ตู้รับซื้อขยะรีไซเคิล (MU Smart Bin) และ เเอปพลิเคชันเพื่อรับเเต้ม (MU Recycle Application)

detail

นวัตกรรม “ตู้รับซื้อขยะรีไซเคิล” และ “เเอปพลิเคชันเพื่อรับเเต้ม” สามารถช่วยมหาวิทยาลัยลดต้นทุนในการแยกขยะได้อีกมาก  และสร้างเสริมนิสัยในการคัดแยกขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษา ซึ่งจะส่งผลถึงระดับประเทศชาติและในระดับโลก

แม้ปัจจุบันจะมีการรณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะตามประเภท เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแล้วก็ตาม แต่ผู้คนก็ยังคงทิ้งขยะผิดประเภทกันอยู่ ทำให้การบริหารจัดการขยะ รวมถึงการนำขยะไปรีไซเคิลไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ต้องเสียทั้งแรงงานคนและเสียเวลาในการคัดแยกขยะอีกรอบ และจำนวนขยะผิดประเภทที่ทับถมทวีคูณขึ้นทุกวัน ก็ยิ่งทำให้การจัดการขยะเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น

 

ทีมนักศึกษาจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ได้เล็งเห็นปัญหาดังกล่าว และเมื่อศึกษาไปเรื่อยๆ ยิ่งพบว่า ในหลายๆ โครงการของหน่วยงานต่างๆ ที่รณรงค์ด้านการทิ้งขยะหรือคัดแยกขยะ หรือแม้แต่โครงการในมหาวิทยาลัยเอง ไม่ค่อยมีผลสำเร็จอย่างยั่งยืนเท่าใดนัก นักศึกษาทำได้ไม่นานก็เลิกไป เพราะเหมือนเป็นการบังคับหรือขอร้อง ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจหรือเต็มใจอย่างแท้จริง และเล็งเห็นปัญหาด้านขยะในสังคมไทยเป็นเรื่องสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ซึ่งนักศึกษากลุ่มนี้มองว่า จริงๆ แล้วปัญหาการจัดการขยะส่วนใหญ่สามารถแก้ไขได้อย่างง่ายๆ เพียงแค่นำขยะมารีไซเคิล จากการศึกษาของพวกเขา พบว่าขยะในปัจจุบันนี้ถึง 75 เปอร์เซ็นต์ สามารถนำมารีไซเคิลได้ แต่กลับมีขยะเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่ได้ถูกนำมารีไซเคิล นอกจากนี้ สาเหตุที่คนทั่วไปไม่ใส่ใจปัญหาขยะ หรือไม่เห็นความสำคัญของการรีไซเคิล ก็เพราะพวกเขามองไม่เห็นผลหรือประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนหรือเป็นรูปธรรม ดังนั้น นวัตกรรมที่คิดขึ้น คือ ทำให้ผู้คนเกิดแรงจูงใจในการแยกขยะ และเสริมสร้างพฤติกรรมในการคัดแยกขยะอย่างยั่งยืน

 

เพื่อส่งเสริมนิสัยการทิ้งขยะให้ถูกประเภทด้วยการสร้างแรงจูงใจในการทิ้งขยะกลุ่มนักศึกษามหิดลภายใต้ชื่อกลุ่ม Mang (แมง) หรือแมลงในภาษาไทยและยังเกี่ยวโยงกับคำว่า Bug ในภาษาคอมพิวเตอร์ประกอบด้วย ธนกิตติ์ สาชาติ (แบงค์) บัณฑิต โหว (บัน) สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ และสรายุทธ หล้าวิไลย์ (แก๊ป) สาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ได้รวมตัวกันคิดค้นนวัตกรรมเพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืนด้วย “ตู้รับซื้อขยะรีไซเคิล” (MU Smart Bin) และ “เเอปพลิเคชันเพื่อรับเเต้ม” (MU Recycle Application) ถือเป็นนวัตกรรมที่ส่งเสริมเรื่องคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Innovation)

 

นวัตกรรมที่เกิดขึ้นอยู่ภายใต้โครงการจบของนักศึกษา และชนะการประกวดนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Innovation for Campus Sustainability) ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม และได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยในการเข้าร่วมนำเสนอผลงาน ณ Asian Conference on Campus Sustainability (ACCS) 2018 ครั้งที่ 4 จัดขึ้น ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี


“พวกเราพบว่านักศึกษาและผู้คนส่วนใหญ่ยังขาดแรงจูงใจในการคัดแยกขยะ จึงคิดกันว่าจะเริ่มสร้างหรือปลูกฝังนิสัยนี้อย่างไรดี ซึ่งในท้ายที่สุดเราเห็นตรงกันว่าถ้าอยากให้โครงการนี้มีความยั่งยืนต้องเริ่มจากการสร้างแรงจูงใจก่อน เมื่อเขาทำเป็นนิสัยก็จะทำเองโดยความเคยชินเป็นอัตโนมัติ โดยเราคิดว่าน่าจะใช้การสะสมแต้มช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนนำขยะที่รีไซเคิลได้ มาทิ้งให้ถูกที่แล้วก็รับแต้มคะแนนสะสมไปเพื่อนำไปใช้จ่ายหรือแลกเป็นส่วนลดกับร้านค้าภายในมหาวิทยาลัย เป็นการช่วยกระตุ้นเสริมพฤติกรรมเชิงบวกในอีกทางหนึ่ง ส่วนทางร้านค้าหรือมหาวิทยาลัย ก็นำขยะที่ได้ไปขายเป็นเงินต่อไป” ทีม Mang ช่วยกันเล่าถึงเบื้องหลังก่อนจะพัฒนามาเป็นนวัตกรรมที่ชนะใจกรรมการ

