โครงการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดการระบบสุขภาพชุมชนบางกอกน้อย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

detail

การพัฒนารูปแบบและการดำเนินงานโครงการดังกล่าว โดยการจุดประกายการแก้ปัญหาจากต้นเหตุ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้วางแผนพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม วิเคราะห์ข้อมูลจากฐานข้อมูลสุขภาพให้สอดคล้องตามบริบทและสถานการณ์ในพื้นที่ เพื่อให้ได้โจทย์จากความต้องการ มุ่งพัฒนาศักยภาพการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการพัฒนาระบบสุขภาพตนเองจากเครื่องมือและองค์ความรู้ เกิดเป็นเป้าหมายร่วมกันในการสร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพ และพัฒนาการเรียนรู้ของคนในสังคมไทยให้สามารถปรับตัวอย่างรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง มีการเตรียมความพร้อมการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพตามช่วงวัย การเรียนรู้แหล่งที่มา และการหาข้อมูลที่เชื่อถือได้เพื่อสร้างสุขภาวะที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

 

             คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เล็งเห็นความสำคัญในการเตรียมความพร้อมเชิงระบบในพื้นที่ชุมชนกึ่งเมือง (เขตบางกอกน้อย) เพื่อเป็นต้นแบบเมืองสุขภาพดี (Healthy City) ชุมชนสุขภาพดี (Healthy Community) จึงจัดทำโครงการสนับสนุนการมีส่วนร่วมในการจัดการระบบสุขภาพชุมชนบางกอกน้อย ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (โครงการบางกอกน้อยโมเดล 2) โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งจากการถอดบทเรียนในโครงการบางกอกน้อยโมเดล 1 พบว่า องค์ประกอบที่สำคัญของการดำเนินงานร่วมกับชุมชน คือ ศักยภาพและความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำชุมชนและประชาชน ซึ่งมีส่วนช่วยให้แผนบรรลุเป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ การคืนข้อมูลในรูปแบบการดำเนินโครงการต่อยอด เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เล็งเห็นจุดพัฒนา เพื่อการดูแลที่ครอบคลุม (Comprehensive Care : Prevention, Promotion, Treatment, and Rehabilitation)  ซึ่งมีการดำเนินการตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2563 - 30 มิถุนายน 2566

            

             โดยได้รับแหล่งทุนสนับสนุนจาก  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

                   

ผลลัพธ์ของพัฒนา “ฐานข้อมูลสุขภาพของชุมชน” เครื่องมือสำหรับพัฒนากิจกรรม โครงการ และองค์ความรู้ที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ระบบสุขภาพชุมชน เพื่อยกระดับการขับเคลื่อน และเชื่อมโยงกลไกการบริหารในระบบสุขภาพ เกิดเป็นโครงการย่อย ภายใต้โครงการบางกอกน้อยโมเดล 2 ดำเนินการระหว่างปี 2563 - 2566 จำนวน 8 โครงการ ดังนี้

1. โครงการ พัฒนาต้นแบบด้านการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในชุมชนกึ่งเมือง   
    ผู้จัดทำโครงการ  ผศ.นพ.ศรัทธา  ริยาพันธ์  ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

2. โครงการรูปแบบระบบการแจ้งเตือนมลพิษทางอากาศโดยชุมชนในบางกอกน้อย
    ผู้จัดทำโครงการ อ.พญ.ชามาศ วงค์ษา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

3. โครงการ บางกอกน้อย ปลอดภัย ไร้โรคอ้วน
     ผู้จัดทำโครงการ อ.พญ.กุสุมา ไชยสูตร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

4. โครงการพัฒนาการฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
     ผู้จัดทำโครงการ อ.พญ.สุมนา ศรีสูงเนิน ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

5. โครงการรูปแบบการพัฒนาต้นแบบการจัดการเรียนรู้เพศวิถี และการให้การจัดตั้งคลินิกการให้การปรึกษาในโรงเรียนมัธยมศึกษา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
     ผู้จัดทำโครงการ ผศ.เบ็ญจมาศ  โอฬารรัตน์มณี ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์

6. โครงการ การพัฒนาความรอบรู้ด้านสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงในชุมชน

     ผู้จัดทำโครงการ อ.ดร.เสาวลักษณ์ สุขพัฒนศรีกุล ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์

7. โครงการแกนนำเฝ้าระวังเบาหวานและความดันโลหิตสูงในชุมชนเมืองวิถีใหม่

     ผู้จัดทำโครงการ รศ.นพ. กรภัทร มยุระสาคร ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

8. โครงการต้นแบบโปรแกรมส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนบางกอกน้อย
     ผู้จัดทำโครงการ อ.พญ.กรมิกา สรรพวิทยกุล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

