โครงการพัฒนาสมรรถนะของแกนนำ และภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัว จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดมุกดาหาร

detail
SDGs ที่่เกี่ยวข้อง

การพัฒนาสมรรถนะของแกนนำ และภาคีเครือข่ายจะช่วยให้แกนนำ และภาคีเครือข่ายมีองค์ความรู้และความสามารถที่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนงานการพัฒนาเด็กปฐมวัยในท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

ขั้นตอน/กระบวนการดำเนินงาน (Procedure/Process)

ทีมผู้ดำเนินการจากโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ  มหาวิทยาลัยมหิดล มีชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยเพื่อให้บริการวิชาการแก่บุคคล องค์กร และชุมชน ประกอบด้วย 1) ชุดความรู้การพัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยโดยชุมชนท้องถิ่น 2) ชุดความรู้การส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวในชุมชน 3) ชุดความรู้การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยวินัยเชิงบวก 4) ชุดความรู้การพัฒนานักจัดการสุขภาพชุมชนด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก และ 5) ชุดความรู้การประเมินและการส่งเสริมพัฒนาการทางสมอง EF ของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ในปีงบประมาณ 2566 ทีมผู้ดำเนินการจากโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ และทีมผู้ดำเนินการจากภายนอกหน่วยงานได้เป็นที่ปรึกษาและวิทยากรในโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสมรรถนะของแกนนำและภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 4 โครงการ รวม 15 วัน มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 970  คน  และจังหวัดมุกดาหาร จำนวน 2 โครงการ รวม 4 วัน มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 194  คน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1) โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างสุขภาวะทางกาย ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก และการสร้างวินัยเชิงบวกในเด็กปฐมวัย อายุ 2-5 ปี โดยครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ จังหวัดศรีสะเกษ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ครูผู้ดูแลเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ และผู้รับผิดชอบงานพัฒนาการเด็กจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในตำบลที่ตั้งของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ จำนวน 100 คน ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะได้จัดกิจกรรมกับพ่อ แม่ ผู้ปกครองเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต่อไป

2) โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการดูแลและส่งเสริมพัฒนาการเด็กแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ให้เป็นนักจัดการสุขภาพชุมชนเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ในตำบลต้นแบบ จังหวัดศรีสะเกษ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย อสม. จำนวน 60  คน ซึ่งผู้ผ่านการอบรมจะเป็นแกนนำช่วยขับเคลื่อนการส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ในกลุ่มพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ปู่ ย่า ตา ยาย ที่ดูแลเด็ก รวมถึงช่วยเหลือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็ก

3) โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งให้ภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวในชุมชน (CFCT: Child Family Community Team) ของตำบลต้นแบบ 22 ตำบล และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ จำนวน 25 แห่ง จังหวัดศรีสะเกษ วันที่ 6  พฤษภาคม 2565 ผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ผู้อำนวยการกองการศึกษา  ครูผู้ดูแลเด็ก  บุคลากรสาธารณสุข และ อสม.  จำนวน  110  คน       

4) โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย อายุ 2-5 ปี และส่งเสริมการเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้า (Executive Function: EF)  โดยครูผู้ผ่านการอบรมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่ง ทั้งภาครัฐ และเอกชน ระหว่างวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ถึง 26 มิถุนายน 2565 โดยแบ่งการอบรม เป็น 6 รุ่น รุ่นละ 2 วัน รวม 12 วัน ผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ครูในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบทุกแห่ง จำนวน 700  คน

5) โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสมรรถนะทีมวิทยากรแกนนำพัฒนาเด็กและครอบครัว (Child and Family Team) ระดับจังหวัด ภายใต้โครงการคนมุกดาหารดี เก่ง เป็นสุข ทุกช่วงชีวิต (Smart people) ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทีมพัฒนาเด็กและครอบครัวให้มีความเข้าใจ มีทักษะ และมีสมรรถนะในการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย (พัฒนาด้านพัฒนาการครบทุกด้าน ด้านทักษะสมอง และด้านตัวตน) วันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2566 ผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย คณะทำงานพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยระดับจังหวัดและระดับอำเภอ จำนวน 30 คน 

6) โครงการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาสมรรถนะทีมวิทยากรแกนนำพัฒนาเด็กและครอบครัว (Child and Family Team) ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ภายใต้โครงการคนมุกดาหารดี เก่ง เป็นสุข    ทุกช่วงชีวิต (Smart people) ปีงบประมาณ 2566 เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะทีมพัฒนาเด็กและครอบครัวในจังหวัดมุกดาหาร ให้มีความเข้าใจ มีทักษะ และสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัยในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง วันที่ 22 ธันวาคม 2566 ผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ทีมพัฒนาเด็กและครอบครัวระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล จำนวน 164 คน

 

ประโยชน์หรือผลลัพธ์

1) ภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวระดับจังหวัด อำเภอ และตำบลในจังหวัดศรีสะเกษ ได้เข้าร่วมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการครอบคลุมทุกอำเภอ อย่างน้อยอำเภอละ 1 ตำบล รวมทั้งหมด 25 ตำบล และในแต่ละตำบล ผลปรากฏว่าภาคีเครือข่ายได้นำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กให้เป็นศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ ตำบลละ 1 แห่ง รวมทั้งหมด 25 แห่ง ได้แก่

ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดบ้านจอก (อำเภอ  ศรีรัตนะ) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดบ้านขนุน (อำเภอกันทรลักษ์) สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนบริบาลมารีย์อุปถัมภ์ (อำเภอกันทรลักษ์)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านเจ้าทุ่ง (อำเภอวังหิน)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลปรางค์กู่ (อำเภอปรางค์กู่)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหนองบัวดง (อำเภอศิลาลาด)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลเมืองคง (อำเภอราษีไศล)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขะยูง (อำเภออุทุมพรพิสัย) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสุทธิโสภณ (อำเภอบึงบูรพ์) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคก (อำเภอเมืองจันทร์)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลโดด (อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดจันทราปราสาท (อำเภอขุขันธ์)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยตามอญ (อำเภอภูสิงห์)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลตองปิด (อำเภอน้ำเกลี้ยง) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดตำแย (อำเภอพยุห์) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสุขสวัสดิ์ (อำเภอไพรบึง)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสำโรงเก่า (อำเภอขุนหาญ) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองงูเหลือม (อำเภอเบญจลักษ์) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลโพธิ์ (อำเภอโนนคูณ)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลกันทรารมย์ (อำเภอกันทรารมย์)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลยางชุมย้อย (อำเภอยางชุมน้อย)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดบ้านปราสาท (อำเภอห้วยทับทัน)  ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านตะดอบ (อำเภอเมืองศรีสะเกษ) สถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนมารีวิทยา (อำเภอเมืองศรีสะเกษ) และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโนนสำนัก (อำเภอเมืองศรีสะเกษ)

2) แกนนำคณะทำงานพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวจังหวัดมุกดาหาร จำนวน 30 คน ที่ได้เข้าร่วมโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการ ได้เป็นวิทยากรหลักในการประชุม/อบรมให้ความรู้แก่ครูที่สอนชั้นเรียนอนุบาล และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัดมุกดาหารแบ่งออกเป็น 3 โซน ดังนั้นวิทยากรจึงแบ่งออกเป็น 3 ทีมด้วยเพื่อรับผิดชอบดำเนินงานในพื้นที่ทีมละโซน ทำให้มีการดำเนินงานครอบคลุมทุกทุกอำเภอในจังหวัดมุกดาหาร ทั้งนี้โดยมีคณะทำงานของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ  มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นที่ปรึกษาตลอดโครงการ และมีภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล เป็นทีมสนับสนุนการดำเนินงาน

กลุ่มเป้าหมายหรือพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์

แกนนำและภาคีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดมุกดาหาร รวมทั้งหมด 1,164 คน

ระดับผลลัพธ์

          1) จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดมุกดาหารเกิดกลไกการทำงานที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกตำบลทุกอำเภอ

          2) จังหวัดศรีสะเกษเกิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบ จำนวน 25 แห่ง จาก 22 อำเภอ

          3) เด็กปฐมวัยในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดมุกดาหารได้รับการคัดกรองพัฒนาการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือร้อยละ 80-85 (เดิมร้อยละ 73-75) และพบเด็กที่มีพัฒนาการสงสัยล่าช้าได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 27-30 (เดิมร้อยละ 20-22)

ความต่อเนื่องและระยะเวลาของการดำเนินงาน

          ระยะเวลาของการดำเนินงาน ปีงบประมาณ 2565-2566 การดำเนินงานที่ผ่านมามีความต่อเนื่อง เนื่องจากทั้งสองจังหวัด มีความต้องการขับเคลื่อนงานการดูแลเด็กปฐมวัยให้เป็นวาระของจังหวัดที่ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และต้องการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยอย่างจริงจังและครอบคลุมทั่วถึง แต่ขาดวิทยากรที่มีความรู้ความสามารถในพื้นที่  ดังนั้นทีมผู้ดำเนินการจากโครงการจัดตั้งวิทยาเขตอำนาจเจริญ  มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นที่ปรึกษาและเป็นวิทยากรในหลายหัวข้อของโครงการประชุม

Partners/Stakeholders

1) Sappasitthiprasong Hospital, Ubon Ratchathani

2) Health Center 10 Ubon Ratchathani

3) Boromarajonani College of Nursing Sunpasitthiprasong

4) Ubon Ratchathani Provincial Health Office

5) Mukdahan Provincial Health Office

6) Sisaket Provincial Health Office

ผู้ดำเนินการหลัก
ดร.เรืองอุไร อมรไชย
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
1) ดร.ไพรินทร์ ยอดสุบัน 2) ดร.กุลธิดา กุลประฑีปัญญา 3) ดร.อรรถพงษ์ ฤทธิทิศ 4) นายเจตพล แสงกล้า 5) นางสาวนภัชชล รอดเที่ยง 6) นางเรืองศิริ เจริญพงษ์ 7) นายไพโรจน์ เจริญพงษ์ 8) นางปิยะพร มงคลศิริ 9) นายธัชชัย ใจคง