พัฒนาอาหารริมบาทวิถี สะอาด ปลอดภัย ลดหวาน-มัน-เค็ม เพิ่มใยอาหาร กระตุ้นผู้ขายใส่ใจสุขภาพ
พัฒนาอาหารริมบาทวิถี สะอาด ปลอดภัย ลดหวาน-มัน-เค็ม เพิ่มใยอาหาร กระตุ้นผู้ขายใส่ใจสุขภาพ
เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ที่อาคารสาธารณสุขวิศิษฎ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าว “โครงการการจัดการด้านโภชนาการและสิ่งแวดล้อมของอาหารริมบาทวิถี” โดยมี รศ. ดร.พัชราณี ภวัตกุล ผู้แทนนายกสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานในพิธี และมอบใบประกาศแก่ร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนกว่า 60 แห่ง
ดร. นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า อาหารริมบาทวิถี (Street Food) ถือเป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงวิถีชีวิตของคนไทยที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เพราะสะดวก เข้าถึงได้ง่าย ราคาไม่แพง น่ากิน แต่การขายอาหารริมบาทวิถียังมีข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะการควบคุมความปลอดภัยและคุณค่าทางโภชนาการ จากการสำรวจในปี 2561 โดยสมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ฯ ร่วมกับ สสส. พบว่า ร้อยละ 38 ของรายการอาหารที่สุ่มเก็บในกรุงเทพมหานคร มีพลังงานเฉลี่ยต่อหนึ่งหน่วยบริโภค สูงกว่า 1 ใน 3 ของพลังงานที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน ร้อยละ 44 มีปริมาณไขมันทั้งหมด สูงกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน นอกจากนี้พบว่า ทุกรายการอาหารที่สุ่มตรวจ มีปริมาณใยอาหารน้อยกว่า 1 ใน 3 ของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน และมีปริมาณโซเดียมสูงกว่า 2,400 มิลลิกรัม สำหรับด้านความปลอดภัยอาหาร พบว่าร้อยละ 42 ของตัวอย่างอาหาร มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในปริมาณที่สูงเกินกว่าค่ามาตรฐาน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาอาหารริมบาทวิถี ทั้งด้านโภชนาการและความปลอดภัย
ดร. นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ สสส. ร่วมกับ สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินโครงการพัฒนาการจัดการอาหารริมบาทวิถีปลอดภัยสร้างเสริมสุขภาพ และสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย โดยกำหนดเป้าหมายให้อาหารริมบาทวิถีเป็นอาหารที่ปลอดภัยต่อการบริโภค ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เกิดพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาอาหารริมบาทวิถีปลอดภัย จำนวน 12 แห่งใน 12 จังหวัด และเกิดการประกาศนโยบายสุขภาพดีวิถีใหม่ : ต้นแบบอาหารปลอดภัย อาหารริมบาทวิถี (Street Food Good Health) และเกิดแผนงานรองรับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2564 โดยกำหนดให้สถานประกอบการต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี (Street Food Good Health) จำนวน 76 จังหวัดๆ ละ 1 แห่ง ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงอาหารริมบาทวิถีที่สะอาด ปลอดภัย และมีสุขอนามัยที่ดี
รศ. ดร.เรวดี จงสุวัฒน์ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวว่า โครงการการจัดการด้านโภชนาการและสิ่งแวดล้อมของอาหารริมบาทวิถี มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเกณฑ์และระบบการควบคุมติดตามคุณภาพอาหารริมบาทวิถี พัฒนาคุณภาพอาหารริมบาทวิถีด้านโภชนาการและด้านสุขาภิบาลอาหาร รวมถึงพัฒนาศักยภาพของผู้จำหน่ายอาหารในการจัดบริการอาหารริมบาทวิถีที่ส่งเสริมสุขภาพใน 3 พื้นที่ศึกษา ได้แก่ ฟู้ดทรัค กรุงเทพมหานคร พื้นที่ซอยอารีย์ เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร และพื้นที่ตลาดราชบุตร จ.อุบลราชธานี โดยมีรายการอาหารที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 59 รายการ แบ่งเป็น ฟู้ดทรัค 18 รายการ ซอยอารีย์ 15 รายการ และตลาดราชบุตร 26 รายการ ผลการศึกษาด้านคุณค่าทางโภชนาการ พบว่า มีอาหารที่สามารถพัฒนาปรับปรุงคุณค่าทางโภชนาการให้ดีขึ้น ร้อยละ 61 หรือ 36 รายการ และอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการไม่ผ่านเกณฑ์แนะนำ ร้อยละ 39 หรือ 23 รายการ ซึ่งอุปสรรคในการพัฒนาอาหารริมบาทวิถีเพื่อสุขภาพอาจเนื่องมาจากทัศนคติ ความเชื่อ และความเคยชินของผู้จำหน่ายอาหารว่าอาจมีต้นทุนและระยะเวลาในการเตรียมวัตถุดิบสำหรับการปรุงประกอบเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหากผู้จำหน่ายได้รับการสื่อสารความรู้ด้านโภชนาการอย่างต่อเนื่องและได้รับการให้คำปรึกษาที่ตรงกับความต้องการ อาจทำให้เพิ่มความตระหนักในการขายอาหารริมบาทวิถีเพื่อสุขภาพ สามารถพัฒนาอาหารริมบาทวิถีเพื่อสุขภาพได้
รศ. ดร.เรวดี กล่าวว่า ส่วนผลการศึกษาด้านความปลอดภัย พบว่า ก่อนการอบรมเชิงปฏิบัติการ มีอาหารปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ร้อยละ 34 หรือ 20 รายการ และหลังการอบรมเชิงปฏิบัติการ มีอาหารปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค ร้อยละ 32 หรือ 19 รายการ โดยอาหารที่ตรวจพบการปนเปื้อนในช่วงหลังจากผู้จำหน่ายอาหารได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านโภชนาการและสุขาภิบาลอาหาร มักเป็นรายการอาหารใหม่ ที่ตรวจไม่พบเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคในช่วงก่อนหน้า โดยอาหารที่พบการปนเปื้อน ส่วนใหญ่เป็นอาหารที่ผ่านความร้อนบางส่วน และไม่ผ่านความร้อนก่อนการจัดเสิร์ฟ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องกระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้จำหน่ายอาหารริมบาทวิถีและผู้บริโภค ตระหนักถึงความสำคัญของอาหารริมบาทวิถีที่มีคุณค่าทางโภชนาการและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
“พัฒนาอาหารริมบาทวิถี สะอาด ปลอดภัย ลดหวาน-มัน-เค็ม เพิ่มใยอาหาร กระตุ้นผู้ขายใส่ใจสุขภาพ” มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ดังนี้
ข้อที่ 2 ความอดอยากต้องหมดไป ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน
ข้อย่อยที่ 2.1 มีเป้าหมายให้ทุกคนได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการและเพียงพอตลอด
ข้อที่ 3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชากรทุกช่วงวัย
ข้อที่ 6 น้ำสะอาดและสุขอนามัย
ข้อย่อยที่ 6.1 มีเป้าหมายให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัยและมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
ข้อย่อยที่ 6.3 ยกระดับคุณภาพน้ำโดยลดมลพิษ ขจัดการทิ้งขยะและลดการปล่อยสารเคมีและวัสดุอันตราย ลดสัดส่วนน้ำเสียที่ไม่ผ่านกระบวนการลงครึ่งหนึ่ง
ข้อที่ 8 งานที่ดีและเศรษฐกิจที่เติบโต
ข้อย่อยที่ 8.4 พัฒนาความมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรในการบริโภคและการผลิต และพยายามที่จะตัดความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม
ข้อย่อยที่ 8.9 ร่วมดำเนินตามนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์
ข้อที่ 12 บริโภคและผลิตอย่างมีความรับผิดชอบ พัฒนารูปแบบการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน
ข้อย่อยที่ 12.3 ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภคและลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน
ข้อย่อยที่ 12.4 จัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดิน เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด
สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)