การปรากฏและการกระจายของละองละมั่งภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี

detail

ความสำเร็จในการปล่อยละองละมั่งคืนสู่ธรรมชาติ สามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดการประชากรและถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสมและเป็นต้นแบบให้พื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ต่อไป

 

ความสำคัญ วัตถุประสงค์โครงการ

ประชากรละองละมั่งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี มาเป็นเวลา 10 ปี ซึ่งประสบความสำเร็จค่อนข้างดี ปัจจุบันคาดว่ามีละองละมั่งเกิดและดำรงชีวิตอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้มากกว่า 100 ตัว แต่ยังไม่มีรายงานเป็นทางการ ทำให้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรากฏ การกระจาย และการเจริญเติบโตของละองละมั่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ที่ประสบความสำเร็จดีกว่าพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย เพื่อใช้เป็นโมเดลให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และองค์กรอื่น ๆ ที่ต้องการดำเนินการปล่อยละองละมั่ง และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับละองละมั่งได้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อให้การปล่อยละองละมั่ง และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนเช่นเดียวกับที่ปรากฏในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการปรากฏและการกระจายของละองละมั่งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมาเป็นเวลา 10 ปี เพื่อติดตามความเหมาะสมของการรองรับการใช้ประโยชน์ของประชากรละลองละมั่งภายหลังการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และเพื่อเสนอแนะแนวทางในการจัดการประชากรและถิ่นที่อยู่อาศัยอย่างเหมาะสมภายหลังการปล่อยละองละมั่งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ต่อไป

การดำเนินการ

การศึกษานิเวศวิทยาของละองละมั่งดำเนินการสำรวจพื้นที่เบื้องต้นร่วมกับการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า เป็นรัศมี 8 ทิศ และตั้งกล้องห่างกัน 1 กิโลเมตร ในแต่ละทิศเพื่อให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่ศึกษาโดยใช้โปรแกรม ArcGIS ทั้งหมด 25 จุด อย่างเป็นระบบ (Systematic sampling) เป็นเวลา 1 ปี พร้อมทั้งศึกษาปัจจัยแวดล้อมในพื้นที่ศึกษา และทำการติดตั้งกล้องเพิ่มเติมบริเวณที่มีการจัดทำแหล่งน้ำและแหล่งโป่งให้กับสัตว์ป่า เพื่อสังเกตพฤติกรรมของละองละมั่ง และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ เพิ่มเติม ทำการเปลี่ยนแผ่นบันทึกข้อมูลและแบตเตอรีเพื่อเก็บข้อมูลจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ เดือนละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 12 เดือน โดยให้กล้องแต่ละตัวตั้งอยู่ตำแหน่งเดิมและไม่มีการเคลื่อนย้ายกล้อง เพื่อทำการจำแนกภาพที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ ประเมินความมากมายและการกระจายของละองละมั่งในพื้นที่ศึกษา โดยใช้ค่าดัชนีความมากมายสัมพัทธ์ (relative abundance index; RAI) และค่าความถี่สัมพัทธ์ (relative frequency; RF) วิเคราะห์การครอบครองพื้นที่ (Occupancy) ของละองละมั่ง ศึกษาโครงสร้างประชากรของละองละมั่งโดยทำการจำแนกช่วงอายุและเพศ แบ่งละองละมั่งออกเป็น 3 ช่วงอายุ คือ เต็มวัย (adult) ก่อนเต็มวัย (yearling) และลูกอ่อน (fawn) การพิจารณาคะแนนสภาพร่างกาย (Body Condition Scoring; BCS) ของละองละมั่ง วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการเลือกถิ่นที่อาศัย และการปรากฏของละองละมั่งโดยใช้วิธีการทางสถิติ Logistic Regression Analysis และ Maximum Entropy (MaxEnt) และกิจกรรมในรอบวัน (Diely Activity Pattern) ของละองละมั่งที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ที่เข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกับละองละมั่งในพื้นที่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดการละองละมั่ง และสัตว์ป่าชนิดอื่น ๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี อย่างยั่งยืนต่อไป

