การพัฒนาต้นแบบการควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน

detail

1) ลดพฤติกรรมเสี่ยงลดโรคเรื้อรังโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน “การสร้างกลไกและเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนขับเคลื่อนแก้ปัญหาโรคเรื้อรัง โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย แก้ปัญหาด้วยแนวทางหลากหลาย 3อ.3ส. ติดตามประเมินและถอดบทเรียน มุ่งสู่การลดพฤติกรรมเสี่ยง ลดโรคเรื้อรังอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” 2) นวัตกรรมดิจิทัลเพื่อบริการสุขภาพชุมชนด้วยการส่งเสริมและป้องกันโรคด้วย Health Literacy ของประชาชน “ปลูกสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการใช้นวัตกรรมดิจิทัลเป็นเครื่องมือการเข้าใจปัญหาสุขภาพด้วยแกนนำชุมชน รู้เร็วและรู้จริง นำไปสู่การจัดบริการส่งเสริมและป้องกันโรคได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์และบริบท”

ความสำคัญและที่มาของปัญหา

สืบเนื่องจากดำเนินการโครงการควบคุมยาสูบโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ดำเนินการโดยภาควิชาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดล โดยการประยุกต์ใช้แนวคิดส่งเสริมสุขภาพตามกฎบัตรออตตาวาที่ดำเนินการในทุกระดับ ทั้งบุคคล ระหว่างบุคคล องค์กร/ระบบบริการ ชุมชน และนโยบาย/มาตรการชุมชน รวมถึงการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสูบบุหรี่ ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. มาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อขยายประเด็นให้ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่มีผลต่อโรคเรื้อรัง คือ 3อ 2ส (ออกกำลังกาย อาหาร อารมณ์ บุหรี่และสุรา) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อการป้องกันและควบคุมโรคซึ่งจะเกิดผลกระทบต่อบุคคล ครัวเรือน ชุมชนและระบบสุขภาพ ในการลดภาระโลกและเกิดความยั่งยืนในการดูแลสุขภาพ จึงได้เสนอแบบจำลองของการป้องกันควบคุมโรคเรื้อรังในพื้นที่นำร่อง

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อพัฒนาศักยภาพพื้นที่ดำเนินการให้มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการเชิงผลลัพธ์เป็นกลไกขับเคลื่อนชุมชนในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน
  2. เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในชุมชน มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องตามหลัก 2 อ (อาหารและออกกำลังกาย) โดยใช้กระบวนการชุมชนมีส่วนร่วม
  3. ลดอุบัติการณ์ใหม่ของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเก่า

ระยะเวลาดำเนินโครงการ :  วันที่ 1 พฤษภาคม 2566  ถึง วันที่ 30 เมษายน 2567

การดำเนินการ

  • กิจกรรมที่ 1 จัดตั้งคณะทำงานโครงการและการประชุมคณะทำงาน
  • กิจกรรมที่ 2 สำรวจข้อมูลชุมชน 
  • กิจกรรมที่ 3 จัดเวทีประชาคมคืนข้อมูล และร่วมกำหนดข้อตกลง เพื่อป้องกัน/ควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
  • กิจกรรมที่ 4 จัดอบรมให้ความรู้และการรับสมัครกลุ่มเสี่ยง/กลุ่มป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเข้าร่วมโครงการ
  • กิจกรรมที่ 5 ดำเนินการจัดสภาพแวดล้อมในชุมชนให้เอื้อต่อการปรับพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย 
  • กิจกรรมที่ 6 คณะทำงานจัดกิจกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตด้วยกระบวนการกลุ่ม ให้กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง
  • กิจกรรมที่ 7 การติดตามการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเป้าหมาย
  • กิจกรรมที่ 8 เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสรุปผลการดำเนินงาน 

ผลการดำเนินการ

       แผนดำเนินโครงการ เพื่อป้องกันและควบคุมโรคเรื้อรังโดยใช้ชุมชนเป็นฐานและกระบวนการทำงานตามแนวทางสร้างเสริมสุขภาพเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมสุขภาพตามแผนกำหนดให้แต่ละพื้นที่ต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉลี่ย 100 คน (กลุ่มเสี่ยง กลุ่มป่วยและผู้สูงอายุ) โดยกำหนดตัวขี้วัดที่ต้องบรรลุดังนี้

  1. แกนนำสาธารณสุข (รพ.สต.) มีสมรรถนะในการเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ชุมชน/แกนนำชุมชนในการดำเนินการให้เกิดผลอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. ชุมชนมีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนโครงการ
  3. ประชาชนรับรู้และตระหนักมากขึ้นต่อปัญหาของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
  4. เกิดข้อตกลงของชุมชนในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากการประชาคมอย่างมีส่วนร่วม
  5. ร้อยละ 80 ของกลุ่มเป้าหมาย และครอบครัวมีความรู้ในการจัดการพฤติกรรมเสี่ยงและสภาพแวดล้อมเสี่ยงที่ถูกต้องตามหลัก 2อ (อาหาร และออกกำลังกาย) และ 1-2ส (สุราและยาสูบ)
  6. ควบคุมตัวบ่งชี้สุขภาพ เช่น ความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด ไขมัน ให้ลดลงหรืออยู่ในระดับที่ไม่เสี่ยง/อันตรายต่อสุขภาพ

