โครงการการพัฒนารูปแบบการอภิบาลจัดการขยะสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs): กรณีศึกษาของ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี

detail

โครงการการพัฒนารูปแบบการอภิบาลจัดการขยะสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่น ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs): กรณีศึกษาของ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี เกิดผลประโยชน์ คือ (1) ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคด้านการจัดการขยะในเขตพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี (2) ประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีมีความรู้ ความเข้าใจ และนิเวศน์สำนึกด้านการจัดการขยะแบบยั่งยืน (3) ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยแห่งความสำเร็จและกลไกในการสร้างความร่วมมือของหุ้นส่วนทางสังคมในการจัดการขยะแบบยั่งยืนในเขตพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี (4) ได้นวัตกรรมการจัดการขยะเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านเศรษฐกิจและสังคม (Social-Economy) ของชุมชนในเขตพื้นที่เป้าหมายในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

 การพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของระบบทุนนิยมโลกมีการเจริญเติบโตไปอย่างรวดเร็ว เกิดการค้าขายแลกเปลี่ยน นำเข้า ส่งออก และการผลิตของระบบอุตสาหกรรม ที่กระตุ้นให้เกิดการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการดำรงชีวิต วัฒนธรรมการบริโภค ที่ผู้ผลิตสินค้าและบริการนำเสนอความสะดวกและรวดเร็วเพื่อส่งมอบสินค้าและบริการต่าง ๆ มีการใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติกที่ยากแก่การย่อยสลาย และขาดการกำจัดที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กลายเป็นขยะ (Waste) อันตราย อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาลในระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาการจัดการขยะ (Waste Management) ซึ่งขยะเองมีแนวโน้มทวีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในขณะที่การจัดการขยะยังขาดประสิทธิภาพและความเอาใจใส่ของมนุษย์ จากข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) พบว่า ในปัจจุบันทั่วโลกมีการผลิตขยะรวมกันมากถึง 2.01 พันล้านตันต่อปี และในจำนวนนี้ ขยะร้อยละ 33 ยังขาดการจัดการที่ดีและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และคาดว่าจะมีแนวโน้มสูงถึง 3.40 พันล้านตันภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรทั่วโลกในช่วงระยะเวลาเดียวกัน

 

จากประเด็นปัญหาดังกล่าว ทำให้ทุกประเทศทั่วโลกเกิดความตระหนักและมีความพยายามหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยองค์การสหประชาชาติได้กำหนดกรอบแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีเป้าหมายของการพัฒนาร่วมกันอยู่ 17 เป้าหมาย หลายเป้าหมายเกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการขยะโดยตรง อาทิ เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน : Decent Work and Economic Growth เป้าหมายที่ 11 เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน: Sustainable Cities and Communities และเป้าหมายที่ 12 การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน: Responsible Consumption and Production เป็นต้น 

 

สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ปัญหาการจัดการขยะยังคงเป็นปัญหาสำคัญของประเทศทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชนบท ทั้งในระดับท้องถิ่นและชุมชน การปล่อยของเสีย ยังมีอยู่ในทุกขั้นตอนการผลิตและการบริโภค ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ภาคครัวเรือนและชุมชน ประเทศไทยมีขยะจากกระบวนการผลิตกว่า 16 ล้านตันต่อปี แต่นำมาใช้ใหม่ได้เพียง ร้อยละ 20 ของปริมาณขยะทั้งหมด ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ร้อยละ 35 และภาคครัวเรือนก็มีการปล่อยน้ำเสียในปริมาณค่อนข้างมาก (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ (สศช.), 2557) และภายใต้แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ประเทศไทยเป็นหนึ่งในบรรดาประเทศสมาชิกได้ร่วมขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นประเด็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องและสอดรับกับการพัฒนาประเทศตามแนวทางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และต้องให้ให้ความสำคัญกับการรับมือความท้าทายหลากหลายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ และร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยหน่วยงานระดับนโยบายได้มีการกำหนดเป้าหมายและเป้าประสงค์เพื่อการขับเคลื่อนงานที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน 

 

คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงได้กำหนดและลำดับความสำคัญของเป้าประสงค์จำนวน 30 เป้าประสงค์ตามเป้าหมาย (Goals) ของการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย โดยการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาขยะ ได้แก่ เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่ และมีผลิตภาพ และการมีงานที่สมควรสำหรับทุกคน มีเป้าประสงค์ในการพัฒนาความมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิต และพยายามที่จะตัดความเชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและการทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน 10 ปีของแผนการทำงานเพื่อการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการ ไปจนถึงปี 2573 และเป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน ที่มีเป้าประสงค์ในบรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตลอดทั้งวงจรชีวิต ของสิ่งเหล่านั้น ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่ง เหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำและดินอย่างมีนัยสำคัญเพื่อที่จะลดผลกระทบทางลบที่จะมีต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด)

 

ในขณะเดียวกัน แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องนําไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง” ภายในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน ในการวิเคราะห์สถานการณ์ของการพัฒนาประเทศไทย พบปัญหาหลายด้าน ปัญหาสำคัญด้านหนึ่ง ได้แก่ ปัญหาที่ระบบนิเวศต่าง ๆ มีแนวโน้มเสื่อมโทรมลง และมีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงในการสูญเสียความสามารถในการรองรับความต้องการของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ดีระดับความรุนแรงของผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศต่าง ๆ ดังกล่าวที่แต่ละประเทศจะต้องเผชิญจะมีความแตกต่างกัน ทำให้การเป็นสังคมสีเขียว การรักษาและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการจะได้รับความสำคัญ และความสนใจจากนานาประเทศรวมทั้งประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมถึงการสร้างสมดุลความมั่นคงด้านพลังงานและอาหารมีแนวโน้มที่จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้ กฎระเบียบและข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมจะต้องมีความเข้มข้นและเข้มงวดมากขึ้น โดยกรอบการพัฒนา ตามข้อตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่สำคัญ เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และบันทึกความตกลงปารสี จะได้รับการนําไปปฏิบัติอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้น (ราชกิจจานุเบกษา, 2561, น.3) และมีการกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อการแก้ไขปัญหาภายใต้สถานการณ์นี้ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อนําไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ธรรมาภิบาล และความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างกัน ทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างบูรณาการ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งในการกำหนดกลยุทธ์และแผนงาน และการให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เข้ามามีส่วนร่วมในแบบทางตรงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้โดยเป็นการดำเนินการบนพื้นฐานการเติบโตร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลทั้ง 3 ด้าน อันจะนําไปสู่ความยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไปอย่างแท้จริง (ราชกิจจานุเบกษา, 2561, น.52-63) โดยเฉพาะการส่งเสริมการบริโภคและการผลิต สีเขียวอย่างยั่งยืน ซึ่งรวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคและการผลิต วิธีคิดและวิถีชีวิตของบุคคลและองค์กรให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ มากที่สุด การสร้างการมีจิตสํานึกในการผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรม การบริโภคอย่างพอเพียงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์และมาตรการ ทางสังคมจูงใจผู้บริโภคและผู้ผลิต การสร้างระบบและกลไกการเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมมลพิษในภาคการผลิต และการใช้มาตรการการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการลดขยะเป็นศูนย์จัดการขยะแบบเบ็ดเสร็จยั่งยืน การลดการปล่อย มลพิษและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงการจัดการการปล่อยมลพิษจากภาคการผลิตเพื่อขับเคลื่อน เศรษฐกิจควบคู่กับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพมีมลพิษต่ำโดยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตร ต่อสิ่งแวดล้อม การมีระบบจัดการของเสียจากแหล่งกำเนิดมลพิษทุกประเภทที่เพียงพอและมีการจัดการมลพิษได้เป็นไปตามมาตรฐาน มีการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ประกอบการอย่างเคร่งครัด (ราชกิจจานุเบกษา, 2561, น.55)

 

