การศึกษาเปรียบเทียบความพึงพอใจของอุปกรณ์ดามที่ผลิตจากเทอร์โมพลาสติกที่พัฒนาขึ้นเองโดยมีต้นทุนต่ำกับอุปกรณ์ดามที่ผลิตจากเทอร์โมพลาสติกที่ใช้ในทางการค้า

detail

การใช้เทอร์โมพลาสติกสำหรับผลิตอุปกรณ์ดามในปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้การผลิตมีต้นทุนสูง ส่งผลให้ผู้รับบริการที่มีปัญหาเศรษฐานะมีข้อจำกัดในการเลือกใช้อุปกรณ์ดามเป็นวิธีการรักษา นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ผู้รับบริการไม่พึงพอใจต่อการใช้อุปกรณ์ดามด้วย ผู้วิจัยจึงทำการพัฒนาเทอร์โมพลาสติกชนิดใหม่ขึ้นมาเพื่อนำมาใช้ทดแทนเทอร์โมพลาสติกที่ใช้ในทางการค้าเดิมในท้องตลาด

งานวิจัยนี้ แบ่งออกเป็น 2 โครงการย่อย ได้แก่

     1.1 โครงการย่อยที่1: การศึกษาเปรียบเทียบความพึงพอใจและความคิดเห็นของนักกิจกรรมบำบัดต่ออุปกรณ์ดามที่สร้างโดยใช้วัสดุจากเทอร์โมพลาสติกที่พัฒนาขึ้นเองและเทอร์โมพลาสติกที่ใช้ในทางการค้า

     - ผู้วิจัยทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์และติดสื่อเชิญชวนเพื่อเข้าร่วมงานวิจัย

                  - ผู้วิจัยชี้แจงรายละเอียดการวิจัยให้แก่นักกิจกรรมบำบัด และกรณีที่จะเข้าร่วมงานวิจัย ก็ให้ลงนามในเอกสารเซ็นยินยอมเข้าร่วมงานวิจัย
                  - ผู้เข้าร่วมวิจัยจะถูกสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลองที่ได้รับอุปกรณ์ดามที่ผลิตจากเทอร์โมพลาสติกที่ใช้ในทางการค้าจำนวน 29 คน และกลุ่มควบคุมที่ได้รับอุปกรณ์ดามที่ผลิตจากเทอร์โมพลาสติกที่พัฒนาขึ้นเองโดยมีต้นทุนต่ำจำนวน 29 คน โดยวิธีจับฉลาก

     - ผู้วิจัยนัดหมายผู้เข้าร่วมวิจัย โดยใช้เวลาในการเก็บข้อมูลทั้งหมดไม่เกิน 4 ชั่วโมง

     - ผู้เข้าร่วมวิจัยทำการผลิตอุปกรณ์ดาม 3 รูปแบบ จากแผ่นเทอร์โมพลาสติกที่ได้รับตามกลุ่ม ได้แก่ อุปกรณ์ดามนิ้ว (Finger splint) ใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที, อุปกรณ์ดามนิ้วหัวแม่มือ (Thumb Spica splint) ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที และอุปกรณ์ดามมือขณะพัก (Resting splint) ใช้เวลาไม่เกิน 45 นาที โดยลำดับการทำอุปกรณ์ดามจะถูกสุ่มว่าจะทำชนิดใดก่อนและหลัง เมื่อผู้เข้าร่วมวิจัยทำอุปกรณ์ดามเสร็จ 1 ชิ้น จะได้พักเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 นาทีทุกครั้งเพื่อป้องกันอาการล้า

     - ผู้เข้าร่วมวิจัยทำแบบสอบถาม“ความพึงพอใจและความคิดเห็นของนักกิจกรรมบำบัดต่อการใช้วัสดุเทอร์โมพลาสติกในการสร้างอุปกรณ์ดามมือ” หลังจากทำอุปกรณ์ดามทั้ง 3 ชนิด โดยใช้เวลาประมาณ 15 - 20 นาที

     - สำหรับกลุ่มทดลองจะได้รับการจับฉลากอีกครั้งเพื่อเป็นกลุ่มตัวอย่างสำหรับการทำสัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 10 - 12 คน โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที 
 

1.2 โครงการย่อยที่2: การศึกษาเปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้รับบริการที่มีการบาดเจ็บของมือ ข้อมือ และนิ้วมือที่ได้รับอุปกรณ์ดามมือที่ผลิตจากเทอร์โมพลาสติกที่พัฒนาขึ้นเองและเทอร์โมพลาสติกที่ใช้ในทางการค้า

     - ติดต่อโรงพยาบาลที่สนใจเข้าร่วมงานวิจัย ในกรณีที่โรงพยาบาลต้องการขอจริยธรรมงานวิจัยในโรงพยาบาลของตนเองนอกเหนือจากจริยธรรมงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้วิจัยจะทำเรื่องขออนุมัติจริยธรรมของโรงพยาบาลนั้นก่อนทำวิจัย

     - ผู้วิจัยทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์และติดสื่อเชิญชวนเพื่อเข้าร่วมงานวิจัย

     - ผู้วิจัยชี้แจงรายละเอียดการวิจัยให้แก่ผู้รับบริการที่มีการบาดเจ็บของมือ ข้อมือ และนิ้วมือที่ได้รับอุปกรณ์ดาม และกรณีที่จะเข้าร่วมงานวิจัย ก็ให้ลงนามในเอกสารเซ็นยินยอมเข้าร่วมงานวิจัย

     - ผู้เข้าร่วมงานวิจัยจะถูกสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มทดลองที่ได้รับอุปกรณ์ดามที่ผลิตจากเทอร์โมพลาสติกที่ใช้ในทางการค้าจำนวน 53 คน และกลุ่มควบคุมที่ได้รับอุปกรณ์ดามที่ผลิตจากเทอร์โมพลาสติกที่พัฒนาขึ้นเองโดยมีต้นทุนต่ำจำนวน 53 คน โดยวิธีจับฉลาก

     - ผู้เข้าร่วมวิจัยรับอุปกรณ์ดามขณะพักที่ผลิตโดยนักกิจกรรมบำบัดจำนวน 1 ชิ้น ซึ่งรูปแบบของอุปกรณ์ดามจะสอดคล้องกับพยาธิสภาพของผู้เข้าร่วมวิจัย หลังจากนั้นนักกิจกรรมบำบัดตรวจสอบการสวมใส่และความปลอดภัยหลังการจัดทำและให้ผู้เข้าร่วมวิจัยใส่อุปกรณ์ดามเป็นเวลา 3 วัน

     - เมื่อผู้เข้าร่วมวิจัยสวมใส่อุปกรณ์ดามครบ 3 วัน ผู้วิจัยทำการนัดหมายผู้เข้าร่วมวิจัยในการตอบแบบสอบถาม “ความพึงพอใจของผู้รับบริการอุปกรณ์ดามมือที่ผลิตจากวัสดุเทอร์โมพลาสติก” โดยใช้เวลาประมาณ 15 - 20 นาที
- สำหรับกลุ่มทดลองจะได้รับการจับฉลากอีกครั้งเพื่อเป็นกลุ่มตัวอย่างสำหรับการทำสัมภาษณ์เชิงลึกจำนวน 10 - 12 คน โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที
 

             ประโยชน์หรือผลลัพธ์

     - ได้ทราบความพึงพอใจต่ออุปกรณ์ดามที่สร้างโดยใช้วัสดุจากเทอร์โมพลาสติกที่พัฒนาขึ้นเองเปรียบเทียบกับเทอร์โมพลาสติกที่ใช้ในทางการค้าในนักกิจกรรมบำบัด

     - ได้ทราบความพึงพอใจต่ออุปกรณ์ดามที่สร้างโดยใช้วัสดุจากเทอร์โมพลาสติกที่พัฒนาขึ้นเองเปรียบเทียบกับเทอร์โมพลาสติกที่ใช้ในทางการค้าในผู้รับบริการที่มีการบาดเจ็บของมือ ข้อมือ และนิ้วมือที่ได้รับอุปกรณ์ดามมือ

            กลุ่มเป้าหมายหรือพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์

     นักกิจกรรมบำบัดและผู้รับบริการที่มีการบาดเจ็บของมือ ข้อมือ และนิ้วมือที่ได้รับอุปกรณ์ดามมือ

            ผลลัพธ์ (Impact) 

     ผลที่ได้จากการวิจัยนี้จะนำมาเป็นข้อมูลพื้นฐานถึงการใช้วัสดุเทอร์โมพลาสติกที่พัฒนาขึ้นเองในการใช้งานภาคสนามและนำมาใช้ปรับปรุงผลิตภัณฑ์สำหรับนำมาใช้ในการจัดทำอุปกรณ์ดามต่อไป

           ความต่อเนื่องและระยะเวลาของการดำเนินงาน

     ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ถึง 31 ตุลาคม 2566 และมีการประชุมรายงานความคืบหน้าทุก 1 เดือน

          ความร่วมมือหรือเครือข่ายที่ดำเนินงาน

     ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิด ได้พัฒนาเทอร์โมพลาสติกชนิดใหม่ขึ้นมา โดยจากการทดสอบในห้องปฏิบัติการ พบว่าเทอร์โมพลาสติกที่ผลิตขึ้นเองมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเทอร์โมพลาสติกที่ใช้ในทางการค้า ในด้านเวลาที่ใช้ในการแข็งตัวและด้านความทนทานไม่เสียรูปแตกง่าย แต่มีความเหนียวติดผิวหนังน้อยกว่า ซึ่งอาจช่วยลดการระคายเคืองต่อผิวหนังของผู้ป่วยได้ และก่อนที่จะนำแผ่นเทอร์โมพลาสติกที่ผลิตขึ้นเองนี้ไปใช้ในการสร้างอุปกรณ์ดาม ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียางจึงส่งตัวอย่างเทอร์โมพลาสติกที่ผลิตขึ้นเองให้กับคณะกายภาพบำบัดของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทดสอบทางภาคสนาม

Partners/Stakeholders

ศูนย์วิจัยเทคโนโลยียาง คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาควิชากิจกรรมบำบัด คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สาขากายวิภาคศาสตร์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล   มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

ผู้ดำเนินการหลัก
ผศ.ดร.กภ. คมศักดิ์ สินสุรินทร์
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
ดร.ก.บ.สุรชาต ทองชุมสิน ผศ.ดร.กฤษฎา สุชีวะ รศ.ดร.ชาคริต สิริสิงห ปริณ ธรรมวิเศษ ดร.ก.บ.อนุชาติ เขื่อนนิล ดร.ก.บ.วีรวัฒน์ แสนศรี ดร.กภ.พิชญา บารมี กภ. ศุภธิดา สรศักดิ์ ผศ.ดร. ก.บ.พีรเดช ธิจันทร์เปียง ก.บ. ศิรินันท์ ไชยพันธ์โก๋ รศ.ดร. กภ.จารุกูล ตรีไตรลักษณะ กณิศา ชัยชาญอุดมสุข สุภัททา เฉื่อยฉ่ำ รมณีย์ โรจน์อัศวเสถียร
ส่วนงานร่วม