โรงเรียนเอกชนนอกระบบมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนทุกช่วงวัยในการพัฒนาตนเองไปสู่อาชีพต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงบริบทของสังคม ตลอดจนการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโรงเรียนเอกชนนอกระบบมีการลงทุนโดยภาคเอกชน ที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์สาขาเฉพาะทางและมีเจตจำนงในการมีส่วนร่วมส่งเสริมการจัดการศึกษาของประเทศให้มีแหล่งพัฒนาความรู้ และแหล่งเรียนรู้ที่ช่วยแบ่งเบาภาระการลงทุนและการบริหารจัดการของภาครัฐเพื่อช่วยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้ในทุกช่วงวัยอย่างแท้จริง มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการที่ตอบสนองความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับความมุ่งหมายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ให้การจัดการศึกษาเรียนรู้เป็นไปตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพของผู้เรียน ดังนั้น หากโรงเรียนเอกชนนอกระบบสามารถจัดการศึกษาได้ตามหลักสูตรที่ได้รับอนุญาตแก่ผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ จะทำให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปใช้พัฒนาความรู้ งานอาชีพ รายได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ ของผู้เรียนและครอบครัวได้ จนส่งผลให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างมาก
การที่เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการศึกษาทำให้เกิดความรู้ใหม่ การพัฒนาทางเนื้อหาวิชาและเทคโนโลยีที่สังคมมีความต้องการเรียนรู้ทำให้ประเทศไทยยกระดับความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ รวมไปถึงโรงเรียนเอกชนนอกระบบยังมีบทบาทในการจ้างงานและก่อให้เกิดรายได้หมุนเวียนในชุมชน สอดคล้องกับแนวคิดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development) ที่มีหลักการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ให้พลังอำนาจแก่ผู้เรียน ในการตัดสินใจและปฏิบัติที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อให้ยั่งยืนสู่คนรุ่นต่อ ๆ ไป อันจะนำไปสู่การพัฒนาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนแม่บทกระทรวงศึกษาธิการมีความเกี่ยวข้องโดยตรงภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580
การศึกษาบทบาทและศักยภาพของโรงเรียนเอกชนนอกระบบต่อการพัฒนาประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) เพื่อศึกษาบทบาท ศักยภาพ และปัจจัยที่มีผลต่อบทบาทและศักยภาพของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ (2) เพื่อศึกษาผลตอบแทนทางสังคมและศรษฐกิจของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ (3) เพื่อศึกษาทิศทางการพัฒนาโรงเรียนเอกชนนอกระบบสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (4) เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อการส่งเสริมโรงเรียนเอกชนนอกระบบ
การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีวิทยาการวิจัยแบบผสานวิธีทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Methodology) และคุณภาพ (Qualitative Methodology) เพื่อศึกษาบทบาทและศักยภาพการดำเนินงาน และผลตอบแทนทางสังคมที่เกิดขึ้นจากโรงเรียนเอกชนนอกระบบโดยประยุกต์ใช้วิธีการคำนวณผลตอบแทนทางด้านสังคมในมิติต่าง ๆ ที่จะศึกษาเชิงลึกจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทั้งผู้รับใบอนุญาต ผู้บริหาร ครุ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้ใช้ผู้ที่เรียนสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเอกชนนอกระบบรวมถึงผู้เรียน โดยข้อค้นพบที่จะได้จากการวิจัยในครั้งนี้ จะทำให้ทราบว่าโรงเรียนเอกชนนอกระบบในปัจจุบัน มีบทบาทและศักยภาพ ในการให้การศึกษาที่ส่งผลต่อสังคมและเสรษฐกิจเพียงใด โดยการวิเคราะห์ผลตอบแทนทางด้านสังคมและศรษฐกิจของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ ซึ่งจะเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้กำหนดนโยบาย เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาการศึกษาเอกชนนอกระบบให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป
ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัยจะเป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับบทบาท ศักยภาพและผลตอบแทนทางสังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งผลกระทบที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เกิดจากการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนนอกระบบที่เป็นรูปธรรม เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานสำหรับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและกระทรวงศึกษาธิการในฐานะหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริมและกำกับดูแลการดำเนินงานของโรงเรียนเอกชนนอกระบบ กำหนดนโยบายและแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนนอกระบบที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศต่อไป