การสร้างเสริมสุขภาพ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู โดยการใช้ปัญหาของชุมชนเป็นโจทย์ในการออกแบบการบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในชุมชนทั้ง 5 กลุ่มวัย รวมไปถึงการสร้างชุมชนต้นแบบให้ชุมชนดูแลตนเองได้
การสร้างเสริมสุขภาพ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู โดยการใช้ปัญหาของชุมชนเป็นโจทย์ในการออกแบบการบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในชุมชนทั้ง 5 กลุ่มวัย รวมไปถึงการสร้างชุมชนต้นแบบให้ชุมชนดูแลตนเองได้
คลินิกกายภาพบำบัดสัญจรสู่ชุมชนได้เริ่มต้นให้บริการ ณ ชุมชนสาลวันเป็นแห่งแรก ในปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชน มีการปรับแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินจากความต้องการของประชาชนในชุมชนและชุมชนบริเวณใกล้เคียง จนเกิดการยอมรับของประชาชนในชุมชนจากการเกิดกระบวนการที่ทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ผ่านการสร้างชุมชนต้นแบบ โดยใช้ความเชี่ยวชาญทางกายภาพบำบัดและเครือข่ายเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล ปัจจุบันมีการให้บริการรวมทั้งสิ้น 12 ชุมชน (ภาพที่ 1)
ภาพที่ 1 จำนวนชุมชนที่ให้บริการภายใต้โครงการคลินิกกายภาพบำบัดสัญจรสู่ชุมชน
มีการกำหนดแผนงานการเข้าเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้านอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง (อย่างน้อย 150 ครั้ง/ปี) เพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู ให้คนในชุมชนสามารถใช้ความรู้ทางกายภาพบำบัดในการดูแลตนเองและคนรอบข้างได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยส่งเสริมกิจกรรมทางกายและการปรับสภาพแวดล้อม เพื่อให้สามารถเคลื่อนไหวและกลับมาใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพ เช่น การออกกำลังกายให้กับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันล้ม การออกกำลังกายให้กับผู้สูงอายุเพื่อป้องกันปัสสาวะเล็ด การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่ และปวดเข่า การฟื้นฟูสมรรถภาพให้กับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยบาดเจ็บไขสันหลัง ผู้ป่วยตัดขา การลดปวดและการดูแลทางกายภาพบำบัดเพื่อการส่งเสริมการให้นมบุตร โยคะเด็กในโรงเรียน เป็นต้น โดยตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปี ณ เดือนกันยายน 2566 มีประชาชนที่เข้ารับบริการโดยรวมแล้วจำนวน 5,094 ครั้ง
จากประสบการณ์การลงชุมชนและการทำงานร่วมกับเครือข่าย เกิดผลลัพธ์ที่เด่นชัดของโครงการ ดังนี้ 1) เปลี่ยนระดับความพึ่งพาจากผู้ป่วยติดเตียงเป็นผู้ป่วยติดบ้านมากกว่าร้อยละ 80 จากผู้ป่วยติดบ้านเปลี่ยนระดับเป็นผู้ป่วยติดสังคมร้อยละ 60 (ภาพที่ 2) 2) สร้างหลักสูตรอบรมมาต่อเนื่อง 3 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรอบรมระยะสั้น (4 เดือน) สาขากายภาพบำบัดชุมชน หลักสูตรอบรมกายภาพบำบัดทีมหมอครอบครัว หลักสูตรอบรมกายภาพบำบัดผู้สูงอายุในชุมชน 3) จดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทลิขสิทธิ์ (วรรณกรรม) ในชื่อ The Caregiving Manual for Caregiver (CMC) จากการประเมินผลลัพธ์ดังกล่าว พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นกับประชาชนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ภาพที่ 2 ผลลัพธ์การสนับสนุนชุมชน
ในปี พ.ศ. 2563-2564 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 กายภาพบำบัดชุมชนไม่สามารถให้บริการที่บ้านและที่ชุมชนได้ ทีมยังไม่ลดละความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการดูแลชุมชน ยังคงสานต่อพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์และความผาสุกของสังคม จึงได้พัฒนานวัตกรรมการบริการเทคโนโลยีกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกล ในโครงการ HealthcaRe Tele-delivery Service (HeaRTS) “กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดทางไกล บริการด้วยใจ เข้าถึงง่าย ทุกที่ ทุกเวลา ออกแบบมาเฉพาะคุณ” โดยผ่านเทคโนโลยี web application ส่งผลให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องการเดินทาง สถานที่หรือความปลอดภัยอันเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากการผลักดันการบูรณาการงานบริการสุขภาพสู่ประโยชน์ในเชิงสังคมและพาณิชย์ และผลักดันนวัตกรรมสู่การเป็นหนึ่งใน Physical Therapy Hub ของ South East Asia ปัจจุบันมีการให้บริการตั้งแต่ปี 2563 - กันยายน 2566 รวมทั้งสิ้นจำนวน 546 ครั้ง
คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล มีความตั้งใจและความมุ่งมั่นในการดูแลชุมชน ยังคงสานต่อพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์และความผาสุกของสังคม จากการส่งเสริม สร้างเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟูให้ประชาชนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยเกิดผลลัพธ์และผลกระทบ (impact) สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ดังนี้
เป้าหมายที่ 3 ประชาชนที่อยู่ในบริเวณชุมชนมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health And Well-Being) สามารถเข้าถึงการบริการทางกายภาพบำบัดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เป้าหมายที่ 4 มีการศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) ผ่านการสร้างหลักสูตรกายภาพบำบัดทีมหมอครอบครัว ให้กับนักกายภาพบำบัดใน 12 เขตสุขภาพ ประชาชนใน 5 กลุ่มวัย หรือ แรงงานข้ามชาติ ที่สามารถเข้าถึงองค์ความรู้ทางกายภาพบำบัดได้
เป้าหมายที่ 9 ส่งเสริมนวัตกรรม (Innovation) เพื่อให้การบริการทันสถานการณ์ รองรับการบริการในอนาคต โดยผ่านการจดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทลิขสิทธิ์ (วรรณกรรม) และสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน
เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงาน (Partnerships for the Goals) สร้างพลังแห่งการเป็นเครือข่ายให้เกิดความร่วมมือระดับชุมชน ประเทศและสากลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ร่วมกับเครือข่ายภายในประเทศ เช่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือทีมหมอครอบครัว รวมไปถึงเครือข่ายต่างประเทศ เช่น National Taiwan University, Kio University, Niigata University, Manchester Metropolitan University, University of Central Lancashire, University of British Columbia เป็นต้น
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
คณะวิศวกรรมศาสตร์
สถาบันอาศรมศิลป์
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล
ทีมหมอครอบครัว