ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มประชากรสำคัญที่จะต้องดูแลตนเอง และได้รับการเอาใจใส่เป็นอย่างมากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา อย่างน้อยที่สุดคือต้องทราบว่า โดยสภาวะทางชีววิทยาถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสติดโรคหรือมีอาการรุนแรงได้มากกว่ากลุ่มอายุอื่น แต่ในระดับปัจเจก ผู้สูงอายุบางท่าน หรือจำนวนไม่น้อย ก็อาจมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนในกลุ่มอายุอื่นที่มีโรคประจำตัว หรือพฤติกรรมเสี่ยงบางอย่าง เช่น การเที่ยวกลางคืน หรืออยู่ในที่ผู้คนหนาแน่น อากาศไม่ถ่ายเท ในทางกลับกัน ผู้สูงอายุที่มีเศรษฐฐานะไม่ดี อยู่ในบ้านที่คับแคบแออัด ก็กลายเป็นกลุ่มเสี่ยง แม้จะมีชีวิตที่ไม่ได้ออกไปพบปะผู้คนมากมาย เหมือนกลุ่มอายุอื่น นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของความซับซ้อนของปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะในภาวะที่มีโรคระบาดหรือไม่มี
รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564 ถือเป็นฉบับที่สองที่นำเอาเรื่องการระบาดของ โควิด-19 กับผู้สูงอายุไทยมาเป็นอรรถบทสำคัญที่จะทำให้เห็นข้อมูลและข้อเท็จจริงส่วนหนึ่งที่ ผู้สูงอายุไทยเผชิญอยู่ในภาวะของโรคระบาดระดับโลกและเป็นโรคระบาดที่ต้องยอมรับว่าฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนโยบายหรือประชาชนทั่วไป หรือแม้กระทั่งในวงการสาธารณสุขเองก็มีประสบการณ์น้อยมาก ว่าจะอยู่กับการควบคุมการระบาดของโรคอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกฝ่ายที่พยายามควบคุมการระบาด โควิด-19 กระทบชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐานของผู้คนจำนวนไม่น้อยในสังคม ถึงขั้นมีคำกล่าวว่า กลัวอด ไม่กลัวโควิด
รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564 หวังจะสะท้อนข้อมูลส่วนหนึ่งจากมุมมองของผู้สูงอายุไทย เท่าที่ได้มีการรวบรวม หรือศึกษาเจาะลึก โดยฝ่ายต่างๆ ในสังคมเท่าที่สถานการณ์จะอำนวย
ข้อเสนอเชิงนโยบายจากรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย ปี 2564
จากข้อมูลรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2564 สามารถนำมาพัฒนาเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ปัญหาการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรไทยที่มีประชากรวัยแรงงานลดลง และสัดส่วนประชากรสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
- เสนอให้มีการทบทวนนิยาม “การเริ่มนับอายุของผู้สูงอายุ” ให้เพิ่มมากกว่า 60 ปี และขยายเวลาในการ “เกษียณอายุ” จากการทำงาน (ทั้งภาครัฐและเอกชน) โดยอาจจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายบางฉบับ
- พิจารณาขยายเวลารับสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพในภาคเอกชน จากเดิมกำหนดไว้เริ่มที่อายุ 55 ปี ขยายเป็นเริ่มที่อายุ 60 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีระยะเวลาการทำงานในระบบเพิ่มมากขึ้น
- พิจารณานำเข้าแรงงานที่มีทักษะ และแรงงานกึ่งทักษะจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นมิตรประเทศกับประเทศไทยอย่างเป็นระบบและยืนอยู่บนหลักการการพัฒนาแบบเป็นมิตร และความเป็นปึกแผ่นและหุ้นส่วนในภูมิภาค (Regional Partnership and Solidarity)
ประเด็นที่ 2 การเตรียมการของสังคมไทยเพื่อรองรับคลื่นสึนามิผู้สูงอายุ
- หนุนเสริมและพัฒนาทักษะของประชากรทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะทักษะของประชากรวัยแรงงาน วัยก่อนสูงอายุ และกลุ่มประชากรสูงอายุ ภายใต้แนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- ส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน ภาคธุรกิจเอกชน และสถานประกอบการ ให้มีการจ้างงานผู้สูงอายุในทุกพื้นที่ โดยอาจต้องมีการแก้ไขกฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้อง
- สร้างแรงจูงใจการทำงานให้กับแรงงานสูงอายุด้วยการออกแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เหมาะสมกับความต้องการและเงื่อนไขตามวัยของแรงงาน
- สร้างแรงจูงใจ และขยายสิทธิประโยชน์ให้กับนายจ้างที่จ้างงานผู้สูงอายุ
- พัฒนาการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของประชากรวัยแรงงานและกลุ่มผู้สูงอายุ
ประเด็นที่ 3 การลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สำหรับผู้สูงอายุ
- เร่งรัดการให้ข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องกับผู้สูงอายุและญาติผู้ดูแล โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับประโยชน์และ/หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 ผ่านช่องทางการสื่อสารที่หลากหลายรูปแบบ และเพิ่มศักยภาพด้านสุขภาพของผู้สูงอายุผ่านแนวคิดเรื่องการส่งเสริมความรอบรู้เรื่องสุขภาพ (Health Literacy)
- ควรมีระบบการจัดการข่าวปลอม (Faked news) ในเรื่องโควิด-19 และการฉีดวัคซีน ในสื่อสังคมออนไลน์ (Social media)
