โครงการพัฒนาระบบทุนการศึกษา (ทุนเปรมดนตรี)

detail

กองทุนเปรมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ส่งเสริมและสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาด้านดุริยางคศาสตร์ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ "สร้างคนดนตรีออกสู่สังคม" สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ด้านการศึกษา

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ จัดตั้ง “กองทุนเปรมดนตรี” เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นด้วยความเห็นชอบของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ผู้ที่มีคุณูปการต่อการศึกษาของไทยรวมทั้งการศึกษาดนตรีเป็นอย่างมาก ได้สนับสนุนเงินบริจาคจัดตั้งกองทุนเปรมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาทางด้านดุริยางคศาสตร์อย่างยั่งยืน โดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ได้นำดอกผลมาส่งเสริมและสนับสนุนเป็นทุนการศึกษาด้านดุริยางคศาสตร์ แก่นักเรียนนักศึกษาของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาผู้ที่ได้รับทุน สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ด้านการศึกษา โดยมีหลักเกณฑ์และอัตราการให้ทุนการศึกษาจากกองทุนเปรมดนตรีตามประกาศวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ โดยกำหนดคุณสมบัติของผู้รับทุน ดังนี้

  1. เป็นนักเรียน หรือนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เรียบร้อยแล้ว
  2. เป็นนักเรียน หรือนักศึกษาปัจจุบันที่กำลังศึกษาและลงทะเบียนเรียน
  3. เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา หรือเป็นผู้ที่มีความสามารถพิเศษทางดนตรีที่โดดเด่น
  4. ผู้สมัครเป็นผู้มีความประพฤติดีและไม่เคยกระทำผิดวินัยและกฎระเบียบของวิทยาลัยฯ
  5. ต้องไม่เป็นผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาประเภทอื่น ๆ ของวิทยาลัย

การยื่นเอกสารในการสมัครขอรับทุน ดังนี้

ผู้ที่มีความประสงค์ขอรับทุน สามารถติดต่อขอรับใบสมัครและยื่นใบสมัครพร้อมหลักฐานประกอบการสมัครได้ที่งานกิจการนักศึกษา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ดังนี้

  1. รูปถ่ายขนาด 1 นิ้ว (ติดใบสมัคร)
  2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือสำเนาบัตรประจำตัวนักเรียน หรือสำเนาบัตรประจำตัวนักศึกษาพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 1 ฉบับ
  3. สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ฉบับ
  4. สำเนาหลักฐานผลการศึกษา จำนวน 1 ฉบับ
  5. สำเนาหนังสือตอบรับเข้าศึกษาในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวน 1 ฉบับ กรณีเป็นผู้รับทุนการศึกษาเป็นนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการตอบรับให้เข้าศึกษาในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เรียบร้อยแล้ว
  6. เอกสารผลงานความสามารถพิเศษทางด้นดนตรี จำนวน 1 ชุด (กรณีขอรับทุนประเภทผู้ที่มีความสามารถพิเศษทางดนตรีที่โดดเด่น)
  7. เอกสารนำเสนอสาเหตุที่ต้องขอรับทุนการศึกษา ปัญหาต่าง ๆ และความคาดหวังในการศึกษา จำนวน 1 ชุด (กรณีขอรับทุนประเภทผู้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา)

หลักเกณฑ์การพิจารณาและวิธีการคัดเลือก

  1. งานกิจการนักศึกษา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ พิจารณาตรวจสอบผู้มีคุณสมบัติตามประกาศนี้ และส่งใบสมัครพร้อมเอกสารหลักฐานเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาทุนการศึกษาจากกองทุนเปรมดนตรี และนำเสนอต่อคณะกรรมการบริหารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์
  2. คณะกรรมการบริหารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์เป็นผู้พิจารณาและอนุมัติการจัดสรรทุนตามประกาศนี้
  3. งานกิจการนักศึกษา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ นำรายชื่อของผู้ที่ได้รับทุนประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

การเบิกจ่ายทุนตามประกาศนี้ให้เบิกจ่ายเพียงครั้งเดียว ทั้งนี้ ผู้รับทุนจะได้รับเงินทุนจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ เมื่อได้ลงทะเบียนเข้าศึกษาในวิทยาลัยดุริยางคศิลป์แล้วเท่านั้น

