โครงการวัคซีนเพื่อรับมือปัญหา: การศึกษาภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล (Digital Resilience) และ Cyberbullying ของกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย

detail

ปัญหาการรังแกกันในพื้นที่ออนไลน์ (Cyberbullying) ในกลุ่มเยาวชนอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง การรับมือกับความไม่ปลอดภัยในโลกออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การส่งเสริมให้เยาวชนแค่มี “ทักษะการรู้เท่าสื่อ” เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอแล้วสำหรับโลกยุคดิจิทัลที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน การมีภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล (Digital Resilience) จึงอาจจะเป็นในวิธีการใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนเกิดการใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสร้างให้พวกเขาเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีวัคซีนที่จะสามารถรับมือกับปัญหาความไม่ปลอดภัยในโลกออนไลน์ได้

          ปัญหาการรังแกกันในพื้นที่ออนไลน์ (Cyberbullying) ในกลุ่มเยาวชนอยู่ในภาวะที่น่าเป็นห่วง จากงานวิจัยพบว่าเยาวชนเป็นผู้กระทำ ร้อยละ 43 เป็นผู้ถูกกระทำ ร้อยละ 49 และเป็นผู้พบเห็น ถึงร้อยละ 76 ซึ่งรูปแบบความรุนแรงที่พบมากที่สุด คือ การถูกด่าทอ โจมตี ข่มขู่ออนไลน์ ซึ่งจากการวิจัยยังพบว่าพฤติกรรมการรังแกในพื้นที่ออนไลน์มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ มากมาย เช่น ผู้ถูกรังแกมีแนวโน้มที่จะมีเกรดเฉลี่ยน้อย มีแนวโน้มที่จะขาดเรียน ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน อยู่ในภาวะซึมเศร้าที่สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ถูกรังแก และจากการศึกษาหลาย ๆ ชิ้นก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการถูกรังแกในพื้นที่ออนไลน์นั้น นำไปสู่ผลกระทบในมิติสุขภาพ คือ ทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล หดหู่ และไม่สบายใจ ความรู้สึกเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว อาจทำให้นอนไม่หลับ คิดมาก และในกรณีที่ร้ายแรงมาก อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ในที่สุด จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยของโลกออนไลน์ที่สามารถคุกคามสุขภาวะของผู้ใช้สื่อออนไลน์ได้ ถ้าผู้ใช้เหล่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยาวชนที่ขาดภูมิคุ้มกันในการใช้สื่ออย่างปลอดภัย

          การรับมือกับความไม่ปลอดภัยในโลกออนไลน์รูปแบบต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น การส่งเสริมให้เยาวชนแค่มี “ทักษะการรู้เท่าสื่อ” เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอแล้วสำหรับโลกยุคดิจิทัลที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นในปัจจุบัน การมีภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล (Digital Resilience) จึงอาจจะเป็นในวิธีการใหม่ที่จะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนเกิดการใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสร้างให้พวกเขาเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีวัคซีนที่จะสามารถรับมือกับปัญหาความไม่ปลอดภัยในโลกออนไลน์ได้ ซึ่งทักษะที่สำคัญของคนที่มีภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล คือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ มีความรับผิดชอบต่อสังคมออนไลน์ รู้วิธีและแหล่งที่จะขอความช่วยเหลือ รู้จักที่จะปกป้องผู้อื่น และรู้กฎหมายสื่อออนไลน์

          ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือในทุกภาคส่วนในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรมทางสังคม เพื่อลดปัญหาความไม่ปลอดภัยในการใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการรังแกในพื้นที่ออนไลน์ และร่วมกันเพิ่มภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล (Digital Resilience) ให้กับเยาวชนที่เป็นผู้ใช้สื่อออนไลน์แทบตลอดเวลาและยังเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ในโลกดิจิทัล ให้สามารถมีภูมิคุ้มกันและจัดการกับความไม่ปลอดภัยบนโลกดิจิทัล พร้อมทั้งสามารถเป็นพลเมืองในโลกดิจิทัลที่ร่วมสร้างนิเวศที่ปลอดภัยให้กับการใช้สื่อออนไลน์ในปัจจุบันได้ โครงการวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษา Baseline Data ในประเด็น Digital Resilience และ Cyberbullying ในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษา 2) ค้นหาปัจจัยที่เป็นภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัลที่ซึ่งเสริมสร้างพลังงานอำนาจในการรับมือกับ Cyberbullying ของเยาวชน 3) ผลิตสื่อสร้างสรรค์ในประเด็น Digital Resilience เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ 4) พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือการวิจัย โดยทำ MOU ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม เพื่อพัฒนาการทำงาน ทดลองแนวทางการดำเนินงาน และต่อยอดงานวิจัยร่วมกัน

