การปรับวิถีการเกษตรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การทำนาเปียกสลับแห้ง
การปรับตัวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
การปรับวิถีการเกษตรให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
การทำนาเปียกสลับแห้ง
การปรับตัวต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ความสำคัญ
บึงบอระเพ็ดเป็นบึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ สภาพภูมิประเทศของบึงบอระเพ็ดเป็นพื้นที่ลุ่มที่มีความหลากหลายทางชีวภาพบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ซึ่งมีทั้งพืชน้ำ สัตว์น้ำ และสัตว์ป่า โดยเฉพาะกลุ่มนกที่มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ ส่วนชุมชนโดยรอบได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชุ่มน้ำด้วยการทำการประมง และใช้น้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะการทำนาที่มีมากที่สุดจำนวน 79,858 ไร่ ซึ่งเป็นรูปแบบนาปรังที่ใช้น้ำมาก ทำให้ปริมาณน้ำบึงบอระเพ็ดลดลงอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ชุมชนเกิดความขัดแย้งในการแย่งน้ำไปทำนา นอกจากนี้การทำนาปรังส่งผลให้เกิดการผลิตก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศอีกด้วย ส่วนพืชน้ำที่เจริญเติบโตหนีน้ำไม่ทันในช่วงฤดูน้ำหลาก จะทำให้เกิดหญ้าเน่าจากกระบวนการย่อยสลายของจุลินทรีย์ที่ไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งมีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเช่นกัน ในการนี้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ชุ่มน้ำมีการผลิตก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเป็นการทำนาปรังและน้ำท่วมวัชพืชในช่วงฤดูน้ำหลาก ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้มีแนวคิดในการลดการผลิตก๊าซเรือนกระจกด้วยการปรับวิธีการทำนาจากนาปรังเป็นนาเปียกสลับแห้งที่ใช้น้ำน้อยและปลดปล่อยก๊าซมีเทนน้อยกว่านาปรังหลายเท่า และส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้การส่งเสริมให้นำวัชพืชน้ำจากบึงบอระเพ็ดมาใช้ประโยชน์แปรรูปเป็นปุ๋ยที่สร้างรายได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในตำบลพระนอน มีการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตปุ๋ย ซึ่งรูปแบบที่จะออกมาขึ้นอยู่กับบริบทของพื้นที่ การดำเนินงานทั้งหมดสอดคล้องกับนโยบายของ COP28 และบึงบอระเพ็ด sandbox ที่ตั้งเป้าให้เกิด Net Zero ในปี 2573 ต่อไป
วัตถุประสงค์
1) เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการปรับแนวคิดของประชาชนสู่การปรับวิถีการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด
2) เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ในการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด
3) เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากพืชน้ำและการเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ความคืบหน้าในการดำเนินการ
โครงการอยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการ โดยมีการให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลวังมหากรและตำบลพระนอน และมีการสอบถามความต้องการในการขับเคลื่อน (Need Assessment) ในการทำนาและการจัดการวัชพืชน้ำบึงบอระเพ็ด มีการดูงานเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และการทดลองการทำนาเปียกสลับแห้งในพื้นที่บึงบอระเพ็ดจำนวน 100 ไร่ อีกด้วย
ผลผลิตของโครงการ
1) การฝึกอบรมที่ครอบคลุมเนื้อหาเทคโนโลยีสีเขียว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDGs BCG และการปรับตัวในการทำการเกษตรในพื้นที่ชุ่มน้ำ
2) พื้นที่ต้นแบบในการทำนาเปียกสลับแห้ง และจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในตำบลวังมหากร อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์
3) พื้นที่ต้นแบบในการผลิตปุ๋ยจากพืชน้ำบึงบอระเพ็ด และการจัดตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยในตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
4) ผลการคำนวณอัตราผลตอบแทนเชิงสังคม (SROI) ของโครงการ
5) คู่มือการขับเคลื่อนเชิงนโยบายสำหรับหน่วยงานในพื้นที่
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
1) ประชาชนในพื้นที่ชุ่มน้ำมีความรู้ ความเข้าใจ และมีแนวคิดที่เปลี่ยนไปในการประกอบอาชีพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุ่มน้ำบึงบอระเพ็ด
2) พื้นที่ต้นแบบในการทำนาเปียกสลับแห้งและการผลิตปุ๋ยจากพืชน้ำบึงบอระเพ็ด เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับชุมชนอื่นๆ และขยายผลต่อในอนาคตบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆ
3) ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมกิจกรรม
4) คู่มือการขับเคลื่อนเชิงนโยบายจะเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนในพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆที่มีบริบทคล้ายกับบึงบอระเพ็ด
5) ธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์สามารถกำหนดแนวทางการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในสัญญาเช่าของประชาชนบึงบอระเพ็ดในอนาคตต่อไป
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์
กองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยมหิดล
จังหวัดนครสวรรค์
เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด
หน่วยขุดลอกและกำจัดวัชพืชบึงบอระเพ็ด
ประมงจังหวัดนครสวรรค์
สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดนครสวรรค์
สำนักงานธนารักษ์พื้นที่นครสวรรค์
ส่วนการจัดสรรน้ำที่ 3 นครสวรรค์ (กรมทรัพยากรน้ำ)
องค์การบริหารส่วนตำบลพระนอนและวังมหากร
เครือข่ายองค์กรผู้ใช้น้ำบึงบอระเพ็ด
ประชาชนรอบบึงบอระเพ็ด