ผลการดำเนินงาน

พ.ศ.2565-2566

ละองละมั่งกระจายหากินในพื้นที่เป็นจำนวน 8 จุด จากจุดติดตั้งทั้งหมด 33 จุด คิดเป็นความถี่ทั้งหมด (RF) ร้อยละ 22.24 ส่วนช่วงฤดูฝน (เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม) พบ 3 จุด คิดเป็นความถี่ทั้งหมด (RF) ร้อยละ 12 ตามลำดับ ทั้งนี้เนื่องจากภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมีฝนตกหนัก ทำให้การกระจายของละองละมั่งลดลง ตามลำดับ ละองละมั่งมีการครอบครองพื้นที่ตลอดทั้งปีมีค่ามากที่สุด 300.51 ตร.กม. มาก 701.53 ตร.กม. ปานกลาง 583.63 ตร.กม. และน้อย 339.27 ตร.กม. ตามลำดับ การวิเคราะห์พื้นที่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ของละองละมั่งด้วยวิธี Logistic Regression Analysis ช่วงฤดูแล้งปัจจัยที่ส่งผลต่อการกระจายของละองละมั่ง ได้แก่ การปรากฏของเสือโคร่ง หมาใน ระยะห่างจากแหล่งโป่ง ระยะห่างจากหน่วยพิทักษ์ป่า Isothermality (BIO2/BIO7) (×100); Max Temperature of Warmest Month; Min Temperature of Coldest Month และ Precipitation of Driest Quarter ส่วนช่วงฤดูฝน พบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการกระจายของละองละมั่ง ได้แก่ สระขุด ระยะห่างจากแหล่งโป่ง Annual Precipitation และ Precipitation of Warmest Quarter พบว่าพื้นที่ที่มีความเหมาะสมมากที่สุดเป็นพื้นที่ตอนกลางที่มีความสูงต่ำ อยู่ใกล้กับแหล่งโป่ง หลีกหนีการรบกวนจากสัตว์ผู้ล่าที่สำคัญ คือ หมาใน และเสือดาว โดยเข้ามาอยู่บริเวณพื้นที่ของหน่วยพิทักษ์ป่า ซึ่งปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่ามากกว่า ทั้งนี้การกระจายของละองละมั่งยังสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ เมื่ออุณหภูมิร้อนขึ้น อาหารและและแหล่งน้ำลดน้อยลง ส่งผลให้ละองละมั่งต้องใช้พื้นที่กว้างขึ้นกว่าช่วงฤดูฝน รูปแบบการทำกิจกรรมในรอบวันของละองละมั่งในช่วงฤดูฝนละองละมั่งมีรูปแบบการทำกิจกรรมในรอบวันค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน โดยช่วงเวลาที่มีรูปแบบการทำกิจกรรมมากที่สุด คือ ช่วงเวลา 7.00 น. เช่นเดียวกับช่วงฤดูฝนละองละมั่งมีรูปแบบการทำกิจกรรมในรอบวันค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน โดยช่วงเวลาที่มีรูปแบบการทำกิจกรรมมากที่สุด คือ ช่วงเวลา 12.00 น. และเมื่อนำรูปแบบกิจกรรมในช่วงฤดูแล้งและช่วงฤดูฝนมาซ้อนทับกัน พบว่ามีการซ้อนทับกันร้อยละ 93 ละองละมั่งเลือกกินพืชกลุ่มหญ้าเป็นอาหารหลัก พบตัวอย่างพืชกลุ่มพืชใบเลี้ยงคู่น้อยมาก จึงสรุปได้ว่าละองละมั่งเป็นสัตว์แทะเล็มหญ้ามากกว่าแทะเล็มกิ่ง

