การศึกษาสถานการณ์ ระดับ และแบบแผนการเคลื่อนไหว เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย

detail
SDGs ที่่เกี่ยวข้อง

การพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกายของเด็กปฐมวัย ที่จะนำไปสู่ความน่าเชื่อถือในระดับสากล รวมถึง ขยายองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มเด็กปฐมวัย สอดคล้องสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนอันว่าด้วยการสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย

ช่วงปฐมวัยของชีวิต (อายุระหว่าง 0-5 ปี) ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดและเป็นรากฐานของพัฒนาการด้านต่าง ๆ ทั้งการพัฒนาทักษะด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาการเรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญต่อการเสริมสร้างพัฒนาการด้านร่างกาย การเคลื่อนไหว ทักษะทางสังคม และการเรียนรู้ เนื่องจากวัยเด็กเป็นวัยที่มีพัฒนาการ การเจริญเติบโต และการเปลี่ยนแปลงรูปร่างที่รวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ การลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในช่วงวัยนี้จึงมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชี้ชัดว่า เป็นการลงทุนทางสังคมเพื่ออนาคตที่ให้ผลตอบแทนที่ในระดับที่สูงถึง 6 ถึง 17 เท่าตัว หนึ่งในพฤติกรรมสุขภาพที่ดีนั้นไม่เพียงแค่การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือการพักผ่อนอย่างเพียงพอเท่านั้น แต่การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของเด็กตั้งแต่ช่วงปฐมวัย ยังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น สามารถก่อให้เกิดผลดีทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเมื่อเด็กเติบโตขึ้น เพราะการมีประสบการณ์เชิงบวกจากการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเลี้ยงดูที่ดีตั้งแต่แรกเกิด จะเป็นพลังในการก่อร่างสร้างความคิดในระดับปัจเจกบุคคลให้ใส่ใจต่อการมีสุขภาพที่ดีและมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอไปตลอดช่วงชีวิตในอนาคต อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายด้านการส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างมีประสิทธิผล จำเป็นต้องอาศัยชุดข้อมูลเชิงองค์ความรู้ที่เอื้อและสนับสนุนต่อการออกแบบกระบวนการส่งเสริมกิจกรรมที่มีความสอดคล้องตามบริบททั้งในเชิงพฤติกรรม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่ล้วนแล้วแต่เป็นตัวกำหนดทางสังคมต่อสุขภาพที่สำคัญ (Social Determinants of Health) ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมสูงสุด ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้ สำหรับประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพียงพอที่จะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ และคู่มือแนวทางมาตรฐานต่าง ๆ ส่งผลให้นโยบายส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายในกลุ่มเด็กปฐมวัยยังขาดมาตรการในการสนับสนุนที่ชัดเจน ดังนั้น การศึกษาวิจัยนี้จึงนับเป็นโอกาสสำคัญที่ท้าทายในการนำมาซึ่งการสร้างองค์ความรู้ด้านการวิจัยของประเทศไทย อันจะก่อให้เกิดประโยชน์และโอกาสสำหรับการพัฒนาองค์ความรู้พื้นฐานเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางกายของเด็กปฐมวัย ที่จะนำไปสู่ความน่าเชื่อถือในระดับสากล รวมถึง ขยายองค์ความรู้สู่การปฏิบัติ (Implementation) ให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้นำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาวะกลุ่มเด็กปฐมวัยต่อไป สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 3 อันว่าด้วยการสร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย

 

 

         วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 รองศาสตราจารย์ ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร. ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการพัฒนาฐานข้อมูลเชิงสถานการณ์และพฤติกรรมด้านการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย” ร่วมกับ ดร. นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้ช่วยอธิบดีกรมอนามัย และผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธีระพงษ์ แก้วภมร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี และนายสำเนียง สิมมาวัน ผู้แทนส่วนท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อร่วมดำเนินงานนโยบายและมาตรการเพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเชิงสถานการณ์และพฤติกรรมด้านการเคลื่อนไหวเพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทย โดยมี นายชัชวาลย์ เบญจสิริวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี คณะผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานคู่ความร่วมมือทั้ง 6 แห่ง เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุมโรงแรมสุนีย์แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี

      โครงการดังกล่าว มุ่งเน้นการขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมสุขภาพกลุ่มเด็กปฐมวัย ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อยกระดับสติปัญญา พัฒนาการ และการเจริญเติบโตของเด็กไทยสู่เป้าหมายพื้นที่ต้นแบบการส่งเสริมพัฒนาการที่สมวัยของเด็กปฐมวัยไทยเพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ซึ่งช่วงปฐมวัยเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการพัฒนาสมอง เด็กควรได้รับการกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสม ผ่านกิจกรรมการเล่นในรูปแบบต่าง ๆ เช่น เล่น เล่านิทาน ร้องเพลง วาดรูป ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ล้วนช่วยพัฒนาทักษะทางสมอง EF ของเด็ก เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัยและสร้างพื้นฐานที่ดีสำหรับอนาคตของเด็ก

        โดยบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ เป็นการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กปฐมวัยในประเทศไทยโดยใช้หลักการมาตรฐานสากล รวมถึงสร้างกลไกการติดตามเฝ้าระวัง และพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายและมาตรการที่ส่งเสริมพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวของเด็กปฐมวัยไทยให้มีพัฒนาการสมวัย เติบโตเป็นเด็กที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

Partners/Stakeholders

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี

สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี และ

ผู้ให้ทุนคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ผู้ดำเนินการหลัก
Asst.Prof.Dr. Dyah Anantalia Widyastari
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข, กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี, สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี และผู้ให้ทุนคือ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)