสาวนภัชชล รอดเที่ยง 7) ดร.กุลธิดา กุลประฑีปัญญา 8) ดร.อรรถพงษ์ ฤทธิทิศ
ส่วนงานร่วม