พ.ศ.2566-2567

การศึกษาโครงสร้างประชากรของละองละมั่งสามารถจำแนกละองละมั่งโดยไม่นับซ้ำตัวเดิมได้อย่างน้อย 76 ตัว จำแนกเป็นเพศผู้โตเต็มวัย 24 ตัว เพศเมียโตเต็มวัย 26 ตัว ก่อนเต็มวัย 12 ตัว และลูกอ่อน 14 ตัว คิดเป็นอัตราส่วนประชากรเท่ากับ 1:1.33:0.5:0.58 อัตราส่วนระหว่างเพศผู้ต่อเพศเมียเท่ากับ 1:1.33 อัตราส่วนเพศเมียต่อลูกเท่ากับ 1:0.54 และอัตราส่วนการเพิ่มพูน (เพศเมียเต็มวัยต่อวัยรุ่นรวมกับลูกอ่อน) เท่ากับ 1:1 โดยละองละมั่งเพศผู้โตเต็มวัยมีค่าคะแนนร่างกายเท่ากับ 3.5 (ค่าคะแนนเต็ม = 5, n = 18 ภาพ) เพศเมียโตเต็มวัยมีค่าคะแนนร่างกายเท่ากับ 4.84 (ค่าคะแนนเต็ม = 5, n = 19 ภาพ) ก่อนเต็มวัยมีค่าคะแนนร่างกายเท่ากับ 4 (ค่าคะแนนเต็ม = 5, n = 4 ภาพ) และลูกอ่อนมีค่าคะแนนร่างกายเท่ากับ 4.73 (ค่าคะแนนเต็ม = 5, n = 11 ภาพ) สาเหตุที่พบละองละมั่งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมากขึ้นเมื่อเทียบกับพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน คือ การปล่อยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมีการเตรียมการที่ดีกว่าการเตรียมการปล่อยที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนที่มีการเตรียมการที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากมีบทเรียนจากพื้นที่อื่น ๆ มาใช้ในการวางแผนการจัดการก่อนและระหว่างดำเนินการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ขณะที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแม้ว่าสภาพพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง แต่ขณะเดียวกันก็มีการแก่งแย่งจากสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่เดิมในพื้นที่ และการมีสัตว์ผู้ล่าจำนวนมากเมื่อเทียบกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ส่งผลให้การปล่อยในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ซึ่งปัจจุบันเมื่อทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมีการฟื้นฟูประชากรเหยื่อที่สำคัญ เช่น วัวแดง ละองละมั่ง และเนื้อทราย ส่งผลให้มีการเข้ามาใช้พื้นที่ของสัตว์ผู้ล่ามากขึ้น ดังจะเห็นได้จากแบบจำลองที่ทำการวิเคราะห์ในการศึกษาครั้งนี้ว่าสามารถพบสัตว์ผู้ล่าได้มากขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ส่งผลต่อการกระจายของละองละมั่งภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระในปัจจุบัน ส่วนการปล่อยละองละมั่งภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวที่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากไม่มีการศึกษาหรือเตรียมการที่เหมาะสม โดยเฉพาะละองละมั่งเลือกใช้พื้นที่ที่มีความสูงไม่มาก และมีความลาดชันต่ำ เมื่อนำไปปล่อยภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวที่มีความสูงมาก อากาศเย็น การจะหลบสภาพภูมิอากาศที่ไม่เหมาะสมลงมาทางตอนล่างของพื้นที่ก็ประสบปัญหาสภาพพื้นที่มีความลาดชันสูง ส่งผลให้การปล่อยละองละมั่งคืนสู่ธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียวไม่ประสบความสำเร็จ

การนำไปใช้ประโยชน์

ภาครัฐ: กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

มีผลงานตีพิมพ์

อยู่ระหว่างการดำเนินการ

ความแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากโครงการอื่น

เป็นโครงการแรกที่ทำการประเมินปัจจัยที่ทำให้การปล่อยละองละมั่งในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จ แต่มีข้อค้นพบใหม่ว่าการปล่อยละองละมั่งหรือสัตว์ป่าที่เป็นเหยื่อชนิดอื่น ๆ สามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้ามาใช้ประโยชน์ของสัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ เช่น เสือโคร่ง ได้เป็นอย่างดี

ผลกระทบในระดับชุมชน ประเทศ ระดับโลก

- ระดับชุมชน สร้างความตระหนักให้สังคมได้เห็นคุณค่าต่อการอนุรักษ์ละองละมั่งและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ในพื้นที่เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม

- ระดับประเทศ ได้องค์ความรู้ใหม่ในการปรากฏและการกระจายของละองละมั่งภายหลังจากการปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเป็นฐานข้อมูลในการนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไป

- ระดับโลก จากความสำเร็จในการปล่อยละองละมั่งคืนสู่ธรรมชาติ ช่วยให้ระบบนิเวศมีความซับซ้อนมากยิ่ง นอกจากนี้ยังสามารถรองรับประชากรเสือโคร่งที่กระจายมาจากพื้นที่มรดกโลกห้วยขาแข้งทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักในการจัดการประชากรเสือโคร่งของประเทศและของโลก และยังทำให้ระบบนิเวศบกมีความยั่งยืนมากขึ้นตาม SDGs

 

Partners/Stakeholders

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ผู้ดำเนินการหลัก
รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช