โครงการสื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเส้นทางอาชีพของผู้พิการในประเทศไทย

detail

โครงการสื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเส้นทางอาชีพของผู้พิการในประเทศไทยเป็นประโยชน์ในวงกว้างแก่ผู้พิการ ผู้ประกอบกิจการ ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผู้พิการจะได้ประโยชน์ในเชิงปฏิบัติและนำมาใช้ ซึ่งการสร้างสื่อเพื่อสอนและฝึกทักษะผู้พิการจำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ด้านการศึกษาและจิตวิทยา และประสบการณ์ในการสร้างสื่อ นับว่าโครงการวิจัยในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน (No Poverty) เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) และเป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure)

ปัจจุบันแม้ว่าช่องทางหรือทางเลือกการเข้าถึงสื่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์มีหลากหลาย แต่สำหรับผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุแล้วนั้นยังมีข้อจำกัดบางประการ ซึ่งในปัจจุบันประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลได้จากสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ ดังนั้นบุคคลต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าถึงสื่อในยุคดิจิทัลจำเป็นต้องอาศัยทักษะจำเป็นต่าง ๆ แต่สำหรับกลุ่มเปราะบาง การเข้าถึงข้อมูลผ่านสื่อต่าง ๆ อาจมีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเสาะหาอาชีพเพื่อเลี้ยงดูตนเอง โดยอาจส่งผลให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้เสียโอกาสในการพัฒนาตนเองและยกระดับคุณภาพชีวิตขอบตนเองต่อไป

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง โครงการสื่อสร้างสรรค์และนวัตกรรมเชิงเทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเส้นทางอาชีพของผู้พิการในประเทศไทย จึงมีความมุ่งหมายศึกษาวิจัยและสร้างสื่อนวัตกรรมเพื่อตอบสนองผู้พิการด้านการจ้างงานและเพื่อฝึกฝนและเตรียมความพร้อมผู้พิการเพื่อสามารถทำงานในลักษณะต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตลาดการจ้างงานผู้พิการ เนื่องจากผู้พิการขาดโอกาสและการเข้าถึงแหล่งข้อมูลด้านการจ้างงาน ประกอบกับการขาดโอกาสฝึกฝนทักษะและองค์ความรู้เพื่อเตรียมพร้อมตนเองให้เหมาะต่อตำแหน่งงานที่ตลาดต้องการ ดังนั้นโครงการวิจัยนี้เล็งเห็นความสำคัญในการศึกษา วิจัยเพื่อสร้างสื่อนวัตกรรมที่ทันสมัยและเข้าใจง่ายโดยเนื้อหาจะเน้นด้านการฝึกทักษะและสอนเนื้อหาจำเป็นต่าง ๆ ที่ผู้พิการต้องการเตรียมพร้อมก่อนเลือกสมัครงาน และโครงการจะสร้างเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลการหางาน

 

กิจกรรมสำคัญจากโครงการวิจัยมีดังนี้ การดำเนินการระยะที่ 1 การสำรวจการใช้บริการสื่อต่าง ๆ เพื่อหางานสำหรับผู้พิการรวบถึงข้อจำกัดและความต้องการจำเป็นในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและการพัฒนาตนเองเพื่อเตรียมพร้อมสู่อาชีพที่ตลาดต้องการ การดำเนินการระยะที่ 2 ศึกษาและจัดประเภทรูปแบบการจ้างงานคนพิการจากลักษณะงานที่เปิดรับทั่วประเทศไทย การดำเนินการระยะที่ 3 ศึกษาทักษะจำเป็นและเนื้อหางานที่ผู้พิการพึงมีหรือควรพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การทำงานในรูปแบบต่าง ๆ โดยจะนำไปสร้างสื่อเพื่อฝึกอบรมและสอนทักษะจำเป็นในการทำงานตำแหน่งต่าง ๆ ให้แก่ผู้พิการ การดำเนินการระยะที่ 4 การสร้างสื่อนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ อีบุ๊ค (สำหรับคนพิการทางการได้ยิน และพิการทางด้านร่างกาย) และกล่องพัฒนาทักษะอาชีพ (สำหรับผู้พิการทางสายตา)

 

โครงการวิจัยนี้เป็นประโยชน์ในวงกว้างแก่ผู้พิการ ผู้ประกอบกิจการ ภาคเอกชน และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผู้พิการจะได้ประโยชน์ในเชิงปฏิบัติและนำมาใช้ ซึ่งการสร้างสื่อเพื่อสอนและฝึกทักษะผู้พิการจำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ องค์ความรู้ด้านการศึกษาและจิตวิทยา และประสบการณ์ในการสร้างสื่อ ดังนั้นด้วยสื่อนวัตกรรมคุณภาพที่เป็นผลผลิตจากโครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้นำไปใช้โดยตรง นอกจากนี้ผู้ประกอบการและภาคเอกชนก็ยังได้รับประโยชน์ที่สามารถเสาะหาผู้พิการที่มีทักษะเหมาะสมกับตำแหน่งงาน ได้ว่าจ้างผู้พิการที่เหมาะสมกับงานได้รวดเร็วขึ้น สำหรับภาครัฐจะได้รับผลผลิตฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับลักษณะงานที่เปิดรับผู้พิการ โดยข้อมูลจะถูกจัดเป็นหมวดหมู่โดยทีมวิจัยจะสำรวจจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ผลผลิตจากสื่อนวัตกรรมโครงการนี้จะสามารถนำไปใช้ได้อย่างน้อย 5-10 ปี เนื่องจากทีมวิจัยจะทำการศึกษาเพื่อเก็บข้อมูลจากงานยุคสมัยใหม่ ดังนั้นสื่อการสอนเพื่อให้ผู้พิการได้พัฒนาทักษะและต่อยอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาที่เฉพาะเจาะจงจะมีความทันสมัย ไม่น่าเบื่อ สร้างสรรค์และสามารถเข้าถึงได้ง่ายและตลอดเวลา นับว่าโครงการวิจัยในครั้งนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจน (No Poverty) เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ (Reduced Inequalities) และเป้าหมายที่ 9 อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (Industry, Innovation and Infrastructure)

Partners/Stakeholders

-

ผู้ดำเนินการหลัก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.โสวริทธ์ธร จันทร์แสงศรี
ส่วนงานหลัก