ปรึกษาสุขภาพใจ...ในมหาวิทยาลัย

detail
SDGs ที่่เกี่ยวข้อง

ปัญหาทางด้านสุขภาพใจ เป็นปัญหาที่จัดการได้ ดูแลได้ เมื่อเราเข้าใจ ยอมรับ…เราจะพบทางออกไปด้วยกัน

เมื่อมีปัญหาหรือเรื่องไม่สบายใจ มีปัญหาด้านสุขภาพจิต การปรับตัว การเรียน การทำงาน ปัญหาครอบครัว หรือความสัมพันธ์ เครียด กังวล หรือเศร้า ท้อแท้ เบื่อหน่ายภาวะเครียด อารมณ์แปรปรวน ซึมเศร้า หรือต้องการปรึกษาด้านสุขภาพจิตหรือความเครียด นักศึกษา บุคลากร มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถเข้าใช้บริการของมหาวิทยาลัย ที่ให้บริการให้คำปรึกษา คำแนะนำได้ดังนี้

นักศึกษาที่มีความทุกข์ใจ หรือความเครียดสามารถรับการปรึกษาปัญหาการเรียน สัมพันธภาพ การปรับตัว หรือเรื่องอื่น ๆ สามารถมารับคำปรึกษาจากกจิตวิทยา (psychologist) หรือผู้ให้คำปรึกษา (counselor)  โดยใช้เวลาในการพูดคุย 30-60 นาที 
กรณีที่นักศึกษามีปัญหาเร่งด่วนฉุกเฉิน สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนสุขภาพใจ MU Hotline 088-8747385 ตลอด 24 ชั่วโมง 
หากนักศึกษาไม่สะดวก สามารถขอคำปรึกษาที่คณะได้โดยสามารถดูรายละเอียดที่ สถานที่ให้คำปรึกษา ประจำส่วนงาน

 

Counseling Service @ MU Health

บริการสำหรับนักศึกษาที่ต้องการรับการปรึกษา  จาก กองกิจการนักศึกษา ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์  
โดย อาจารย์จากภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์
ให้บริการทุกวันพุธ บ่าย (13.00-16.00 น.) ณ MU Health ศาลายา
สามารถนัดหมายล่วงหน้า ได้ที่  MU Friend  โทร. 02-8494538

 

 

ให้บริการแก่วัยรุ่นและครอบครัว รวมทั้งนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลในด้านการเรียน ความสัมพันธ์ การปรับตัว อารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม เพื่อให้สามารถเจริญเติบโต และพัฒนาไปสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีทักษะชีวิต รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคม 

อีกหนึ่งความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล และ OOCA ซึ่งเป็น platform ปรึกษาจิตแพทย์ออนไลน์ ที่ช่วยให้น้อง ๆ สามารถพูดคุยปัญหากับจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ผ่านทาง Video call โดยเข้าใช้งานได้อย่างเป็นส่วนตัวและปลอดภัย ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ ในโครงการ “Wall of Sharing-กำแพงพักใจ”  ที่จะทำให้น้อง ๆ มีสุขภาวะทางใจที่ดีขึ้น

 

​ 

AI CHATBOT FOR MENTAL HEALTH AND EMOTIONAL SUPPORT

แชทบอทที่ให้บริการผ่านทางเฟสบุค โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์  (Artificial Intelligence : AI) ผู้ช่วยเหลือด้านอารมณ์และสุขภาพจิต ในแบบที่เข้าถึงง่ายและสะดวก รวดเร็วและไม่มีค่าใช้จ่าย โดย ความร่วมมือระหว่างภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (สนับสนุนโดยทุน กทปส. ภายใต้การกำกับของ กสทช.)

น้อง "ใส่ใจ" จะช่วยวิเคราะห์อารมณ์จากเนื้อหาการพูดคุยและมีระบบจัดการการสนทนา (Dialogue Management) สำหรับส่งข้อความโต้ตอบให้สอดคล้องกับอารมณ์และประเด็นปัญหาที่ปัญญาประดิษฐ์วิเคราะห์หรือตรวจจับได้

 

เมื่อประเมินแล้วพบว่ามีแนวโน้มที่อาการรุนแรง สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรอง และรับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำด้านสุขภาพจิต ในคลินิกด้านจิตเวช ของมหาวิทยาลัย ได้ดังนี้

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ให้บริการนักศึกษาทุกคณะรวมถึงบุคลากรมามากกว่า 15 ปี เมื่อนักศึกษา มีปัญหาพฤติกรรมหรือสุขภาพจิตซึ่งต้องการคำปรึกษา สามารถติดต่อนักจิตวิทยาเพื่อรับการประเมินเบื้องต้นและให้คำปรึกษา ตลอด 24 ชั่วโมง

  • กรณีที่ประเมินแล้วพบว่าเป็นความเครียดปกติ นักจิตวิทยาจะให้คำปรึกษาและนัดติดตามจนจบการศึกษา 
  • หากประเมินแล้วสงสัยโรคทางจิตเวช นักจิตวิทยาจะแนะนำคลินิกสุขภาพจิต และขอความยินยอมการรักษา ก่อนส่งต่อให้นักจิตวิทยาคลินิกและจิตแพทย์ เพื่อให้คำปรึกษาและประเมินความรุนแรง เรื่องความเสี่ยงสูงที่จะทำร้ายตัวเอง/ผู้อื่น หรือ มีภาวะฉุกเฉินทางจิตเวช หากมีภาวะที่รุนแรงจะมีการแจ้งผู้ปกครองหรือญาติสายตรง เพื่อรับทราบอาการและการรักษา ทั้งนี้นักจิตวิทยาจะติดตามพฤติกรรมระหว่างการศึกษา/ปฏิบัติงาน และให้การสนับสนุนเบื้องต้นและแจ้งข้อมูลให้อาจารย์จิตแพทย์รับทราบ

