พลังงานสะอาด พลังในการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดี
พลังงานสะอาด พลังในการขับเคลื่อนคุณภาพชีวิตที่ดี
จากสถานการณ์ที่สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรง หรือภาวะโลกเดือด (Global Boiling) ซึ่งเกิดจากผลกระทบของกิจกรรมมนุษย์ ซึ่งรถเครื่องยนต์สันดาปหรือเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นสาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการสร้างมลพิษทางอากาศ ปัจจุบันเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เล็งเห็นความสำคัญของการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อมรองรับการขยายตัวของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการกระตุ้นให้คนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาคมชาวมหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งบุคลากรและนักศึกษา รวมถึงบุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยอีกด้วย
โครงการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าของวิทยาลัยนานาชาติ เป็นสถานีชาร์จแห่งแรกในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือกับภาคเอกชนในการลงทุนติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจำนวน 2 สถานี ภายในพื้นที่ของวิทยาลัยนานาชาติ คือ อาคาร 1 และอาคารอทิตยาทร รวมทั้งสิ้น 8 หัวชาร์จ ที่มีทั้งรูปแบบ normal charge และ fast charge โดยสถานีชาร์จทั้งหมดนี้ ได้เปิดให้บริการเมื่อเดือนมีนาคม 2567
กว่าที่สถานีชาร์จจะได้ดำเนินการติดตั้งและเปิดให้บริการ แก่ประชาคมชาวมหิดลและบุคคลทั่วไปได้นั้น ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ทางด้านอุปสงค์ (Demand Feasibility) เพื่อสำรวจความต้องการและแนวโน้มการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของบุคลากรและนักศึกษาวิทยาลัยนานาชาติ ประกอบกับการศึกษาแนวโน้มตลาดทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ นอกจากนั้นทีมวิศวกรของวิทยาลัยฯ ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ด้านเทคนิค (Technical Feasibility) เพื่อเตรียมความพร้อมของระบบอาคารและระบบความปลอดภัยสำหรับการติดตั้งสถานีชาร์จภายในบริเวณพื้นที่ของวิทยาลัยนานาชาติ อาคาร 1 และอาคารอทิตยาทร การดำเนินงานโครงการนี้ จึงถูกออกแบบและดำเนินการอย่างเป็นระบบเพื่อให้เป็นสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ที่ช่วยส่งเสริมแนวคิดการใช้พลังงานสะอาด เพื่อคุณภาพอากาศที่ดี และช่วยกันลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสภาพภูมิอากาศของโลกอีกด้วย
การสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการลงทุนติดตั้งสถานีนั้น เป็นอีกขั้นตอนการดำเนินการที่มีความสำคัญยิ่งที่ทำให้สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้รับการติดตั้งอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องรอการจัดสรรงบประมาณเพื่อลงทุนดำเนินการเอง นอกจากนั้นการร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในระบบอยู่แล้ว ช่วยในการดำเนินการติดตั้งเป็นไปได้ด้วยดี พร้อมทั้งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญขององค์กรต่อแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลงสู่การปฏิบัติจริง และมีผลกระทบเชิงบวกต่อบุคลากรและนักศึกษาที่ไม่ได้จำกัดแค่ของวิทยาลัยนานาชาติ แต่ยังรวมถึงทั้งมหาวิทยาลัยมหิดล และบุคคลภายนอกที่มาติดต่อมหาวิทยาลัยอีกด้วย
วิทยาลัยนานาชาติได้มีการยุทธศาสตร์มุ่งเน้นความเป็นประชากรโลก (Foster Global Citizenship) ซึ่งโครงการติดตั้งจุดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้านี้ เป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการ (action plan) ของฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ในด้าน Sustainable Transportation หรือระบบขนส่งที่ยั่งยืน ที่กำหนดเป้าหมายการติดตั้งให้แล้วเสร็จภายในปี 2567 ซึ่งผลการดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสแรกของปีนั้น ส่งผลให้ประชาคมมหิดลได้มีส่วนเพิ่มการใช้พลังงานสะอาด ลดการเกิดมลภาวะทางอากาศให้แก่โลกของเราได้
ประชาคมมหิดลและบุคคลทั่วไป