     สำหรับโครงการพัฒนาต้นแบบด้านการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในชุมชนกึ่งเมือง ขยายผลจากโครงการพัฒนาเครือข่ายอาสาสมัครกู้ชีพผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นฯ ในโครงการบางกอกน้อยโมเดล 1 ซึ่งต่อยอดเพื่อพัฒนาและทดสอบรูปแบบการสอนการช่วยชีวิตและการตอบสนองเมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินในชุมชนเขตบางกอกน้อย โดยจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในชุมชน เพื่อสร้างเครือข่ายระบบตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินภายในชุมชน และวางแผนการดำเนินกิจกรรมในชุมชนต่าง ๆ โดยดำเนินกิจกรรม ดังนี้

     1. การฝึกอบรม Training for the trainer เพื่อสร้าง The trainer (ครูช่วยสอน CPR) ลงสอนร่วมกับวิทยากรหลักในชุมชน

     2. กิจกรรมการสอนการช่วยชีวิตและการตอบสนองเมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินคอนโดมิเนียม ให้แก่นิติบุคคลและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เพื่อพัฒนาศักยภาพของประชาชนด้านการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในชุมชนเขตบางกอกน้อย

     3. กิจกรรมการสอนการช่วยชีวิตและการตอบสนองเมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินทางออนไลน์ โดยเรียนรู้การช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินจากชุดหุ่นฝึกหัด (หุ่น Cheewin) และสอนการช่วยชีวิตฉุกเฉิน ทาง Zoom cloud meeting เกิดเป็นเครือข่ายระหว่างภาคประชาชนกับโรงพยาบาล โดยสามารถนำความรู้และทักษะการช่วยชีวิตที่ได้เรียนรู้มาเผยแพร่ให้แก่ประชาชนต่อไปได้ในอนาคต

     4. สร้างระบบการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินในชุมชน ผ่านการแจ้งเหตุฉุกเฉินทาง Line official เพื่อให้อาสาสมัครกู้ชีพ รพ.ศิริราชที่อยู่ใกล้เคียงเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยก่อนรถพยาบาลไปถึง ดำเนินกิจกรรมใน 5 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนวัดรวกสุทธาราม ชุมชนตรอกข้าวเม่า ชุมชนซอยสุดสาคร ชุมชนวัดยางสุทธาราม และชุมชนวัดครุฑ

     5. สร้างระบบการตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินในคอนโดมิเนียม เพื่อให้เจ้าหน้าที่คอนโดมิเนียมเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยก่อนรถพยาบาลไปถึง และอำนวยความสะดวกให้แก่รถพยาบาล ดำเนินกิจกรรมใน 5 คอนโดมิเนียม ได้แก่ ลุมพินี พาร์ค ปิ่นเกล้า, ธนา แอสโทเรีย ปิ่นเกล้า, ธนา ทาวเวอร์, เดอะ พาร์คแลนด์ และลุมพินี พาร์ค บรมราชชนนี-สิรินธร คอนโดมิเนียม

     6. การฝึกอบรมทบทวน (Refresh course) สำหรับอาสาสมัครกู้ชีพ รพ.ศิริราช และ The trainer เพื่อทบทวนความรู้และทักษะการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินเป็นประจำ

     จากการดำเนินงานจะนำมาวิเคราะห์ข้อมูลและถอดบทเรียน  เพื่อจัดทำคู่มือการพัฒนาระบบด้านการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในชุมชนกึ่งเมือง และวางแผนนโยบายเพื่อสร้างความยั่งยืนในชุมชนระยะยาว เพื่อเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นที่มีความคล้ายคลึงกับชุมชนเขตบางกอกน้อยต่อไป

Partners/Stakeholders

ชื่อหน่วยงานที่ร่วมมือ ได้แก่

ภายใน : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

    1. ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

    2. ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

    3. ภาควิชาจิตเวชศาสตร์

    4. สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์

    5. ภาควิชาอายุรศาสตร์

    6. ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู

    7. ภาควิชาศัลยศาสตร์

    8. สถานวิทยามะเร็งศิริราช

    9. ภาควิชาจักษุวิทยา

   10. ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

   11. ฝ่ายวิจัย

ภายนอกคณะฯ :

   12. ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์

   13. ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์

   14. ชุมชนในเขตบางกอกน้อย

 

ผู้ดำเนินการหลัก
งานกิจกรรมเพื่อสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์, ภาควิชาการพยาบาลรากฐาน คณะพยาบาลศาสตร์, ชุมชนในเขตบางกอกน้อย