ธาลัสซีเมียและฮีโมโกลบินผิดปกติ เป็นกลุ่มของความผิดปกติเนื่องจากพันธุกรรมที่พบซุกชุมมากในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในเอเซียอาคเนย์ ร้อยละ 20 ของคนในกรุงเทพฯ และร้อยละ 30 ของคนในจังหวัดเชียงใหม่ มียีนส์ (สารพันธุกรรม) ของธาลัสซีเมียชนิดหนึ่งเรียกว่า "อัลฟ่า-ธาลัสซีเมีย" โดยเฉลี่ยร้อยละ 13 ของคนในภาคกลาง และร้อยละ 40-50 ของคนในภาคอีสานมียีนส์ของฮีโมโกลบินผิดปกติชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "ฮีโมโกลบิน อี (hemoglobin E)" นอกจากนั้นยังพบยีนส์ผิดปกติอื่น ๆ ในกลุ่มนี้อีกหลายตัว เมื่อผู้ที่มียีนส์ผิดปกติต่าง ๆ เหล่านี้แต่งงานกันจะให้ลูกที่ได้รับยีนส์ในส่วนผสมแบบต่าง ๆ กันได้มากกว่า 60 ชนิด บางชนิดอาจมีอาการรุนแรงมากจนเด็กตายทั้งหมดตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรือหลังคลอดใหม่ๆ บางชนิดผู้ที่เป็นมีอาการแคระแกรน โลหิตจางมาก มีดีซ่าน ตับ ม้ามโต เจ็บไข้ได้ป่วยด้วยเรื่องต่าง ๆ เป็นประจำ ผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถศึกษาเล่าเรียนหรือทำงานได้เหมือนคนปกติ จึงเป็นปัญหาแก่สังคมที่จะต้องเลี้ยงดูและให้การรักษาเยียวยา ครอบครัวใดที่มีลูกเป็นโรคนี้ 1 หรือ 2 คน ก็นับว่าเป็นโศกนาฏกรรมอย่างยิ่ง จำนวนผู้ที่มียีนส์ผิดปกติในประเทศไทยมีประมาณ 15-20 ล้านคน คนเหล่านี้ไม่มีอาการแต่ถ่ายทอดยีนส์ผิดปกติไปเรื่อยๆ ผู้ที่เป็นโรคซึ่งหมายถึงมีอาการประมาณ 500,000 คน โรคธาลัสซีเมียจึงมิได้เป็นปัญหาเฉพาะทางการแพทย์ แต่เป็นปัญหาทางสังคมและเศรษบกิจสำหรับประเทศด้วย
ศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้มามากกว่า 30 ปี ทั้งทางกว้างและทางลึก เกี่ยวกับปัญหาทางคลินิก การศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างความผิดปกติของยีน (genotype) และความรุนแรงของโรค (phenotype) วิธีการรักษาใหม่ ด้วยยาขับเหล็ก ตลอดจนการควบคุมป้องกันโรคมีความประสงค์ที่จะทำการศึกษาปัญหาธาลัสซีเมียร่วมกับแพทย์ พยาบาล และบุลากรอื่นที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือ ดังนี้
1. ร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์นครปฐมทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นปัญหาทางสาธารณสุข เศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย งานวิจัยจะทำทุก ๆ ด้าน ตั้งแต่ระดับคลินิกจนถึงระดับโมเลกุล มีการศึกษาและพัฒนายาที่ขับธาตุเหล็กออกจากร่างกายชนิดรับประทาน หรือยับยั้งการดูดซึมธาตุเหล็ก โดยร่วมมือกับภาควิชาอื่นๆ ภายในและนอกมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และนำความรู้ดังกล่าวมาประยุกต์ใช้บริการรักษาผู้ป่วยให้ดีขึ้น
2. ร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์นครปฐมให้บริการตรวจ รักษาและแนะนำแก่คนไข้โรคธาลัสซีเมีย รวมทั้งครอบครัว โดยจัดตั้งคลินิกโรคธาลัสซีเมียเพื่อให้บริการดังกล่าวทุกวันจันทร์
3. ร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์นครปฐมทำการควบคุม และวางแผนการควบคุมโรคนี้ในเขตจังหวัดนครปฐมและปริมณฑล
4. ร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์นครปฐมฝึกอบรมความรู้เรื่องธาลัสซีเมียให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรอื่น ที่โรงพยาบาลศูนย์นครปฐมและโรงพยาบาลอื่น ๆ