ประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์

detail

ความเข้มข้นของกรดไขมันทรานส์ในอาหารต่าง ๆ สูงกว่าค่ามาตรฐาน WHO (> 0.5 กรัม / มื้อ) เพิ่มความเสี่ยงของ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ 

ประเทศไทยปลอดไขมันทรานส์
 

งานวิจัยเรื่อง “ประเทศไทย, ประเทศปลอดไขมันทรานส์” ดำเนินการโดยสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าความเข้มข้นของกรดไขมันทรานส์ในอาหารต่าง ๆ สูงกว่าค่ามาตรฐาน WHO (> 0.5 กรัม / มื้อ) เพิ่มความเสี่ยงของ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการยอมรับจากรัฐบาลแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ. 2561 เรื่อง “อาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อวางนโยบายการบริหารจัดการและการควบคุมปัญหาการปนเปื้อนของกรดไขมันชนิดทรานส์ ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศและส่งออก รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า” โดยกำหนดห้ามใช้น้ำมันเติมไฮโดรเจนและผลิตภัณฑ์อาหารบางส่วนที่มีน้ำมัน เติมไฮโดรเจนบางส่วนเพื่อการผลิตนำเข้าและจำหน่าย การออกประกาศนี้จะลดความเข้มข้นของกรดไขมันทรานส์ในอาหารต่ำกว่าค่ามาตรฐานของ WHO

 


 

การปนเปื้อนของกรดไขมันชนิดทรานส์ในอาหาร มีผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของผู้บริโภค จึงเป็นข้อกังวลสำหรับหน่วยงานด้านนโยบายสาธารณสุข และมีผลต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร ไปยังประเทศที่ห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารที่ปนเปื้อนด้วยกรดไขมันชนิดทรานส์ งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ให้ประเทศไทยปลอดการปนเปื้อนกรดไขมันชนิดทรานส์ในอาหาร ในระดับที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยมุ่งเน้นที่น้ำมันและไขมันซึ่งผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในระดับอุตสาหกรรม (Industrial Partial Hydrogenation) รวมถึงส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการใช้น้ำมันหรือไขมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในการเตรียมหรือเป็นส่วนผสม ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการปนเปื้อนจากกรดไขมันทรานส์ที่มีตามธรรมชาติ

จากการประเมินสถานการณ์การปนเปื้อนกรดไขมันชนิดทรานส์ในอาหารที่มีจำหน่ายในประเทศไทย พบว่าอาหารในท้องตลาดที่ปนเปื้อนกรดไขมันชนิดทรานส์ในระดับเกินกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด (> 2.2 กรัมต่อวัน หรือ > 0.5 กรัมต่อมื้อ) ได้แก่ โดนัททอด พัฟและเพสทรี เวเฟอร์ มาร์การีน และเนย เพียงบางยี่ห้อเท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่ากรดไขมันอิ่มตัว (> 5 กรัมต่อมื้อ) เป็นปัญหาทางโภชนาการที่สำคัญกว่ากรดไขมันชนิดทรานส์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่ศึกษา

ผลการวิจัยได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยสามารถประกาศสถานะปลอดการปนเปื้อนกรดไขมันชนิดทรานส์ได้ภายใน 1 ปี เพื่อไม่ให้มีผลเชิงลบต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และควรดำเนินการภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) คำจำกัดความของ “ปลอดไขมันทรานส์” มิใช่การตรวจไม่พบกรดไขมันชนิดทรานส์ แต่เป็นการกำหนดความเข้มข้นสูงสุดที่ยอมให้มีได้ โดยใช้ปริมาณที่ไม่ก่อความเสี่ยงเชิงสุขภาพเป็นเกณฑ์ ได้แก่ < 0.5 กรัมต่อหน่วยบริโภค

(2) ผู้ผลิตน้ำมันและไขมันดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนผลิตภัณฑ์เดิมที่ปนเปื้อนกรดไขมันชนิดทรานส์ โดยใช้กระบวนการผสมน้ำมัน (Oil Blending) ซึ่งต้นทุนด้านเทคโนโลยีและวัตถุดิบไม่สูง

(3) เร่งรัดมาตรการด้านกฎหมายที่ห้ามมิให้ใช้ไขมันที่ผลิตจากกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนในการผลิตอาหาร เพื่อลดการได้เปรียบและเสียเปรียบทางการค้าของผู้ผลิตอาหาร และเฝ้าระวังการทุ่มตลาดของสินค้าคัดทิ้งจากประเทศสหรัฐอเมริกา

(4) การกล่าวอ้างทางโภชนาการในผลิตภัณฑ์อาหารที่เกี่ยวกับปริมาณไขมันทรานส์ ซึ่งต้องพิจารณาทั้งปริมาณกรดไขมันชนิดทรานส์และกรดไขมันอิ่มตัว เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคสับสนและเกิดผลเสียต่อสุขภาพ

 

การนำไปใช้ประโยชน์ : ปรับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 พ.ศ.2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย เพื่อวางนโยบายการบริหารจัดการและการควบคุมปัญหาการปนเปื้อนของกรดไขมันชนิดทรานส์ ในผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศและส่งออก รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารนำเข้า ซึ่งจะเป็นการรองรับการเป็นประเทศปลอดไขมันทรานส์ (Trans Fat – Free Country) ในอนาคต

Partners/Stakeholders
  • สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน)
  • สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข
  • สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ผู้ดำเนินการหลัก
ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต และ รองศาสตราจารย์ ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
-