การพัฒนาดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

detail

การพัฒนาค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ (AQHI) ในการนำไปใช้เพื่อการสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงต่อวิกฤต PM2.5 ในภาคประชาชน เพื่อศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงของโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหลอดเลือดและระบบไหลเวียนเลือดในเชิงพื้นที่ โดยการประยุกต์ใช้แผนที่โรค (disease mapping)

ความสำคัญและที่ของปัญหา

           ดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ (AQHI) เป็นเครื่องมือที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสะท้อนความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดจากการรับสัมผัสสารมลพิษที่แตกต่างกันมากกว่า 1 ชนิดในแต่ละแหล่งกำเนิดอย่างต่อเนื่อง อัตราการตายที่สูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวจะนำมาคำนวณและแสดงผลเป็นค่า AQHI ในแต่ละค่าระดับต่อไป อย่างไรก็ตาม ค่า AQHI สามารถนำไปใช้ได้หลากหลาย เช่น การแสดงผลค่าสถานการณ์ปัจจุบันในแผนที่ซึ่งเป็นดัชนีตัวหนึ่งที่พิจารณาจากการคงอยู่ร่วมกันของสารมลพิษที่ต่างกันหลายชนิด รวมถึงการประยุกต์ใช้เพื่อวัตถุประสงค์การทำนายผลซึ่งใช้ในการเตือนภัยสถานการณ์คุณภาพอากาศในวันถัดไปโดยจะพิจารณาถึงความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบโดยรวมของสารมลพิษที่หลากหลายชนิด ผลผลิตที่ได้ระยะที่ 1 คือแผนที่แหล่งที่มาหลักของมลพิษทางอากาศชนิดต่าง ๆ ในพื้นที่ กรุงเทพมหานคร และการรวบรวมข้อมูลสุขภาพจากสถานพยาบาลในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น โรงพยาบาลจำนวน 23 โรงพยาบาล และ 69 ศูนย์บริการสาธารณสุข และการประสานเพื่อรับข้อมูลภายหลังจากผ่านการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ จำนวน 1 โรงพยาบาล และมีการวิเคราะห์ข้อมูลหาความสัมพันธ์เชิงสุขภาพต่อระดับมลพิษทางอากาศในพื้นที่ต่าง ๆ เบื้องต้น ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการสร้างดัชนีค่า AQHI ต่อไป ระยะที่ 2 ศึกษาเพื่อพัฒนาค่า AQHI ที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการรายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศในเขตเมือง (กรุงเทพมหานคร) ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 โดยผลผลิตหลักคือการสร้างค่า AQHI เพื่อสะท้อนสถานการณ์ความเสี่ยงต่อสุขภาพที่แท้จริง รวมถึงเป็นเครื่องมือสำหรับและนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังและเตือนภัยให้กับประชาชนในพื้นที่ให้เกิดการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์เชิงสุขภาพ รวมถึงพิจารณาเลือกแนวทางการป้องกันตนเองในการรับสัมผัสสารมลพิษในช่วงเวลาวิกฤตได้อย่างเหมาะสมต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของโครงการ

  1. พัฒนาค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ (AQHI) ในการนำไปใช้เพื่อการสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงต่อวิกฤต PM2.5 ในภาคประชาชน
  2. ศึกษาสถานการณ์ความรุนแรงของโรคระบบเดินหายใจและโรคหลอดเลือดและระบบไหลเวียนเลือดในเชิงพื้นที่ โดยการประยุกต์ใช้แผนที่โรค (disease mapping)   
  3. หาความสัมพันธ์ระหว่างสารมลพิษทางอากาศชนิด PM2.5 ร่วมกับสารมลพิษทางอากาศชนิดอื่น เช่น PM10, NO2, O3 กับผลกระทบต่อสุขภาพเชิงพื้นที่และประมวลผลจัดทำ และแบ่งระดับค่า AQHI ตามค่าระดับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่

 

การดำเนินกิจกรรม    

  1. มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนงานที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ศึกษา อาทิ วิทยาเขตพญาไท  
  2. พื้นที่ย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี                                                                                         
  3. กรุงเทพมหานคร สำนักสิ่งแวดล้อมในการนำค่า AQHI ไปใช้ในการสื่อสารความเสี่ยงสุขภาพจากสภาวะ มลพิษทางอากาศ 


ระยะเวลา :  ตั้งแต่วันที่ 23 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 ถึง วันที่ 22 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2567

 

ผลการดำเนินงาน 

  1. รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมจากสถานพยาบาล และยื่นขอรับรองโครงการวิจัย และปรับเปลี่ยนโครงร่างวิจัย (Amendment) จากคณะกรรมการร่วมพิจารณาจริยธรรมในมนุษย์สหสถาบันย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี , กรุงเทพมหานคร และโรงพยาบาล
  2. ดำเนินการจัดทำแผนที่โรค ในกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ในเชิงพื้นที่ครอบคลุม 50 เขต ของกรุงเทพมหานคร โดยใช้แหล่งข้อมูลหลักจากศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่งของกรุงเทพมหานคร
  3. สร้างสมการคาดการณ์ความเสี่ยงเชิงสุขภาพ ( AQHI) และสร้างค่า AQHI ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560-2564 แบ่งค่าระดับความเสี่ยง ออกเป็น 4 ระดับได้แก่ ความเสี่ยงระดับต่ำ ( 1-3) ปานกลาง (4-6) สูง (7-10) และสูงมาก (>10)
  4. นำค่า AQHI ที่สร้างขึ้นทำการแบ่ง ระดับตามความเสี่ยงสุขภาพ เปรียบเทียบกับค่า AQI ย้อนหลัง ที่คำนวณได้จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษ (จำนวน 12 สถานี) และกรุงเทพมหานคร (จำนวน 1 สถานี)

 

ทำไมต้อง AQHI

  1. สื่อสารความเสี่ยงสุขภาพระยะสั้นจากกการรับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศ
  2. ผลรวมความเสี่ยงสุขภาพจากมลพิษทางอากาศมากกว่า 1 ชนิด
  3. สารมลพิษทางอากาศแม้ในระดับต่ำ แต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ และเกิดผลกระทบชนิดเสริมฤทธิ์ (synergistic effect) เมื่อรับสัมผัสสารมลพิษหลายชนิดพร้อมกัน
  4. วิธีการคำนวณ ได้จากการศึกษาทางระบาดวิทยาถึงความสัมพันธ์ ระหว่างอัตรการเพิ่มขึ้นของการเข้ารับการรักษาด้วยโรคทางระบบทางเดินหายใจ หัวใจและหลอดเลือด และระบบไหลเวียนเลือด กับความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นของสารมลพิษทางอากาศ

Partners/Stakeholders

ภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  

ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ การแพทย์ทหาร  คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

 สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 

ผู้ดำเนินการหลัก
รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล กาญจนสุธา
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ การแพทย์ทหาร, คณะแพทยศาสตร์ หมาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ
ส่วนงานร่วม