การเตรียมความพร้อมเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเยาวชนและผู้สูงอายุ กลไกทางสังคม การสร้างความตระหนักรู้การเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน การพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและแนวทางการสร้างรายได้จากทักษะทางวิศวกรรม
การเตรียมความพร้อมเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาเยาวชนและผู้สูงอายุ กลไกทางสังคม การสร้างความตระหนักรู้การเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน การพัฒนาแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและแนวทางการสร้างรายได้จากทักษะทางวิศวกรรม
แผนงานวิจัย “ต้นแบบชุมชน ร่วมพลัง ร่วมใจ รองรับสังคมสูงวัยเขตเมือง” ภายใต้การนำทีมของ รศ.ดร. ยาใจ สิทธิมงคล ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย และความร่วมมือ ร่วมใจ ร่วมพลังสติปัญญา จากนักวิจัยคณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคมมหาวิทยาลัยมหิดล และนักวิจัยจากหลากหลายสาขาวิชาและมหาวิทยาลัย อาทิ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ร่วมด้วยชุมชนวัดวิเศษการ-วัดฉิมทายกาวาส เขตบางกอกน้อย และชุมชนร่วมเกื้อ เขตทวีวัฒนา ชุมชนประสานมิตร เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมกิจการผู้สูงอายุ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำนักงานเขตบางกอกน้อย โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง โรงเรียนมัธยมปุรณาวาส สำนักสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร ภาคเอกชน สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร นักศึกษาคณะพยาบาลศาสตร์และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และปราชญ์ในพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชุมชน การส่งเสริมสุขภาพ การพัฒนานวัตกรรมอีกหลายท่านที่มิได้เอ่ยนาม
แผนงานวิจัยมีเป้าหมาย เตรียมความพร้อมคนรอบๆตัว ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะ เยาวชน ให้มีความสามารถในการดูแลตนเองให้มีศักยภาพปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมสูงอายุ สามารถดูแลผู้สูงอายุได้ และพัฒนากลไกทางสังคมของชุมชนเมืองไปพร้อมๆ กัน ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก ได้แก่ การพัฒนาประชาชนให้มีสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี (SDG 3) การพ้นจากความยากจน (SDG 1) และการพัฒนาความเข้มแข็งของชุมชน (SDG 11) โดยแผนงานวิจัยได้ดำเนินการตาม ยุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับมหาวิทยาลัย ในยุทธศาสตร์ที่ 1 Research and Innovation for sustainability ด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยใช้ความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัย เพื่อตอบโจทย์การวิจัย แบบบูรณาการข้ามศาสตร์ที่มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาแนวทางการสร้างรายได้ การจัดการเงินและการออม ให้แก่ เยาวชน ผู้สูงอายุและชุมชน และยุทธศาสตร์ที่ 3 Community and Social engagement for sustainability ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม มุ่งเน้นการขยายเครือข่ายภายนอกมหาวิทยาลัย ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนและสังคมเพื่อแก้ปัญหาสังคม ร่วมมือกับองค์กรภายนอกในรูปแบบต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัยยั่งยืน รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถด้านกำลังคนที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยแผนงานวิจัยได้พัฒนาหลักสูตรสำหรับพัฒนาเยาวชน ทั้งด้านการสร้างความตระหนักต่อการเข้าสู่สังคมสูงอายุ การปฏิสัมพันธ์กับผู้สูงอายุ การดูแลผู้สูงอายุด้านสุขภาพ การฝึกทักษะอาชีพทางวิศวกรรม การจัดการเงินและการออม รวมถึงแพลตฟอร์มสำหรับดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ
ผลการวิจัย พบว่า การนำนวัตกรรมกระบวนการต้นแบบชุมชนร่วมพลังร่วมใจ รองรับสังคมสูงวัยในเขตเมือง ซึ่งประกอบด้วย นวัตกรรมการพัฒนาความตระหนักรู้สังคมผู้สูงอายุโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน การพัฒนาแพลตฟอร์มสุขภาพดูแลผู้สูงอายุ และแนวทางสร้างรายได้ การจัดการเงินและการออม ไปดำเนินการ สามารถทำให้เยาวชนมีทัศนคติเชิงบวกต่อผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น สามารถสื่อสาร ดูแลสุขภาพและใช้ทักษะทางวิศวกรรมช่วยออกแบบการแก้ปัญหาสุขภาพผู้สูงอายุได้ ในด้านผู้สูงอายุมีความสุขเพิ่มมากขึ้น มีความตระหนักในการดูแลสุขภาพตนเองเพิ่มมากขึ้น มีความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าลดลง นอกจากนี้ชุมชนและหน่วยงานต่างๆ ยังตระหนักถึงบทบาทในการเตรียมความพร้อมด้านสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพ สำหรับสังคมสูงอายุเพิ่มขึ้น
แผนงานวิจัยได้ดำเนินการภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2565 โดยได้แรงบัลดาลใจ ข้อเสนอแนะในการพัฒนาแผนงานจากคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ และคณะ และได้รับข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานการวิจัยแห่งชาติและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเอื้ออาทรต่อประเทศชาติ จนทำให้องค์ความรู้ที่เกิดจากการดำเนินการแผนงานวิจัยสามารถนำไปใช้ได้จริง และพร้อมที่จะขยายในเขตพื้นที่อื่นๆ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป