คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความสำคัญต่อการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ จึงจัดให้มีศูนย์อาหารคณะฯ ให้บริการแก่นักศึกษา บุคลากรและประชาชนทั่วไป โดยมีนโยบายเป็นศูนย์อาหารที่สะอาด อร่อย มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม และดีต่อสุขภาพ มีร้านค้าจำหน่ายอาหารที่มีความหลากหลายตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค การดำเนินการบริหารจัดการศูนย์อาหารคณะฯ ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการศูนย์อาหาร โดยคณะกรรมการฯ มีหน้าที่กำหนดนโยบายในการพัฒนาการให้บริการและบริหารจัดการศูนย์อาหารในด้านต่าง ๆ พร้อมควบคุม กำกับดูแลการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและเป้าหมายที่คณะฯ กำหนดไว้ เพื่อให้ส่งผลดีทั้งแง่ของสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เกิดความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในศูนย์อาหารคณะฯ ทั้งนี้ คณะฯ ได้เชิญรองศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นที่ปรึกษา
ร้านอาหารทุกร้านที่จะเข้ามาจำหน่ายในศูนย์อาหารคณะฯ จะผ่านการคัดเลือก ซึ่งพิจารณาโดยคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการศูนย์อาหารคณะฯ คัดเลือกอย่างพิถีพิถัน โปร่งใสและเป็นธรรม ร้านอาหารทุกร้านผ่านการควบคุมคุณภาพและความสะอาดตามมาตรฐานของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยทุกร้านต้องเข้าร่วมโครงการ “อาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste)” เพื่อประเมินคุณภาพของร้านขายอาหารและเพื่อสร้างมาตรฐานการให้บริการของศูนย์อาหารคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ให้อยู่ระดับประเทศ จัดการตรวจประเมินอาหารสะอาด รสชาติอร่อย (Clean Food Good Taste) จำนวน 2 ครั้งต่อปี ผลการตรวจประเมินผ่านทั้งหมด 27 ร้าน คิดเป็นร้อยละ 100 ของจำนวนร้านอาหารทั้งหมด นอกจากนี้ผู้ที่มีส่วนสัมผัสอาหารต้องได้รับการตรวจสุขภาพประจำทุกปีและผู้ประกอบการร้านอาหารของศูนย์อาหารคณะฯ ผ่านการฝึกอบรมและให้ความรู้ในเรื่องสุขอนามัยและอบรมการปรุงอาหารโซเดียมต่ำอย่างไรให้อร่อย เพื่อขับเคลื่อนนโยบายลดการบริโภคโซเดียม และคณะฯ ได้ประกาศแนวปฏิบัติให้ทุกร้านค้าควบคุมรสชาติอาหาร "ลดหวาน มัน เค็ม" โดยทุกร้านจะมีป้ายสัญลักษณ์ "ลดหวาน มัน เค็ม" ตั้งบริเวณจุดเติมเครื่องปรุงด้วย เพื่อเป็นการรณรงค์ผู้บริโภคอีกทางที่จะไม่ให้ปรุงอาหารเพิ่ม โดยป้ายสัญลักษณ์ดังกล่าวออกแบบโดยนักศึกษาและบุคลากรที่ส่งผลงานเข้าร่วมในโครงการ “สังคงชวนลดหวาน-มัน-เค็ม ลดโรคเรื้อรัง”
นอกจากเรื่องการควบคุมคุณภาพอาหารดังข้างต้นแล้ว คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการศูนย์อาหารคณะฯ จะควบคุม กำกับดูแลการดำเนินการของร้านอาหารภายในศูนย์อาหารฯ ตามมาตรฐานการให้บริการ เช่น การเปิด-ปิดร้านค้าตามเวลาทำการและเปิดจำหน่ายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง หากปิดร้านบ่อยจะพิจารณาไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่ มีแนวปฏิบัติการดำเนินงานอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้านอาหารจะใช้ภาชนะของศูนย์อาหารคณะฯ ที่มีการจัดจ้างบริษัทภายนอกล้างภาชนะที่สะอาดได้มาตรฐาน สนับสนุนนโยบายการลดใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทโฟมและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว หรือหากจำหน่ายอาหารแบบซื้อกลับต้องเลือกใช้ภาชนะแบบครั้งเดียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม มีการรณรงค์ในเรื่องของการนำแก้วส่วนตัวมาใช้และงดการใช้หลอดพลาสติกซึ่งสอดคล้องกับโครงการงดหลอดเต่าปลอดภัยของคณะฯ ที่จัดขึ้นเมื่อปีงบประมาณ 2564 และการจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มภายในศูนย์อาหารคณะฯ ต้องมีการเสนอเมนูพร้อมราคาให้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการศูนย์อาหารคณะฯ พิจารณาและอนุมัติก่อน เพื่อควบคุมให้มีการจำหน่ายในราคาที่เหมาะสม และทุกร้านต้องมีการรับชำระเงินแบบ scan QR Code เพื่อลดการปนเปื้อนสิ่งสกปรกจากการหยิบธนบัตรในการรับชำระเงินหรือถอนเงินสด ฯ เป็นต้น ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าอาหารที่จำหน่ายในศูนย์อาหารคณะฯ เป็นไปตามนโยบายเป็นศูนย์อาหารที่สะอาด อร่อย มีคุณภาพ ราคาเหมาะสม และดีต่อสุขภาพ
ศูนย์อาหารคณะฯ มีร้านค้าที่หลากหลาย จำแนกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) ประเภทร้านอาหารหลัก จำนวน 15 ร้าน (2) ประเภทร้านอาหารทานเล่น จำนวน 4 ร้าน (3) ประเภทร้านผลไม้ จำนวน 2 ร้าน (4) ประเภทเครื่องดื่มและเบเกอรี่ จำนวน 6 ร้าน รวมจำนวน 27 ร้าน ตั้งอยู่ที่อาคารสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 4 ชั้น 1 และชั้น 2 ซึ่งเปิดบริการในวงกว้าง มีความสะดวกแก่นักศึกษาและบุคลากรในส่วนงานอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลในการเข้ามาใช้บริการ มีพื้นที่สำหรับนั่งรับประทาน 300 ที่นั่ง มีสิ่งอำนวยความสะดวกภายในศูนย์อาหารคณะฯ เช่น พัดลม โทรทัศน์ นาฬิกาติดผนัง อ่างล้างมือก่อนรับประทานอาหาร จุดบริการน้ำดื่มสะอาดฟรี และห้องน้ำสะอาด
นอกจากนี้ ศูนย์อาหารคณะฯ ประกาศให้ร้านอาหารแต่ละร้านคิดเมนูเพื่อสุขภาพเสนอขายเพิ่มเติม ปัจจุบันร้านไผ่สองกอ ได้เสนอและจำหน่ายเมนูก๋วยจั๊บและผัดไท Low Sodium และร้านเตี๋ยวกันได้เสนอและจำหน่ายเมนู ราดหน้าหมูหมักไข่ออนเซ็น Low Sodium ทุกเมนูดังกล่าวได้รับรางวัลจากการประกวดอาหาร “โซเดียมน้อยแต่อร่อยยืนยาว” ในกิจกรรม Low Sodium Policy: KICKOFF “LESS SODIUM, LET’S START” ร้านจันทร์เพ็ญ ตำแหลก ได้มีการนำผักออร์แกนิคมาวางขายหน้าร้านเพื่อรับประทานคู่กับอาหารอีสาน และกำลังเปิดรับสมัครร้านค้าอาหารทางเลือก เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารมังสวิรัติ อาหาร plant-based อาหารอิสลาม/ฮาลาล เพื่อที่จะเป็นศูนย์อาหารเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นับว่าการบริหารจัดการศูนย์อาหารคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นการดำเนินงานที่มีความสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG 2 ขจัดความหิวโหย (Zero Hunger) นักศึกษา บุคลากรและประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงอาหารที่มีปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ SDG 3 มีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) สนับสนุนการรับประทานอาหารแบบลดหวาน มัน เค็ม เพื่อไม่เกิดโรคเรื้อรัง NCDs เพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล (Clean Water and Sanitation) มุ่งมั่นในการจัดการน้ำที่ดี มีบริการน้ำดื่มฟรีสำหรับนักศึกษา บุคลากรและประชาชนทั่วไป และ SDG 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (Responsible Consumption and Production) ศูนย์อาหารคณะฯ มีส่วนร่วมในการส่งเสริมให้มีการรีไซเคิล ลดการใช้พลาสติก และลดขยะมูลฝอยเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดการเกิดของเสียให้น้อยที่สุด