ห้องปฏิบัติการประเมินความปลอดภัยทางอาหารและชีวภาพ (การตรวจวิเคราะห์สารตกค้างยาฆ่าแมลง ในผัก ผลไม้)

detail

การนำศักยภาพด้านการวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการและทางคลินิกไปช่วยส่งเสริมการพัฒนาผลผลิตเกษตรปลอดภัยที่มีมูลค่าสูงรองรับตลาดอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารแห่งอนาคต

               คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มโครงการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการทางเทคนิคการแพทย์ “ผักและผลไม้ที่ปลอดภัยเพื่อครัวโลก” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในการบริโภคอาหารที่มีความปลอดภัยจากสารตกค้างยาฆ่าแมลง หรือสารกำจัดศัตรูพืช ที่อาจปนเปื้อนอยู่ในผักและผลไม้
               สืบเนื่องจากผลการริเริ่มดำเนินการโครงการพัฒนาเกษตรและอาหารปลอดภัย : การตรวจรับรองเกษตรและอาหารปลอดภัยจากสารตกค้างยาฆ่าแมลงในกลุ่มภาคกลาง  ปีงบประมาณ 2561 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้นำความเชี่ยวชาญด้านการตรวจวิเคราะห์โดยเทคนิคที่มีความไวและความจำเพาะสูง มาช่วยในการตรวจวิเคราะห์สถานะทางสุขภาพและสารตกค้างในกลุ่มเกษตรกร การตรวจวิเคราะห์สารตกค้างยาฆ่าแมลงที่แปลงปลูกควบคู่กับการวิเคราะห์ผลผลิตทางการเกษตรและตัวอย่างอาหาร  เพื่อส่งเสริมเกษตรและอาหารปลอดภัย และยกระดับมาตรฐานโดยการตรวจรับรองสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตผักและผลไม้ที่ปลอดจากสารพิษตกค้างยาฆ่าแมลง โลหะหนัก และเชื้อก่อโรค ในพื้นที่หลักโดยใช้นครปฐม เป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาศักยภาพการผลิตด้านเกษตรในพื้นที่ ที่ส่งผลต่อเนื่องทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพัฒนาอาชีพที่สร้างมูลค่าเพิ่ม การยกระดับรายได้ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ผู้ป่วยในโรงพยาบาล และผู้บริโภคโดยทั่วไป รวมถึงพื้นที่ในกลุ่มจังหวัดภาคกลาง 8 จังหวัด โดยความร่วมมือร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคกลาง (นครปฐม สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์) ในการบูรณาการการทำงานตลอดห่วงโซ่คุณค่า (value chain)

ต้นทาง มีการสำรวจและพัฒนาแปลงเป้าหมายสู่เกษตรปลอดภัย (จำแนกตามผลผลิต) ผ่านการจัดสัมมนาฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ การตรวจวิเคราะห์สถานะทางสุขภาพและสารตกค้างในร่างกายให้แก่กลุ่มเกษตรกร รวมถึงการสุ่มตรวจวิเคราะห์แปลงและการให้คำแนะนำในปัจจัยและกระบวนการผลิตต่าง ๆ

กลางทาง การตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพื่อการรับรองผลผลิตเกษตรปลอดภัย ใน 4 กลุ่ม ได้แก่

1) กลุ่มสารตกค้างยาฆ่าแมลง สารต้านเชื้อรา และสารอื่น ๆ

2) กลุ่มโลหะหนัก

3) กลุ่มเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค  

4) กลุ่มปรสิตและไข่พยาธิ   

ปลายทาง การส่งต่อผลผลิตเกษตรปลอดภัยเข้าสู่โรงพยาบาลต่าง ๆ ในจังหวัดนครปฐม 9 โรงพยาบาล และขยายสู่การสนับสนุนนโยบายโรงพยาบาลอาหารปลอดภัยของกระทรวงสาธารณสุขจำนวนประมาณ 50 โรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 5 โดยมีราคาการรับซื้อที่สูงขึ้นประมาณร้อยละ 30-40 จากราคาผลผลิตเกษตรทั่วไป นอกจากนั้น ผลผลิตเหล่านี้ ยังถูกเชื่อมโยงไปสู่ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ตลาดและร้านอาหารสุขภาพจำนวนหนึ่ง

