โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T for BCG)

detail

โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทในการบริการวิชาการดูแลประชากรในจังหวัดอำนาจเจริญถึงร้อยละ 90 ของจำนวนตำบลทั้งหมดในจังหวัด ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากโดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19 

นายแพทย์สุรพร ลอยหา รองอธิการบดีฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาในฐานะ “หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)” ของจังหวัดอำนาจเจริญ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล มีบทบาทในการบริการวิชาการดูแลประชากรในจังหวัดอำนาจเจริญถึงร้อยละ 90 ของจำนวนตำบลทั้งหมดในจังหวัดอำนาจเจริญ ให้ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19

ในปี 2565 โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญได้รับงบประมาณสนับสนุนให้ดูแลตำบลในจังหวัดอำนาจเจริญ จำนวน 43 ตำบล (จากทั้งหมด 56 ตำบล) ในการตั้งเป้าหมายฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากโดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นถิ่นให้ได้อย่างน้อย 2 ผลิตภัณฑ์ต่อตำบล รวมเป็น 86 ผลิตภัณฑ์จากชุมชน ภายใน 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน 2565)

โดยผลิตภัณฑ์จากชุมชนคุณภาพที่ได้รับการส่งเสริมจากโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากงาน U2T for BCG Hackathon 2022 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง จากการเพิ่มมูลค่า “ต้นกก” ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรณไม้มงคลของชาวอีสาน ให้ “ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเสื่อกก” ของตำบลปลาค้าว อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ สามารถต่อยอดพัฒนาให้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ด้วยรูปลักษณ์และการใช้งานที่หลากหลาย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดึงดูดน่าสนใจ มีคุณภาพในการใช้งาน ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญของ “มหาวิทยาลัยด่านหน้า” ที่จะต้องใช้หลักวิชาการเข้ามาช่วยจึงทำให้ผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเสื่อกก นอกจากดูดีน่าใช้ ยังมีคุณภาพที่แตกต่าง จากการใช้เทคโนโลยีมาช่วยทำให้เป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนที่ปลอดเชื้อราซึ่งคงทนมากขึ้น

   

นอกจากผลิตภัณฑ์ชุมชนจากพรรณไม้มงคลของชาวอีสานแล้ว โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้มองไปถึงการเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของผลิตภัณฑ์ชุมชนตำบลคึมใหญ่และเครือข่ายอำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ จาก “รังไหม” ซึ่งถือเป็นหัวใจของเศรษฐกิจและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดอำนาจเจริญ โดยจะขยายประโยชน์การใช้สอยสู่ “สารสกัดโปรตีนจากรังไหม” จากการนำมาวิเคราะห์ถึงคุณค่าของโปรตีน และแนวทางการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากชุมชนเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ที่เชื่อมั่นได้ว่าจะเป็นอีกสิ่งที่ดีที่สุด ที่โครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมมอบให้ประชาชนและประเทศชาติ

Partners/Stakeholders

-

ผู้ดำเนินการหลัก
นายแพทย์สุรพร ลอยหา, นายชัยอนันต์ ทุมชาติ
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม