การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของระบบทุนนิยมโลกมีการเจริญเติบโตไปอย่างรวดเร็ว เกิดการค้าขายแลกเปลี่ยน นำเข้า ส่งออก และการผลิตของระบบอุตสาหกรรม ที่กระตุ้นให้เกิดการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการดำรงชีวิต วัฒนธรรมการบริโภค ที่ผู้ผลิตสินค้าและบริการนำเสนอความสะดวกและรวดเร็วเพื่อส่งมอบสินค้าและบริการต่าง ๆ มีการใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกที่ยากแก่การย่อยสลาย และขาดการกำจัดที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นขยะ (Waste) อันตราย อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาการจัดการขยะ (Waste Management) ซึ่งขยะเองมีแนวโน้มทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในขณะที่การจัดการขยะยังขาดประสิทธิภาพและความเอาใจใส่ของมนุษย์ จากข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) พบว่า ในปัจจุบันทั่วโลกมีการผลิตขยะรวมกันมากถึง 2.01 พันล้านตันต่อปี และในจำนวนนี้ ขยะร้อยละ 33 ยังขาดการจัดการที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงถึง 3.40 พันล้านตันภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรทั่วโลกในช่วงระยะเวลาเดียวกัน
จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกเกิดความตระหนักและมีความพยายามหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีเป้าหมายของการพัฒนาร่วมกันอยู่ 17 เป้าหมาย หลายเป้าหมายเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะโดยตรง อาทิ เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน : Decent Work and Economic Growth เป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน: Sustainable Cities and Communities และเป้าหมายที่ 12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน: Responsible Consumption and Production เป็นต้น
สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ปัญหาการจัดการขยะยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชนบท ทั้งในระดับท้องถิ่นและชุมชน การปล่อยของเสีย ยังมีอยู่ในทุกขั้นตอนการผลิตและการบริโภค ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ภาคครัวเรือนและชุมชน ประเทศไทยมีขยะจากกระบวนการผลิตกว่า 16 ล้านตันต่อปี แต่นำมาใช้ใหม่ได้เพียง ร้อยละ 20 ของปริมาณขยะทั้งหมด ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 35 และภาคครัวเรือนก็มีการปล่อยน้ำเสียในปริมาณค่อนข้างมาก (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และภายใต้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ประเทศไทยเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศสมาชิกได้ร่วมขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องและสอดรับกับการพัฒนาประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และต้องให้ให้ความสำคัญกับการรับมือความท้าทายหลากหลายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ และร่วมมือกันขับเคลื่อน ประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหน่วยงานระดับนโยบายได้มีการกำหนดเป้าหมายและเป้าประสงค์เพื่อการขับเคลื่อนงานที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในขณะเดียวกัน แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องนําไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง” ภายในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน ในการวิเคราะห์สถานการณ์ของการพัฒนาประเทศไทย พบปัญหาหลายด้าน ปัญหาสำคัญด้านหนึ่ง ได้แก่ ปัญหาที่ระบบนิเวศต่าง ๆ มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง และมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงในการสูญเสียความสามารถในการรองรับความต้องการของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีระดับความรุนแรงของผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศต่าง ๆ ดังกล่าวที่แต่ละประเทศจะต้องเผชิญจะมีความแตกต่างกัน ทำให้การเป็นสังคมสีเขียว การรักษาและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการจะได้รับความสำคัญ และความสนใจจากนานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมถึงการสร้างสมดุลความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ กฎระเบียบและข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องมีความเข้มข้นและเข้มงวดมากขึ้น โดยกรอบการพัฒนา ตามข้อตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และบันทึกความตกลงปารสี จะได้รับการนําไปปฏิบัติอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น และมีการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์นี้ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อนําไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างบูรณาการ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการกำหนดกลยุทธ์และแผนงาน และการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในแบบทางตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเป็นการดำเนินการบนพื้นฐานการเติบโตร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทั้ง 3 ด้าน อันจะนําไปสู่ความยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไปอย่างแท้จริง โดยเฉพาะการส่งเสริมการบริโภคและการผลิต สีเขียวอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและการผลิต วิธีคิดและวิถีชีวิตของบุคคลและองค์กรให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ มากที่สุด การสร้างการมีจิตสํานึกในการผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม การบริโภคอย่างพอเพียงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการทางสังคมจูงใจผู้บริโภคและผู้ผลิต การสร้างระบบและกลไกการเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมมลพิษในภาคการผลิต และการใช้มาตรการการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการลดขยะเป็นศูนย์จัดการขยะแบบเบ็ดเสร็จยั่งยืน การลดการปล่อยมลพิษและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการจัดการการปล่อยมลพิษจากภาคการผลิตเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมีมลพิษต่ำโดยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การมีระบบจัดการของเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษทุกประเภทที่เพียงพอและมีการจัดการมลพิษได้เป็นไปตามมาตรฐาน มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการอย่างเคร่งครัด
นอกจากปัญหาการจัดการขยะในช่วงสถานการณ์ปกติก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 แล้ว พบว่า ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีการวางแผนเพื่อเดินตามเป้า “Road map” ของการจัดการ “ขยะพลาสติก” โดยการลด เลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด และนำขยะพลาสติก 7 ชนิดมาใช้ใหม่ 50% กระทั่งเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาลจนน่าเป็นห่วง ประเทศไทยเองก็เป็นผู้ก่อ “ขยะพลาสติก” กว่า 2 ล้านตันต่อปี ขณะที่ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดน้อยลงเกือบจะเป็นศูนย์ แต่ปริมาณขยะพลาสติกกลับเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ Road map การจัดการขยะพลาสติกของไทย ตั้งเป้าลด เลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด และนำขยะพลาสติก 7 ชนิดมาใช้ใหม่ร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2565 ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อไปถึงเป้าหมาย
ในปัจจุบันนี้ ภาครัฐในหลายประเทศได้พยายามปรับลดบทบาทของตน จากการเป็นผู้เล่นหลัก (key player) ในการริเริ่มจัดหาและส่งมอบสินค้าและบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน (steering) ไปสู่บทบาทของการเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) และปล่อยให้ภาคประชาชนได้ออกแบบ จัดหา และส่งมอบสินค้าและบริการสาธารณะที่ตรงกับความต้องการของตนเอง (Denhardt & Denhardt, 2000) หรือแม้แต่การปรับบทบาทของภาครัฐให้เป็นหุ้นส่วน (partner) กับภาคประชาชน และภาคธุรกิจ และร่วมกันออกแบบ (co-design) ผลิต (co-produce) และส่งมอบ (co-deliver) สินค้าและบริการธารณะ หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นการสร้าง “กลไกประชารัฐหรือประชาสังคม” ขึ้นในกระบวนการจัดหาบริการสาธารณะให้แก่ประชาชน
บทบาทของภาคประชาชนตามแนวคิดประชารัฐนี้ จะปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้รอรับสินค้าและบริการ (user/consumer) จากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ไปสู่การเข้าไปมีส่วนร่วมกับประชาชน (citizen participation) และภาคส่วนอื่น ๆ เนื่องจากจะเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง อันจะเป็นการออกแบบและส่งมอบสินค้าและบริการสาธารณะได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้/รับบริการ และการให้โอกาสประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ จัดหา และส่งมอบสินค้าและบริการสาธารณะของตนเองตั้งแต่ต้น ย่อมจะทำให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป ดังนั้น การจัดการขยะในชุมชนจำเป็นจะต้องร่วมมือกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ตามแนวทางที่เรียกกันว่า “Coproduction” หรือ “การร่วมผลิต” เพื่อให้การจัดการกับปัญหาขยะในพื้นที่เกิดประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนต่อไป