ปัจจุบันปัญหาความไม่ปลอดภัยในอาหารและขาดการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ เป็นปัญหาที่หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งภาคประชาสังคมให้ความสำคัญและพยายามดำเนินการแก้ไข เนื่องจากอาหารเป็นปัจจัยจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่มีผลต่อโภชนาการและสุขภาพ หากบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ปลอดภัยจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคมะเร็ง หรือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากสารพิษต่างๆ ล้วนก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งในเชิงสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ปัญหาจากความไม่ปลอดภัยด้านอาหารที่มีต่อผู้บริโภคยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ตระหนักและเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้ดำเนินโครงการ ฟาร์มสร้างสุข รามาธิบดี (Ramathibodi Healthy Farm) ก่อตั้งขึ้น ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน โดยมีวัตถุประสงค์
- เพื่อผลิตอาหารปลอดสารเคมีให้ผู้ป่วยและบุคลากรคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีทางเลือกที่ดีเพื่อสุขภาพของตนเอง
- เพื่อสนับสนุนให้เกิดเป็นโรงพยาบาลต้นแบบ และขยายเครือข่ายในการส่งเสริมดูแลสุขภาพด้านวิถีเกษตรอินทรีย์
- เพื่อขยายองค์ความรู้เรื่องวิถีเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพ และนำเข้าสู่การเรียนการสอนของนักศึกษาทั้ง 4 หลักสูตรของคณะฯ
- เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพทั้งภายในและภายนอกคณะฯ
- เพื่อพัฒนาศูนย์เรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์เพื่อสุขภาพ เป็นแหล่งเรียนรู้ทางพฤกษศาสตร์ครบวงจรให้กับนักเรียน นักศึกษา บุคลากร ชุมชน ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน
สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านที่ 2 การขจัดความหิวโหย โดยบูรณาการความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายต่างๆ (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านที่ 17) เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านที่ 3) การศึกษาที่มีคุณภาพ (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านที่ 4) นำไปสู่เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้านที่ 11)
การดำเนินการ
1. ขับเคลื่อนการทำงานโดยใช้ กลยุทธ์ ตามรูปแบบ RAMA MODEL ดังนี้
- R (Raising awareness)
การสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มเป้าหมาย: ทั้งกลุ่มผู้ผลิต คือ เครือข่ายเกษตรกร และกลุ่มผู้บริโภค
- A (Aiming at targeted health)
การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน: พูดคุยปัญหา ร่วมกัน วิเคราะห์ กำหนดเป้าหมาย ทำข้อตกลงร่วมกัน และเลือกวิธีการ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง
- จัดประชุมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์
- การจัดประชุมเพื่อวางนโยบายเพื่อพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน หรือองค์กรให้มีการจัดปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการบริโภคผัก ผลไม้
- M (Mobilizing change and innovation)
การขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยน: เน้นกลุ่มเกษตรกรเครือข่าย และกลุ่มผู้บริโภค ได้แก่ เจ้าหน้าที่ในรามาธิบดี นักเรียน นักศึกษา โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing)
- พัฒนาศักยภาพ เครือข่าย โดยการศึกษาดูงานการดำเนินกิจการธุรกิจเพื่อสังคม
- จัดทำมาตรฐานสินค้าอินทรีย์แนวคิดการทำวิสาหกิจเพื่อสังคม
- ส่งเสริมการดำเนินงานเกษตรอินทรีย์ ตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงการ จำหน่าย
- จัดประชุมเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการทำวิสาหกิจเพื่อสังคม
- A (Assuring synergy and sustainability)
การติดตามการประเมินผลอย่างต่อเนื่อง: ติดตามผลร่วมกับเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง
2. พัฒนาการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้ และเผยแพร่องค์ความรู้ และนวัตกรรม
- จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เกษตรอินทรีย์ และสุขภาพแก่ผู้เข้าเยี่ยมชมโครงการ
- จัดกิจกรรม/เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้กับองค์กรเครือข่ายเกษตรอินทรีย์
- จัดกิจกรรมบริการสุขภาพร่วมกับกิจกรรมเรียนรู้ที่เกี่ยวกับอาหารสุขภาพให้กับประชาชนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปเช่น ชาสมุนไพร อาหารแปรรูป ฯลฯ
- สื่อสารสาธารณะ สื่อชุดความรู้และประชาสัมพันธ์โดยใช้ประเด็นความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพของโรงพยาบาลควบคู่ไปกับด้านการเกษตร
3. การดำเนินงานขยายสู่องค์กรอื่น
- ถอดบทเรียนองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาต้นแบบองค์กร: รูปแบบการจัดการ การจัดปัจจัยแวดล้อมด้านอาหาร และการพัฒนารูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม
- จัดทำชุดความรู้เพื่อเผยแพร่ผ่านทางช่องทางต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
โครงการฟาร์มสร้างสุขรามาธิบดี ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง มีผลการดำเนินงานที่ดี ได้การรับรองมาตรฐานผลผลิตเกษตรปลอดภัย จากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกทั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชนและเครือข่ายโดยรอบ รวมทั้งคณะครู นักเรียน นักศึกษา และชุมชนได้มาศึกษาดูงาน เป็นต้นแบบที่มีการขยายผลโดยมีการนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียน ครอบครัวและชุมชนใกล้เคียง เกิดระบบการผลิตอาหารจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำอย่างต่อเนื่อง มีเมนูอาหารสุขภาพ อาหารปั่นสำหรับให้ทางสายยางให้อาหารผู้ป่วย อีกทั้งนำผลผลิตมาจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรงในราคาถูก และสนับสนุนผลผลิตร่วมกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพของคณะฯ สร้างเครือข่ายทั้งภายใน ภายนอกคณะฯ เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการ เอกชน และชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ รวมถึงสนับสนุนงานวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่อย่างต่อเนื่อง