ประโยชน์ร่วมกันแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

  1. กลุ่มเสี่ยงได้รับความรู้และทักษะในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค
  2. กลุ่มป่วยได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงขึ้นนำไปสู่การพิการและเสียชีวิต
  3. ระบบบริการสุขภาพ (เจ้าหน้าที่และระบบบริการ) ได้เข้าร่วมเรียนรู้การทำงานเชิงรุกการเสริมพลังชุมชนในการวิเคราะห์ปัญหาสาเหตุ การวางแผนและการติดตามประเมินผลซึ่งความเข้มแข็งของชุมชนจะทำให้ระบบบริการสุขภาพมีภาระลดลง
  4. แกนนำ/อสม. ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการแก้ไขปัญหาสุขภาพของชุมชนโดยใช้แนวคิดชุมชนเป็นฐาน(เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน) ได้รับการอบรมพัฒนาทักษะต่าง ๆ การจัดทำแผน การออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับบริบท การสื่อสาร การติดตามกำกับ การประเมินผล และการถอดบทเรียน

ผลกระทบในระดับชุมชน/ประเทศ

1. ด้านสังคม

  • ประชาชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ได้เรียนรู้การดูแลรักษาตัวเองเป็นการเรียนรู้ที่เป็นทุนในการเรียนรู้ระยะยาวในการส่งเสริมสุขภาพตนเอง
  • แกนนำมีความเข้มแข็งได้รับการพัฒนาศักยภาพ
  • แกนนำมีส่วนร่วมในการพัฒนาและจัดการชุมชนของตนเองที่นำไปสู่การพึ่งตนเองได้
  • การมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เกิดการดำเนินการร่วมกัน
  • ความสงบสุขในชุมชน โดยเฉพาะจากการลดละเลิกสุรา ทำให้มีการทะเลาะเบาะแว้ง การทำร้ายร่างกายและอุบัติเหตุลดลง

2. ด้านเศรษฐกิจ

  • ลดภาระค่าใช้จ่ายทั้งระดับบคุลล ครอบครัว และระบบบริการสุขภาพ

3. ด้านสภาพแวดล้อม

  • มีการจัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีให้แก่ประชาชนทุกวัย เช่น การปรับปรุงร้านค้าเพื่อสุขภาพการมีสถานที่และกิจกรรมออกกำลังกาย มีการส่งเสริมเมนูอาหารท้องถิ่น

4. ด้านสุขภาพ

  • ป้องกันควบคุมการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งเป็นภาระในระยะยาว เช่น ลดผู้ป่วยติดเตียงซึ่งเชื่อมโยงถึงลดภาระทางเศรษฐกิจและสังคมด้วยแผนงานต่อไปที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน

แผนงานต่อไปที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน

ในตัวแผนงานมีกิจกรรมที่ 8 เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสรุปผลการดำเนินงาน ซึ่งจะให้
     1. คณะทำงานรวบรวมข้อมูลและร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ตามเป้าหมายของโครงการ
     2. การคืนข้อมูลการเปลี่ยนแปลงในต่างๆ ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อสรุปผลการดำเนินงานตามเป้าหมายการดำเนินงาน
     3. การสรุปบทเรียนการดำเนินงาน ทั้งในส่วนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะ
     4. การส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่รับทราบเพื่อขับเคลื่อนงานต่อไป เช่น รพ.สต. อบต. เป็นต้น

          กิจกรรมนี้ชุมชนเรียนรู้ที่จะเชื่อมต่อกับหน่วยงานท้องถิ่น (อบต./เทศบาล) เพื่อของบประมาณดำเนินการจากกองทุนหลักประกันสุขภาพเพื่อดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อต่อไป และด้วยกระบวนการทั้งหมดชุมชนได้รับการพัฒนาที่สามารถจะพัฒนาโครงการเพื่อเขียนของบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากแหล่งทุนต่างๆ ได้ (โดยเฉพาะ สสส. ที่ชุมชนมีประสบการณ์แล้ว) โครงการได้สร้างทุนทางสังคมให้เกิดขึ้นในชุมชนทั้งบุคลากรสาธารณสุขและแกนนำที่จะสามารถนำแนวทางการดำเนินโครงการนี้ไปใช้ต่อไป

          นอกจากนี้ โมเดลการพัฒนาสุขภาพนี้ (ป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน) จะได้ใช้ทั้งเพื่อการสรุปเป็นโมเดลถ่ายทอดสู่การเรียนการสอน และเสนอในระดับนโยบายต่อไป

Partners/Stakeholders

-

ผู้ดำเนินการหลัก
รศ.ดร.มณฑา เก่งการพานิช
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
1.สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 2.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ดำเนินการ 3.องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ดำเนินการ 4.สำนักงานสาธารณสุขอำเภอและสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ดำเนินการ