- พัฒนาระบบการส่งยาทางไปรษณีย์ การรับยาและเวชภัณฑ์สำหรับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Chronic NCDs) ที่ร้านขายยา และ รพ.สต./รพช. รวมทั้งระบบการรักษาทางไกล (Telemedicine/Telehealth) ให้มีความต่อเนื่อง ครอบคลุมผู้สูงอายุที่อยู่ในทุกสิทธิระบบประกันสุขภาพ รวมถึงต่อยอดไปสู่การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและการดูแลตัวเอง (Self-care) ให้เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการสูงวัยอย่างมีพลังและมีสุขภาวะ ทั้งนี้ระบบดังกล่าวควรนำมาใช้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงบริการโดยไม่ทำให้คุณภาพการรักษาลดลง
- พิจารณาเพิ่มกำลังคนและพัฒนาขีดความสามารถ สมรรถนะของอาสาสมัครและนักบริบาลชุมชนที่ให้บริการในระบบการดูแลระยะยาว (Long-term care) โดยจัดทำระบบข้อมูล และนำระบบรางวัลหรือค่าตอบแทนที่เหมาะสม มาใช้ในทางปฏิบัติแก่อาสาสมัครหรือผู้ดูแลทั้งในรูปแบบการดูแลที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
- เปิดโอกาสให้รัฐวิสาหกิจชุมชน และกลุ่มธุรกิจไม่แสวงผลกำไร เข้ามาช่วยเหลือภาครัฐและชุมชนในการให้บริการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ติดบ้าน ติดเตียง) โดยมีค่าตอบแทนและระบบสนับสนุนที่เหมาะสม
ประเด็นที่ 4 สนับสนุนให้ผู้สูงอายุอยู่ในถิ่นที่อยู่โดยจัดให้มีบริการที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพ การใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระและมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุ
- สนับสนุนแนวคิด “ให้ผู้สูงอายุคงอยู่ในถิ่นที่อยู่เดิม ในครอบครัว ชุมชน และสิ่งแวดล้อมที่ตนคุ้นชิน” โดยปรับปรุงสถานที่และสิ่งก่อสร้าง ทั้งภายในบ้านและภายนอกบ้านให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุ
- ผลักดันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์กรสาธารณประโยชน์ สถานศึกษา ภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ที่ต้องการสร้างสาธารณประโยชน์ ให้ทำหน้าที่ปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและการจัดบริการในระดับชุมชนสำหรับผู้สูงอายุ โดยเป็นนโยบายหลักของท้องถิ่น ในการจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุเพื่อส่งเสริมแนวทาง “การสูงวัยในถิ่นที่อยู่” (Ageing in Place) พร้อมส่งเสริมการให้ความรู้ในเรื่อง “การมีบ้านและที่พักอาศัยที่ปลอดภัย”
- ส่งเสริมให้ อปท. และชุมชน ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม และจัดบริการสาธารณะโดยเฉพาะการขนส่ง
- สาธารณะที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตนอกบ้านของผู้สูงอายุ
- ยกระดับมาตรฐานของที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะดำเนินการโดยรัฐหรือเอกชนสำหรับผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องไปอยู่ในที่อยู่อาศัยใหม่ โดยเฉพาะสถานสงเคราะห์คนชรา หรือศูนย์บริการทางสังคมผู้สูงอายุภายใต้การดูแลของ อปท.
ประเด็นที่ 5 ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีหลักประกันรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน
- ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้และวางแผนการออมเงินและใช้จ่ายอย่างประหยัดเพื่อเป็นเงินออม ไว้ใช้จ่ายยามชราภาพ
- ปรับแก้กฎหมายการออมแห่งชาติให้มีความยืดหยุ่นและ ให้สมาชิก/แรงงานทุกระบบ มีการออมอย่างต่อเนื่องไม่ว่าอยู่ในสถานะอะไร พร้อมสร้างแรงจูงใจประชากรวัยแรงงานและกลุ่มก่อนเป็นผู้สูงอายุ ให้มีการออมมากขึ้น
- มุ่งพัฒนาระบบบำนาญให้ครอบคลุมผู้สูงอายุอย่างถ้วนหน้า รวมทั้งปรับปรุงระบบเบี้ยยังชีพให้เหมาะสมกับค่าครองชีพ/ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น
ประเด็นที่ 6 สนับสนุนความเป็นธรรมทางดิจิทัล สำหรับผู้สูงอายุ
- การจัดสวัสดิการพื้นฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับสังคมสูงอายุ เช่น การจัดให้มี “วายฟาย” (WiFi) ฟรีครอบคลุมในทุกพื้นที่ เพื่อเปิดโอกาสในการเข้าถึงและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการติดต่อสื่อสาร การรับสวัสดิการความช่วยเหลือต่างๆ ของทางภาครัฐ การแสวงหาความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
- การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงของผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยี ผ่านการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุทางไกล (Telehealth/Telemedicine) การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ ออนไลน์เพื่อสนับสนุนการสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ด้วยการทำธุรกิจทางออนไลน์ การสร้างแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์เพื่อเป็นช่องทางารตลาดให้แก่ผู้สูงอายุ
- การสร้างระบบสนับสนุน ที่หนุนเสริมการใช้ดิจิทัลเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และประชากรทุกกลุ่มวัย โดยอาจใช้กลไกอาสาสมัครในการช่วยเหลือเกื้อกูลให้ ผู้สูงอายุมีการเข้าถึงสิทธิต่างๆ รวมถึงพัฒนาศักยภาพในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล
- การเสริมทักษะด้านความรอบรู้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT literacy) ของผู้สูงอายุ