คลินิกเพศหลากหลาย (Gen V Clinic) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

detail

คลิกนิกเพศหลากหลาย (Gender Variation Clinic: Gen V Clinic) ให้บริการกลุ่มคนเพศหลากหลายทุกช่วงวัย

คลินิกเพศหลากหลายเป็นคลินิกที่ดูแลผู้ป่วยไม่จำกัดอายุ ให้บริการทุกวันศุกร์ที่ 1-4 ของเดือน (ศุกร์ที่ 5 ปิด) เวลา 13.00 – 15.30 น. โดยบริการให้คำปรึกษา ดังนี้ 

  • ความสับสนทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ
  • ปัญหาทางจิตใจของคนไข้เพศหลากหลาย เช่น อาการเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น
  • ก่อนและหลังผ่าตัดข้ามเพศ
  • บริการให้ยาฮอร์โมนข้ามเพศ ดูแลปัญหาเรื่องผิว สิว ขน ผมร่วงจากการรับยาฮอร์โมนข้ามเพศ โดยแพทย์ผิวหนัง และมีการสอนการฉีดยาฮอร์โมนกรณีฉีดเช้ากล้ามเนื้อแก่ผู้รับบริการ
  • บริการตรวจร่างกายอื่น ๆ สำหรับบุคคลข้ามเพศ เช่น ตรวจหาเชื้อ HIV ไวรัสตับอักเสบบี, ตรวจเต้านมประจำปี, ตรวจภายใน (กรณีไม่ได้ผ่าตัดมดลูกออกไป), ตรวจมวลกระดูก (หาภาวะกระดูกพรุนในกรณีที่หยุดยาฮอร์โมน)

จำนวนผู้ป่วยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 รวมทั้งสิ้น 451 ราย เป็นผู้ป่วยเก่า 285 ราย ผู้ป่วยใหม่ 166 ราย จำนวนครั้งของการมารับบริการ 1,115 ครั้ง

 

นอกจากนี้ คลินิกเพศหลากหลาย ยังมีการวิจัยเพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

 

งานวิจัยเรื่อง Characterizing Dermatological Conditions in the Transgender Population: A Cross-Sectional Study

ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Transgender Health โดยได้รับความร่วมมือระหว่างสาขาวิชาโรคผิวหนัง ร่วมกับคลินิกเพศหลากหลาย (Ramadermatology x Gen V Clinic) ของโรงพยาบาลรามาธิบดี

ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรก ๆ ของประเทศไทย ที่ศึกษาลักษณะทางผิวหนังหลังได้รับฮอร์โมนในกลุ่มคนข้ามเพศ การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังหลังได้รับฮอร์โมนในกลุ่มคนข้ามเพศ แบ่งตามชนิดฮอร์โมนที่ได้รับ เพื่อให้คนข้ามเพศมีลักษณะทางกายภาพตามเพศสภาพที่ตนเองต้องการ อาทิ ชายข้ามเพศ (Transmen) จะได้รับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน มักจะพบ สิว ผิวมัน ขนดก ผมบาง เสียงทุ้ม มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น เป็นต้น ในทางตรงกันข้าม (Transwomen) หญิงข้ามเพศ จะได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจน เพื่อให้มีลักษณะความเป็นหญิง เช่น สิวลดลง หน้ามันลดลง ผิวหนังชุ่มชื้น ขนลดลง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม หลังการได้รับฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ในกลุ่มคนข้ามเพศ ก็อาจเกิดผลข้างเคียง ที่ไม่พึงประสงค์ และอาจเป็นปัญหาในกลุ่มคนข้ามเพศ ที่ระยะเวลาที่แตกต่างกันหลังได้รับฮอร์โมน

จากงานวิจัย พบว่า ในชายข้ามเพศ จะเกิดสิวมากที่สุดหลังได้รับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ที่ 6 เดือน และสิวจะค่อย ๆ ดีขึ้นที่ 1-2 ปี หลังได้รับการรักษาด้วยยาทา หรือยากินเพื่อรักษาสิว โดยพบว่าระดับของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสะสมไม่มีผลต่อการเกิดสิว ในส่วนของภาวะขนดก ชายข้ามเพศหลังได้รับฮอร์โมน จะมีขนขึ้นในตำแหน่งที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนแอนโดรเจน เช่น หนวด อก หน้าท้องและบริเวณหัวหน่าว เป็นต้น และนอกจากนี้ยังพบภาวะผมร่วงจากฮอร์โมนในชายข้ามเพศ โดยมีลักษณะเหมือนกับผมบางจากพันธุกรรมในเพศชาย พบได้ร้อยละ 76 ที่ระยะ 2 ปีหลังได้รับฮอร์โมน และพบว่าระยะเวลาที่ได้รับฮอร์โมนมีความสัมพันธ์กับภาวะผมร่วงจากฮอร์โมนในชายข้ามเพศ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

ในส่วนของหญิงข้ามเพศ พบว่าหลังได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนต้านฮอร์โมนเพศชาย ช่วยให้สิวที่หน้าและหลังดีขึ้น และความมันของใบหน้าลดลง ตั้งแต่ 6 เดือนแรกหลังได้รับฮอร์โมน และติดตามไปที่ 3 ปี สิวก็ลดลงอย่างชัดเจน และภาวะขนดกในตำแหน่งที่เป็นผลจากฮอร์โมนแอนโดรเจนก็พบขนลดลงเช่นกัน ซึ่งเป็นผลที่น่าพึงพอใจในหญิงข้ามเพศ แต่กลับพบว่าฝ้าเป็นมากขึ้นในหญิงข้ามเพศ ประมาณ 1 ใน 3 และสิ่งที่น่าสนใจพบภาวะผมร่วงในหญิงข้ามเพศที่มีลักษณะคล้ายผมร่วงในผู้หญิงที่เกิดจากพันธุกรรม ร้อยละ 16 หลังจากได้รับฮอร์โมน ซึ่งอธิบายได้จากอัตราส่วนของฮอร์โมนเอสโตรเจนต่อฮอร์โมนแอนโดรเจนที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้เกิดผลร่วงได้ในหญิงข้ามเพศ

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://doi.org/10.1089/trgh.2021.0105

ติดต่อได้ที่: อาคาร 1 ชั้น 2 Gen V clinic คลินิกเด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-201-1244 ,02-201-1241

Facebook: Gen V Clinic

Partners/Stakeholders

-

ผู้ดำเนินการหลัก
คลินิกเพศหลากหลาย (Gen V Clinic)
ส่วนงานหลัก