โดยนักจิตวิทยาและจิตแพทย์จะทำงานร่วมกันและมีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งมีนักศึกษามารับบริการมากกว่า 100 คน รวมทั้งนักศึกษาต่างชาติและนักศึกษาแลกเปลี่ยน และดูแลจนกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ดูแลผู้ป่วย อายุ 10-24 ปี

  • ให้คำปรึกษา คำแนะนำ และส่งเสริมสุขภาพตามภาวะสุขภาพและการปรับตัวของตัววัยรุ่นและครอบครัว
    • ไม่ว่าจะเป็นปัญหาครอบครัว การเลี้ยงดู
    • ปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ
    • พฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ติดเกม การใช้สารเสพติด อาการเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น
    • พฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์และการคุมกำเนิด
    • การเรียน ไม่อยากไปโรงเรียน การแกล้งรังแกในโรงเรียน
    • การเจริญเติบโต เช่น ความสูง ความอ้วน พฤติกรรมการกินที่ผิดปกติ สิว ประจำเดือนผิดปกติ
    • ประเมินด้านสุขภาพกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม
    • สร้างเสริมทักษะชีวิต ความภาคภูมิใจในตนเอง
  • ให้การรักษา คำปรึกษา และแนะนำวิธีแก้ไขปัญหากับผู้ป่วยและครอบครัว ในกรณีผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังแล้วทำให้มีผลกระทบกับการดำเนินชีวิต เช่น การไม่รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ไม่ให้ความร่วมมือในการรักษา ความนับถือตนเองต่ำ พร้อมทั้งประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือ

โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา พยาบาล โดยมีการให้บริการกับคนไข้ทั่วไปและนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

จำนวนผู้ป่วยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 รวมทั้งสิ้น 156 ราย เป็นผู้ป่วยเก่า 86 ราย ผู้ป่วยใหม่ 70 รายจำนวนครั้งของการมารับบริการ 530 ครั้ง

ให้บริการทุกวันศุกร์ เวลา 9.00-12.00 น.

  • คลินิกแม่วัยรุ่น 

ดูแลผู้ป่วย อายุ 15-20 ปี (ถ้าอายุน้อยกว่า 15 ปี เป็นคลินิก Child Protection)

เริ่มด้วยการประเมิน HEEADSSS assessment 

  • ให้คำปรึกษาทางเลือกการตั้งครรภ์ คำแนะนำปัญหาที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ตามอายุครรภ์ และนัดติดตามทุกไตรมาสของการตั้งครรภ์ โดยจะประเมินสภาพจิตใจและปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์ควบคู่ไปกับให้ความรู้และคำแนะนำแก่แม่วัยรุ่นตามสภาพปัญหาและ ระยะการตั้งครรภ์
  • ให้ความรู้เรื่องการคุมกำเนิดกับแม่วัยรุ่นและผู้ปกครอง ตั้งแต่ครั้งแรก โดยใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดสื่อการสอนแผ่นพับ โมเดล เพื่อให้เข้าใจง่าย และมีเวลาในการตัดสินใจร่วมกับผู้ปกครอง รวมถึงการติดตามสภาพจิตใจของแม่วัยรุ่น
  • ประเมินความพร้อมในการดูแลบุตร ความรู้ในการเลี้ยงดูบุตร การให้นมแม่ การคุมกำเนิด การกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา/การประกอบอาชีพ
  • ประเมินภาวะซึมเศร้าหลังคลอด การดูแลสุขภาพของแม่และเด็กตามอายุ  ตรวจสุขภาพบุตร/ให้วัคซีนตามอายุ
  • เสริมทักษะชีวิตและความภูมิใจในตนเองโดยประสานงานร่วมกับสหสาขาวิชาชีพ

จำนวนผู้ป่วยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565  ทั้งสิ้น 35 ราย เป็นผู้ป่วยใหม่รายใหม่ทั้งหมด มารับบริการรวม 42 ครั้ง

ให้บริการทุกวันศุกร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน เวลา 13.00 - 15.30 น.

คณะพยาบาลศาสตร์

บริการส่งเสริมสุขภาพจิต แก่นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป
ให้บริการปรึกษาแก่นักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่ศูนย์บริการปรึกษาของภาควิชา ทาง facebook ภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์  โทร 089-6861316

 

หากต้องการประเมินภาวะของตนเองเบื้องต้น สามารถใช้แบบทดสอบดังต่อไปนี้ในการประเมินเบื้องต้น 

ทั้งนี้ ผลการประเมินและคำแนะนำที่ได้รับจากโปรแกรมนี้จึงไม่สามารถใช้แทนการตัดสินใจของแพทย์ได้ การตรวจรักษาเพิ่มเติมหรือการให้ยารักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และการปรึกษากันระหว่างแพทย์และตัวท่าน

Partners/Stakeholders
  • คณะวิศวกรรมศาสตร์
  • ​สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
  • OOCA : Wall Of Sharing