โครงการเปิดโลกทัศน์วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม จัดโดยสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นอีกหนึ่งโครงการที่จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุก ๆ ปี ระยะเวลาจัดกิจกรรมมีตั้งแต่ 1 วัน ถึง 3 วัน ตลอดระยะเวลาโดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 - เดือนกันยายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น ได้มีโอกาสสัมผัสกับเทคนิคและวิทยาการระดับสูง จนเกิดความมุ่งมั่นและมีแนวทางที่จะเรียนรู้และพัฒนาความสามารถของตนเองอย่างจริงจัง โดยการจัดกิจกรรมประกอบไปด้วย กิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ใช้สื่อและนวัตกรรมที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยของบุคลากรสถาบันฯ อาทิเช่น 1) กิจกรรมการเรียนรู้แบบสืบเสาะ เช่น ใครคือคนร้ายกันนะ?, Who is polluter? (PBL) , ผลไม้เจ้าปัญหา , สำรวจไอโอดีน , Bath Bomb, พื้นผิวมหัศจรรย์ ที่ประยุกต์ใช้ซิลิกาแอโรเจล 2) กิจกรรมสะเต็มศึกษา อาทิ Creative Thinking (STEM), Robotic Hands, Roller Coasters, สะพานมรณะ, เอมิรีอินปารีส, , Slider สไลด์ราง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการเล่นเกมและเกมกระดาน ที่สถาบันฯ พัฒนาขึ้นจากงานวิจัยร่วมกับนักศึกษาเป็นบอร์ดเกม อาทิ เกมมด , เกมป่าชายเลน (Mangrove Survivor) เป็นต้น ยังมีกิจกรรมการเยี่ยมชมหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์กายวิภาค (อาจารย์ใหญ่) การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช และการเยี่ยมชมวิทยาการด้านดนตรีที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และเยี่ยมชมอุทยานธรรมชาติวิทยาสวนสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย ซึ่งผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 มีโรงเรียนติดต่อขอรับบริการจัดอบรมฯ ไปแล้วทั้งสิ้น 23 โรงเรียน โดยกลับมาขอรับบริการซ้ำภายในปีเดียวกันนี้ จำนวน 4 โรงเรียน และมีโรงเรียนใหม่ ๆ ที่สนใจขอเข้ารับบริการเพิ่มขึ้น จำนวน 7 โรงเรียน ผู้เข้าร่วมอบรมโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 2,327 คน จากผลการสำรวจความพึงพอใจ พบว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพิ่มขึ้น ได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การทำงานเป็นทีม การลงมือทำ และการร่วมกันเสนอความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รวมถึงทักษะทางเทคนิคที่จำเป็นสำหรับการหน้าที่การงานที่ดีต่อไปในอนาคต ซึ่งโครงการนี้ยังได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ๆ ภายในมหาวิทยาลัยมหิดล ในการเปิดสถานที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่คณะครูและนักเรียน
โดยภาพรวมของกิจกรรม ในวันแรกจะทำการจัดอบรมฯ ในห้องประชุมมีการแบ่งเป็นกลุ่มปฏิบัติการ โดยแบ่งเป็นกลุ่มละ 5-6 คน ดำเนินรายการโดยวิทยากรผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรม ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมที่เน้นมีส่วนร่วมจากผู้เข้าร่วมอบรม และกิจกรรมเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้จากคณะต่าง ๆ เช่น อุทยานธรรมชาติวิทยาสวนสิรีรุกขชาติ, วิทยาลัยดุริยางคศิลป์, ห้องปฏิบัติการและศูนย์วิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์, พิพิธภัณฑ์การแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, หอประชุมสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้เรียนให้เกิดแรงบันดาลใจในการนำความรู้ที่เกี่ยวข้องไปประยุกต์ใช้และพัฒนาตนเองให้สามารถเรียนรู้และต่อยอดในสาขาที่ตนเองสนใจต่อไป