นอกจากปัญหาการจัดการขยะในช่วงสถานการณ์ปกติก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 แล้ว พบว่า ในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีการวางแผนเพื่อเดินตามเป้า “Road map” ของการจัดการ “ขยะพลาสติก” โดยการลด เลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด และนำขยะพลาสติก 7 ชนิดมาใช้ใหม่ 50% กระทั่งเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ขยะพลาสติกที่เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาลจนน่าเป็นห่วง ประเทศไทยเองก็เป็นผู้ก่อ “ขยะพลาสติก” กว่า 2 ล้านตันต่อปี ขณะที่ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะลดน้อยลงเกือบจะเป็นศูนย์ แต่ปริมาณขยะพลาสติกกลับเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ Road map การจัดการขยะพลาสติกของไทย ตั้งเป้าลด เลิกใช้พลาสติก 4 ชนิด และนำขยะพลาสติก 7 ชนิดมาใช้ใหม่ร้อยละ 50 ในปี พ.ศ. 2565 ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงเป็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมด้วยช่วยกันเพื่อไปถึงเป้าหมาย

 

ข้อมูลภาพรวมการจัดการ 'ขยะพลาสติก' ของประเทศไทย จากกรมควบคุมมลพิษ  พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมี “ขยะพลาสติก” 2 ล้านตันต่อปี ตั้งแต่ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 และหลังจากมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่พบว่า แม้นักท่องเที่ยวจะมีจำนวนลดลงไปมาก แต่ขยะพลาสติกก็ไม่ได้ลดลงตามไปด้วย ช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกนั้นจะพบว่า ในสถานการณ์ปกติเดือนมกราคม - ธันวาคม พ.ศ. 2562 คนไทยสร้าง 'ขยะพลาสติก' เฉลี่ย 96 กรัม/คน/วัน ถัดมาในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19 เดือนมกราคม - ธันวาคม พ.ศ. 2563 'ขยะพลาสติก' เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 40 เฉลี่ย 134 กรัม/คน/วัน และล่าสุด ในการระบาดระลอกใหม่ ตัวเลขเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 “ขยะพลาสติก” เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 หรือเฉลี่ย 139 กรัม/คน/วัน) 3

 

จากสภาพปัญหา นโนบาย และทิศทางการพัฒนาประเทศดังกล่าวข้างต้น กระทรวงสาธารณสุขมีการสร้างกลไกการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศในระดับอำเภอ ที่เรียกว่า คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ พ.ศ. 2561 ที่มีคณะกรรมการระดับอำเภอที่มาจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และภาคประชาชน ที่ร่วมกันทำหน้าที่ในการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค และการจัดการสุขภาพ

 

อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และขับเคลื่อนงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ทั้งหน่วยงานท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ที่สำคัญคือมีองค์กรภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในพื้นที่เข้าร่วมสนับสนุนการดำเนินงานด้วย “อำเภอท่าม่วง” เป็นพื้นที่ที่มีประชากรมากที่สุดลำดับที่ 3 ของจังหวัดกาญจนบุรี รองจากอำเภอเมือง และอำเภอท่ามะกา โดยมีประชากร 84,519 คน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 26,554 ครัวเรือน

 

ลักษณะพิเศษเฉพาะพื้นที่ของอำเภอท่าม่วง คือ การเป็นพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลายประเภท อุตสาหกรรมน้ำตาลทราย อุตสาหกรรมแพคเกจจิ้ง และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ปัจจุบันคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ได้ดำเนินการการขับเคลื่อนประเด็นการแก้ปัญหาของพื้นที่ 3 ประเด็น ได้แก่ ประเด็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD: Non Communicable Diseases) ประเด็น Long term Care และประเด็นอุบัติเหตุจราจร สำหรับประเด็นด้านการจัดการขยะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่กำลังดำเนินการขับเคลื่อนในพื้นที่ระดับตำบลและกำลังจะบรรจุเข้าเป็นประเด็นการขับเคลื่อนของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภออย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2565 พื้นที่ต้นแบบที่มีการขับเคลื่อนประเด็นการจัดการขยะชุมชนเริ่มต้น ได้แก่ พื้นที่ตำบลวังศาลา ซึ่งมีการดำเนินการในลักษณะของการจัดกิจกรรมให้ความรู้ในการคัดแยกขยะ การจัดการขยะในลักษณะต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การนำกลับมาใช้ใหม่ การนำไปผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อใช้ในการทำการเกษตร และอื่น ๆ ทั้งนี้ ในการดำเนินงานได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ในการเอื้อวัสดุอุปกรณ์ กากน้ำตาล และอื่น ๆ ในพื้นที่มีการรวมกลุ่มของภาคประชาชนและกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขที่เข้าร่วมการขับเคลื่อนในประเด็นนี้

 

อีกทั้ง ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) ในปัจจุบัน ทำให้ปัญหาขยะในครัวเรือนและชุมชนจากเดิมที่มีปัญหาอยู่ในระดับหนึ่งแล้ว ระดับปัญหายิ่งสูงขึ้นจากการใช้อุปกรณ์ในการป้องกันตนเองของประชาชนจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย ชุดป้องกันการติดเชื้อ PPE และที่สำคัญคือ ชุดทดสอบการติดเชื้อด้วยตนเอง (Antigen test kits) ที่กำลังจะมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุผลของจำนวนผู้ติดเชื้อและการแพร่ระบาดที่ครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย การวิจัยนี้จึงมีความสนใจที่จะศึกษาสถานการณ์ของการจัดการขยะ การสร้างความรู้ ความตระหนัก จิตสำนึก และวัฒนธรรมการจัดการขยะอย่างต่อเนื่อง รวมถึงศึกษาและพัฒนากลไกต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการจัดการขยะที่มีความแตกต่างกัน ทั้งขยะในครัวเรือน ขยะอันตราย ขยะติดเชื้อจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19  และจะสามารถเชื่อมโยงการจัดการขยะเข้ากับการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม (socio-economic problems) ของพื้นที่ เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

 

วัตถุประสงค์ของโครงการวิจัย

1. เพื่อสำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคด้านการจัดการขยะครัวเรือนประเภทต่าง ๆ ในเขตพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

2. เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสร้างนิเวศน์สำนึกด้านการจัดการขยะครัวเรือนแบบยั่งยืนในเขตพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

3. เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จและกลไกในการสร้างความร่วมมือของหุ้นส่วนทางสังคมในการจัดการขยะแบบยั่งยืนในเขตพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

4. เพื่อพัฒนารูปแบบ นวัตกรรม และแนวทางการจัดการขยะเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านเศรษฐกิจและสังคม (Social-Economy) ของชุมชนในเขตพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

 

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพัฒนาพื้นที่ (area-based research) ซึ่งประกอบไปด้วยวิธีการวิจัยแบบผสมผสานทั้งการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ (mixed methods research design) อันประกอบไปด้วย การวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (participatory action research: PAR) การวิจัยเชิงสำรวจ (survey) กระบวนการวิจัย แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1: การสำรวจข้อมูลพื้นที่และสภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการขยะในเขต อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี ระยะที่ 2: การวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ด้านการจัดการขยะในพื้นที่เป้าหมาย ระยะที่ 3: การนำรูปแบบ นวัตกรรม และแนวทางการจัดการขยะไปปฏิบัติเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่เป้าหมาย

 

โครงการวิจัยนี้เกิดผลประโยชน์ คือ (1) ได้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ ปัญหา และอุปสรรคด้านการจัดการขยะในเขตพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี (2) ประชาชนในเขตพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรีมีความรู้ ความเข้าใจ และนิเวศน์สำนึกด้านการจัดการขยะแบบยั่งยืน (3) ได้องค์ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยแห่งความสำเร็จและกลไกในการสร้างความร่วมมือของหุ้นส่วนทางสังคมในการจัดการขยะแบบยั่งยืนในเขตพื้นที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี (4) ได้นวัตกรรมการจัดการขยะเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตในด้านเศรษฐกิจและสังคม (Social-Economy) ของชุมชนในเขตพื้นที่เป้าหมายในอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ภายใต้กรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

Partners/Stakeholders

คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี

ผู้ดำเนินการหลัก
รองศาสตราจารย์ ดร.สมศักดิ์ อมรสิริพงศ์
ส่วนงานหลัก