          ผลการดำเนินงานของโครงการจึงนำไปสู่ผลลัพธ์ต่าง ๆ ประกอบด้วย 1) ได้องค์ความรู้ที่เป็นข้อมูลพื้นฐาน (Baseline Data) ในประเด็นภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล (Digital Resilience) และการรังแกในพื้นที่ออนไลน์ (Cyberbullying) ในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย    2) องค์ความรู้เกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล (Digital Resilience) ที่ซึ่งเสริมสร้างพลังอำนาจในการรับมือกับ Cyberbullying ของเยาวชน 3) เกิดเครือข่ายงานวิจัยใน 5 ภูมิภาค เกี่ยวกับ Cyberbullying และภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล (Digital Resilience) 4) ได้สื่อสร้างสรรค์ที่สร้างความเข้าใจในประเด็นเรื่อง Digital Resilience ที่เผยแพร่ในสังคมออนไลน์ 5) เกิดข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย และมูลนิธิอินเตอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เพื่อพัฒนาการทำงาน ทดลองแนวทางการดำเนินการร่วมกัน 6) ช่องทางการสื่อสารสาธารณะในประเด็นเรื่อง Digital Resilience เช่น Facebook Fan Page เป็นต้น เพื่อส่งเสริมเยาวชนไทยได้รับวัคซีนที่เป็นภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัลที่จะสามารถจัดการกับความไม่ปลอดภัยออนไลน์ และเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ร่วมกันสร้างนิเวศที่ปลอดภัย และสามารถใช้สื่อออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต

          วันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2564 คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้จัดพิธีลงนาม MOU ความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาทักษะ Digital Resilience อย่างรอบด้านสำหรับเยาวชนไทย ภายใต้ "โครงการวัคซีนเพื่อรับมือปัญหา: การศึกษาภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล (Digital Resilience) และ Cyberbullying ของกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย" โดยมี ศาสตราจารย์ นพ.วชิร คชการ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ ผู้แทนมหาวิทยาลัยมหิดลในการลงนามครั้งนี้ และรองศาสตราจารย์ ดร.โธมัส กวาดามูส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ หัวหน้าหน่วยความเป็นเลิศด้านการวิจัย เพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาพ กล่าวเปิดและแนะนำโครงการในฐานะหัวหน้าโครงการ

          การลงนามในครั้งนี้ เป็นการลงนามร่วมกับหน่วยงานอื่นอีก 8 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สภาเด็กและเยาวชนแหง่ประเทศไทย, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วยการเปิดตัว Comprehensive online platform ที่พัฒนาขึ้นในโครงการ การบรรยายบทบาทและก้าวต่อไปในการทำงานด้าน Cyberbullying และ Digital Resilience โดยผู้แทนจาก 9 หน่วยงาน และการบรรยายพิเศษหัวข้อ "ทำอย่างไรให้เด็กไทยมีภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อออนไลน์" โดย อาจารย์ ดร.รับขวัญ ภูษาแก้ว หัวหน้าศูนย์แนะแนว โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม โดยมี ดร.ปานระพี รพิพันธุ์ ผู้ผลิตรายการและพิธีกรรายการโทรทัศน์ช่อง 3 เป็นผู้ดำเนินรายการ

Partners/Stakeholders

กระทรวงวัฒนธรรม, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย,
มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

ผู้ดำเนินการหลัก
รองศาสตราจารย์ ดร.โธมัส กวาดามูช
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
กระทรวงวัฒนธรรม, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สภาเด็กและเยาวชนแหง่ประเทศไทย, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์