พื้นที่แหล่งมรดกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ใน พ.ศ.2534 ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นมรดกโลก โดยมีคุณสมบัติการเป็นมรดกโลกตรงตามหลักเกณฑ์ข้อที่ 7, 9 และ 10 ซึ่งมีรายละเอียด คือ ข้อที่ 7 ประกอบด้วยปรากฎการณ์ทางธรรมชาติชั้นเยี่ยม หรือพื้นที่ซึ่งมีความงามทางธรรมชาติที่ยอดเยี่ยม และมีความสำคัญทางสุนทรียะ ข้อที่ 9 เป็นตัวอย่างที่โดดเด่นที่สะท้อนถึงกระบวนการสำคัญที่ดำเนินอยู่ทางนิเวศวิทยาและชีววิทยา ในวิวัฒนาการและการพัฒนาของระบบนิเวศบนบก น้ำจืด ชายฝั่งและท้องทะเล และสังคมพืชและสัตว์และข้อที่ 10 บรรจุไว้ซึ่งถิ่นที่อาศัยทางธรรมชาติที่มีความสำคัญยิ่ง และถิ่นอาศัยที่มีนัยสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในถิ่น รวมถึงที่รวบรวมไว้ซึ่งชนิดพันธ์ของคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลที่ถูกคุกคามจากมุมมองของวิทยาศาสตร์หรือการอนุรักษ์
พื้นที่แหล่งมรดกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการยกย่องให้เป็นผืนป่าอันยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ครอบคลุมพื้นที่ในเขต 6 อำเภอ ใน 3 จังงหวัด คือ อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก มีอาณาเขตทอดยาวอยู่บนแนวเทือกเขาถนนธงชัยเชื่อมต่อกับตอนเหนือของเทือกเขาตะนาวศรี พื้นที่ส่วนใหญ่จึงเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและเป็นต้นน้ำของแควใหญ่และแควน้อย ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำแม่กลอง
พื้นที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าใหญ่-ห้วยขาแข้ง เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลายประเภท สัตว์หลายชนิดเป็นสัตว์หายาก และกำลังถูกคุกคาม จากการศึกษาสำรวจสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในผืนผ่าแห่งนี้มีจำนวนมากที่พบได้ในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น ในจำนวนนั้นมีสัตว์ป่าหลายชนิดที่ถูกจัดว่าเป็นสัตว์หายาก และได้รับการกำหนดสถานภาพโดย IUCN ว่าเป็นสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (endangered species)
พื้นที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง นับว่าเป็นผืนป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ของประเทศ ที่เป็นตัวแทนแสดงลักษณะทางชีวภาพที่สำคัญของผืนป่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งรวมของความหลากหลายทางชีวภาพภูมิศาสตร์ ถึง 4 เขต คือ ไซโนหิมาลายัน (Sino-Himalayan) อินโด-เบอร์มิส (Indo-Burmese) อินโด-ไชนิส (Indo-Chinese) และซุนเดอิก (Sundaic) (UNESCO, n.d.) และเป็นพื้นที่หนึ่งที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ แต่ปัจจุบันพิบว่า ได้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ของชุมชนโดยรอบและรุกล้ำเข้ามาใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่เขตอนุรักษ์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าและสัตว์ป่า ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรม และไม่อาจดำรงความหลากหลายทางชีวภาพไว้ได้ อีกทั้งในปัจจุบันไม่มีแผนการดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
วัตถุประสงค์การดำเนินงานโครงการวิจัย “การจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ห้วยขาแข้ง” (1) เพื่อวิเคราะห์-สังเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานและเพื่อประเมินศักยภาพ สถานภาพและข้อจำกัดของพื้นที่เพื่อใช้ในการจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้งให้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับข้อผูกพันของอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ (2) เพื่อให้มีกรอบทิศทางและเป้าหมายในการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง (3) เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นของรัฐและภาคีต่าง ๆ สำหรับการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติตามแนวทางการบริหารจัดการแหล่งมรดกโลก
การดำเนินโครงการในครั้งนี้ได้รับแนวทางในการนำแผนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์เชิงรูปธรรมบนพื้นฐานหลักประสิทธิภาพประสิทธิผลและธรรมาภิบาล ในการบริหารจัดการพื้นที่แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDG 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable Cities and Infrastructure) SDG 15 การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก (Life on Land) และ SDG 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Action)