สร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างผู้นำของส่วนงานในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
สร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างผู้นำของส่วนงานในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน การพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ จากการที่องค์การสหประชาชาติกำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่ประกอบด้วย 17 เป้าหมาย
ได้แก่ 1. ขจัดความยากจน 2. ขจัดความหิวโหย 3. การส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 4. การศึกษาที่เท่าเทียม 5. ความเท่าเทียมทางเพศ 6. การจัดการน้ำและสุขาภิบาล 7. พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ 8. การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 9. อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน 10. ลดความเหลื่อมล้ำ 11. เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน 12. แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน 13. การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 14. การใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเล 15. การใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก 16. สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก และ 17. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้ทราบและนําไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับการพัฒนาของประเทศในระดับกิจกรรม โครงการ และระดับนโยบายประเทศ
มหาวิทยาลัยมหิดลในฐานะสถาบันการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงจัด "โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs)" ในวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้แทนในระดับผู้บริหารของส่วนงานภายในมหาวิทยาลัยมหิดล เข้าร่วมทั้งสิ้น 81 คน จาก 37 ส่วนงาน
โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างผู้นำของส่วนงานในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนและวางแผนการดำเนินกิจกรรมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ให้กับผู้แทนของทุกส่วนงาน โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัย มหิดล เป็นประธานเปิดโครงการ
จากนั้น รองศาสตราจารย์ ดร.ชนาธิป ผาริโน รองผู้อำนวยการ สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ "นโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. เสริมพลังการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน" ที่บรรยายถึง 6 จุดมุ่งเน้นของนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ.2566-2570 การขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทย และบทบาทของมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ การดำเนินงานที่ผ่านมาเพื่อให้เกิดนโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Eco University and Sustainability Policy) ที่มี 3 กลยุทธ์สำคัญ คือ กลยุทธ์ที่ 1 การเติบโตสู่องค์กรที่ยั่งยืน (Sustainable growth) กลยุทธ์ที่ 2 การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainable growth) และกลยุทธ์ที่ 3 การพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน (Sustainable growth) และการสร้างผู้นำของส่วนงานที่จะช่วยขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
จากนั้นมีการดำเนินกิจกรรมกลุ่มย่อย (Workshop) โดยวิทยากรจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กฤตณะ พฤกษากร ดร.ชญาทัต เนียมแสวง ดร.พูนเพิ่ม วรรธนะพินทุ ดร.อรันย์ ศรีรัตนา ทาบูกานอน และ ผู้ช่วยอาจารย์ ภาณุวัฒน์ ประเสริฐพงษ์ เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ผู้เข้าอบรมในการจัดทำแผนการปฏิบัติงาน (Action Plan) ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์ของการดำเนินงานตามนโยบายมหาวิทยาลัยเชิงนิเวศและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผู้เข้าอบรมร่วมกันวิเคราะห์ภายในกลุ่มว่าในแต่ละกลยุทธ์มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยอย่างไร พร้อมทั้งเสนอแผนการปฏิบัติงานดังกล่าวต่อผู้เข้าร่วมอบรมท่านอื่นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพิ่มเติมร่วมกัน ซึ่งจะช่วยผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปเป็นแนวทางในการจัดทำแผนการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัยต่อไปในอนาคตได้
จากการจัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ การสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ที่ผ่านมานั้น สามารถช่วยลด “ความไม่รู้” และสร้าง “ความเข้าใจ” ให้กับผู้แทนจากส่วนงานภายในมหาวิทยาลัย ตลอดจนสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ได้แก่บุคลากรท่านอื่น ๆ และนำเอาความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาการดำเนินกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ของส่วนงานได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน อันสอดคล้องกับเป้าหมายข้อ 17 คือความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นไปตามตามหลักการสำคัญของ SDGs คือ การทำงานโดยคิดถึงมนุษยชาติ ภายใต้แนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
-