บัณฑิตขยายความถึงระบบการใช้งานของ “ตู้รับซื้อขยะรีไซเคิล” และ “เเอปพลิเคชันเพื่อรับเเต้มตู้รับซื้อขยะ” โดย 1 ตู้จะสามารถรับขยะรีไซเคิลได้ตามประเภทของขยะได้แก่ ขวดพลาสติก ขวดแก้ว กระป๋อง และกระดาษ เพื่อให้คนที่นำขยะมาทิ้ง สามารถทิ้งขยะได้อย่างถูกต้อง และผู้ทิ้งจะได้รับค่าตอบแทนผ่านแอปพลิเคชันเพื่อนำไปใช้จ่ายหรือเป็นส่วนลดกับร้านค้าต่างๆ ในมหาวิทยาลัยได้

 

นอกจากนี้ ในตัวของแอปพลิเคชันเอง ก็มีความสามารถในการระบุถึงตำแหน่งของถังขยะตามจุดต่างๆ ในแผนที่ เพื่อช่วยให้การทิ้งขยะนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาหรือคนรุ่นใหม่

ดร.ปวิตรา จิรวีรกูล รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและสร้างความผูกพัน และอาจารย์ที่ปรึกษาของทีม Mangกล่าวว่า “เหตุผลที่ทีม Mang ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยไปในเวทีนานาชาติเพราะมีความโดดเด่นด้านความสามารถเชิงปฏิบัติในการทำแอปพลิเคชันมีความพร้อมในการทำและใช้งานเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ซึ่งจะมีระบบเซ็นเซอร์ต่างๆที่นักศึกษาต้องเรียนรู้การใช้งานให้เป็นจริงและเกิดขึ้นได้อีกทั้งแนวคิดยังตอบโจทย์ความยั่งยืนครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อมสังคมและเศรษฐกิจ”

การนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชั่นหรือ IoT ที่มีวิธีการใช้งานที่ไม่ซับซ้อนนำไปใช้ได้จริงสร้างแรงจูงใจให้แก่นักศึกษาและช่วยแก้ปัญหาขยะของมหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืนจึงทำให้นวัตกรรมของทีม Mang นี้ชนะใจกรรมการและคว้ารางวัลชนะเลิศ (Excellent Presentation Award) จากเวที Asian Conference on Campus Sustainability (ACCS) ครั้งที่ 4 จัดขึ้น ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 มาครองได้สำเร็จ  โดยมีตัวแทนจากประเทศในเครือข่ายเข้าร่วมกว่า 60 คน จาก 4 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย

ธนกิตติ์ กล่าวว่า “พวกเราอยากเห็นผลงานนี้เป็นรูปเป็นร่าง และสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งเราจะเริ่มจากการติดตั้งตู้รับซื้อขยะภายในคณะฯของเราก่อน ส่วนการประสานกับร้านค้าของมหาวิทยาลัยในการเชื่อมต่อระบบการจัดการการสะสมแลกแต้มต่างๆ นั้น ก็คงได้เริ่มเร็วๆ นี้ และจากนั้นเราก็จะเก็บข้อมูล วัดผลการตอบรับและพฤติกรรมการใช้งาน รวมถึงประสิทธิภาพด้านเทคโนโลยี เพื่อประเมินผลว่าคนในคณะมีความคิดเห็นอย่างไรจากการใช้งานจริงมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรถ้าได้เสียงตอบรับที่ดีก็น่าจะขยายไปทั่วมหาวิทยาลัยมหิดลและหวังว่าจะขยายไปสู่มหาวิทยาลัยอื่นๆ หรือชุมชนอื่นๆ ต่อไป”

สรายุทธ มีมุมมองว่า “เป้าหมายสูงสุดที่พวกเราอยากเห็นคือ ทุกคนยืนต่อแถว หย่อนทิ้งขยะที่ตู้ของเรา ไม่คิดจะโยนขยะทิ้งแบบมั่วๆ อีกต่อไป เราถึงขั้นคิดถึงสโลแกนคำคมเลยว่า ไม่ได้อยากให้คนแยกขยะแต่อยากให้ทุกคนแย่งขยะ คือเห็นขยะแล้วแย่งกันเอาไปหยอดตู้ เพราะขยะทุกชิ้นมันคือเงินทั้งนั้นเลยนะ”

 

ในอนาคตหากนวัตกรรม “ตู้รับซื้อขยะรีไซเคิล” และ “เเอปพลิเคชันเพื่อรับเเต้ม” ได้เกิดขึ้นจริงในมหาวิทยาลัยมหิดลจะสามารถช่วยมหาวิทยาลัยลดต้นทุนในการแยกขยะได้อีกมาก อีกทั้งยังช่วยสร้างเสริมนิสัยในการคัดแยกขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับนักศึกษา ซึ่งจะส่งผลถึงระดับประเทศชาติและในระดับโลก

เพียงแค่แยกขยะให้ถูกประเภท ก็จะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแยกขยะและลดการสร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของทีม Mang

Partners/Stakeholders

-

ผู้ดำเนินการหลัก
สรายุทธ หล้าวิไลย์, ธนกิตติ์ สาชาติ, บัณฑิต โหว
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
ดร.ปวิตรา จิรวีรกูล