วิทยาลัยฯ จัดสรรทุนการศึกษา โดยนำเงินดอกผลกองทุนฯ มาจัดสรรเป็นทุนการศึกษา ให้แก่นักเรียน นักศึกษาเป็นทุนให้เปล่าทุนละ 80,000 บาทต่อคนต่อปีการศึกษา ซึ่งผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาจากกองทุนเปรมดนตรี มีทั้งระดับเตรียมอุดมดนตรี ระดับปริญญาตรี และระดับปริญญาโท-เอก ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการพิจารณา และได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และวิทยาลัยฯ จัด “พิธีมอบทุนเปรมดนตรี” ทุนการศึกษาด้านดุริยางคศาสตร์ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทุกปี โดยมี คุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล ในฐานะประธานพิจารณาทุนเปรมดนตรีเป็นผู้มอบทุน

โครงการนี้มีความต่อเนื่องของทุนดำเนินการมาแล้ว 3 ปี เริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 เป็นปีแรก มีผู้ที่ได้รับทุนประกอบด้วยทุนเปรมดนตรี 20 ทุน และทุนจากผู้ให้การสนับสนุนอีก 4 ทุน คือ ทุนคุณหญิงปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล 1 ทุน ทุนนายแพทย์บุญ วนาสิน 1 ทุน ทุนดิสพล จันศิริ 1 ทุน และทุนรัมภา-วศิน กำเนิดรัตน์ 1 ทุน รวม 24 ทุน ระดับเตรียมอุดมดนตรี จำนวน 8 คน ระดับปริญญาตรี จำนวน 11 คน  ระดับปริญญาโท-เอก จำนวน 5 คน รวมจำนวนเงินทุนทั้งสิ้น 1,920,000 บาท โดยวิทยาลัยฯ จัดพิธีมอบทุนฯ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ที่ห้อง 204 ชั้น 2 อาคารมิวเซียมอุษาคเนย์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์

ต่อมาปีการศึกษา 2565 วิทยาลัยฯ จัดสรรทุนการศึกษาทั้งสิ้นจำนวน 12 ทุน ระดับเตรียมอุดมดนตรี จำนวน 3 คน ระดับปริญญาตรี จำนวน 6 คน ระดับปริญญาโท-เอก จำนวน 3 คน รวมจำนวนเงินทุนทั้งสิ้น 960,000 บาท โดยวิทยาลัยฯ จัดพิธีมอบทุนฯ ในงาน “ครบรอบ 28 ปี วันคล้ายวันสถาปนา วิทยาลัยดุริยางคศิลป์” ในวันที่ 21 กันยายน 2565 ณ หอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์

สำหรับปีการศึกษา 2566 วิทยาลัยฯ จัดสรรทุนการศึกษาทั้งสิ้นจำนวน 13 ทุน ระดับเตรียมอุดมดนตรี จำนวน 6 คน ระดับปริญญาตรี จำนวน 6 คน ระดับปริญญาโท-เอก จำนวน 1 คน รวมจำนวนเงินทุนทั้งสิ้น 1,040,000 บาท โดยวิทยาลัยฯ จัดพิธีมอบทุนฯ ในงาน “ในงานเปิดโรงละครกล่องดำ” ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 ณ โรงละครกล่องดำ (Blackbox Theatre) ชั้น 6 อาคารมิวเซียมอุษาคเนย์ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์

โครงการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนรับทราบและเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นการสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ ส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนผู้ที่มีทักษะทางเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน และการเป็นผู้ประกอบการทางด้านดนตรี (ข้อ 4.4 Quality Education) โดยได้รับความร่วมมือในการพัฒนา (ข้อ 17 Partnerships for the Goals) ในการให้การสนับสนุนการศึกษาให้กับนักเรียนนักศึกษาที่มีความสามารถ   หรือต้องการความช่วยเหลือทางด้านการเงิน (ข้อ 1.3) เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Partners/Stakeholders

มหาวิทยาลัยมหิดล

ผู้ดำเนินการหลัก
วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ส่วนงานหลัก