ทั้งนี้ ผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานได้ถูกนำกราบเรียนท่านนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และได้ถูกขยายผลไปสู่การพัฒนาโครงการ “Green Army, Green Farmer เพื่อประเทศชาติและประชาชน” ซึ่งมีเป้าหมายการร่วมพัฒนาเกษตรปลอดภัยในพื้นที่ที่ทหารดูแลรับผิดชอบ เพื่อร่วมกันต่อยอดในระดับประเทศ สนองต่อนโยบายเกษตรแปลงใหญ่และเกษตรกรรมยั่งยืนของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
                และในปีงบประมาณ 2562  คณะฯ ได้รับจัดสรรงบประมาณต่อเนื่อง โดยได้รับเงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัยในโครงการ “การตรวจรับรองเกษตรและอาหารปลอดภัยจากสารตกค้างยาฆ่าแมลงในกลุ่มภาคกลาง” เพื่อให้คณะเทคนิคการแพทย์ ได้ดำเนินการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนาเกษตรปลอดภัย ในการส่งเสริมการเกษตรและอาหารปลอดภัย ซี่งในช่วงปีที่ 2 นี้เป็นการมุ่งเน้นการติดตามผลการดำเนินงานจากต้นทางจากการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาผลิตเกษตรและอาหารปลอดภัย เพื่อส่งมอบอาหารปลอดภัยไปสู่ผู้บริโภคกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยในโรงพยาบาล กลุ่มบุคลากรที่อยู่ในหน่วยงานของรัฐและเอกชน และกลุ่มผู้บริโภค และประชาชนทั่วไป
                นอกเหนือจากการตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างยาฆ่าแมลง ในปัจจุบัน คณะฯ ยังได้ขยายขอบเขตการตรวจวิเคราะห์ให้มีครอบคลุมกับการตรวจหาโลหะหนัก เชื้อจุลชีพ และปรสิตที่อาจปนเปื้อนในผักผลไม้ ซึ่งอาจนำมาสู่การก่อโรคหรือส่งผลต่อสุขภาพผู้บริโภคได้และพัฒนาต่อยอดสู่การพัฒนาชุดตรวจทดสอบเพื่อหาสารตกค้างยาฆ่าแมลง เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพของผู้บริโภค ยังมีแผนงานการยกระดับห้องปฏิบัติการทางเทคนิคการแพทย์ ให้ได้รับมาตรฐานระดับนานาชาติและมีศักยภาพสูงในการนำมาใช้ในการทดสอบทางคลินิกเพื่อรองรับการพัฒนาสูตรอาหารทางการแพทย์ (Function food) และกระบวนการผลิตอาหารมูลค่าสูงเพื่อสุขภาพ (Healthy Food for the Future)  เช่น วัตถุดิบทางการเกษตรที่มีฤทธิ์ช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือด เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ,วัตถุดิบทางการเกษตรที่มีฤทธิ์ช่วยในการลดระดับกรดยูริก เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ เป็นต้น
                และด้วยความมุ่งมั่นในปณิธานคือ คณะเทคนิคการแพทย์ คือเป็นสถาบันชั้นนำ มุ่งพัฒนาเพื่อสังคม  ดังนั้นคณะฯ จึงมีนโยบายด้านบริการวิชาการ การตรวจวิเคราะห์ความปลอดภัยในสินค้าให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสากล ISO 17025:2017 ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจของมหาวิทยาลัยมหิดล คือ การมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลก World Class University ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือประชาชนมีสุขภาพ และคุณภาพชีวิตที่ดี มีผักผลไม้ และสินค้าที่ปลอดภัยเพื่อการบริโภค ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนเป้าหมายการดำเนินการดังกล่าว ห้องปฏิบัติการประเมินความปลอดภัยทางอาหารและชีวภาพ จึงมีความพร้อมทางห้องปฏิบัติการ เพื่อเข้าสู่การขอรับรองมาตรฐานห้องปฏิบัติการตามมาตรฐานคุณภาพ ISO 17025:2017

 

Partners/Stakeholders

1. กลุ่มเกษตรกร

2. ผู้บริโภคในกลุ่มต่างๆ อันได้แก่ ผู้ป่วยในโรงพยาบาล ประชาชนในพื้นที่จังหวัด ผู้บริโภคทั่วไป

3. หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น รพ.ราชวิถี  กรมการค้าภายใน 

ผู้ดำเนินการหลัก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลรัตน์ โพธิ์ปิ่น
ส่วนงานหลัก