นิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์ “สานพฤกษพรรณผ่านงานพฤกษศิลป์” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยในการจัดงานครั้งแรก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดนิทรรศการ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 นิทรรศการครั้งแรกใช้ชื่อว่า Botanical Art Worldwide จัดร่วมกับนานาชาติรวม 25 ประเทศ โดยการชักชวนจาก American Society for Botanical Artists (ASBA) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเครือข่ายวิทย์สานศิลป์ เป็นผู้ประสานงานดำเนินการ มีศิลปินไทยมากกว่า 50 ท่านนำภาพเข้าร่วมจัดแสดงมากกว่า 80 ภาพ มีการกำหนดวันที่ 18 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันสากลแห่งพฤกษศิลป์ World Botanical Art Day
ในปีต่อมา มีการจัดแสดงนิทรรศการครั้งที่ 2 ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2562 สำหรับ นิทรรศการครั้งที่ 3 มีการเลื่อนจากกำหนดเดิมในเดือนพฤษภาคม เป็นเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 และเลื่อนจัดนิทรรศการครั้งที่ 4 เป็นเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2565 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
ในปีนี้ นิทรรศการแสดงภาพวาดพฤกษศาสตร์ใช้ชื่อว่า Botanical Art Thailand 2023 (BAT 2023) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 กรกฎาคม ถึง 6 สิงหาคม และได้รับเชิญให้ขยายเวลาต่อเนื่องถึงวันที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ได้รับความร่วมมือจากศิลปิน และหน่วยงานต่าง ๆ ด้วยดี โดยมี ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นเจ้าภาพหลักร่วมกับ สมาคมพฤกษศาสตร์ในพระบรมราชินูปถัมภ์ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เครือข่ายวิทย์สานศิลป์ ชมรมพฤกษศิลปินไทย และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในปีนี้มีศิลปินภาพวาดพฤกษศาสตร์จำนวน 45 ท่าน ส่งภาพวาดพรรณไม้จำนวน 62 ภาพ เข้าร่วมจัดแสดง
ในแต่ละปี นิทรรศการภาพวาดพฤกษศาสตร์ มีการกำหนดหัวข้อของภาพวาดที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วม ซึ่งในปีนี้กำหนดว่า “พืชเขตร้อนของโลก (Tropical Plants of the World)” และเป็นปีแรกที่จัดเรียงภาพตามลำดับชื่อวงศ์ และชื่อสกุล ทั้งนี้ เพื่อให้การวาดภาพพฤกษศาสตร์เป็น “การเรียนรู้” เปิดโอกาสให้ศิลปินได้ “ทำความรู้จัก” ต้นไม้ที่วาด กระตุ้นให้ศิลปินศึกษาศึกษาหาความรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติ และการกระจายพันธุ์ของพืชเขตร้อนทั่วโลก ทั้งยังให้ข้อมูลวงศ์พืชที่ร่วมจัดแสดง โดยหวังให้เป็นการจุดประกายการอนุรักษ์ธรรมชาติ จากการเห็นคุณค่าและความงดงามของพรรณพืช
วัตถุประสงค์ของการจัดนิทรรศการตั้งแต่ครั้งแรก คือ มุ่งสนองพระราชดำริ ในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) สร้างความเข้าใจและทำให้ประชาชนทั่วไปเห็นคุณค่าและความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืช ผ่านการชื่นชมความสวยงามของภาพวาดพฤกษศาสตร์ และสร้างความเข้าใจอันดีและความร่วมมือระหว่างศิลปินพฤกษศาสตร์
สำหรับ “เครือข่ายวิทย์สานศิลป์ (Sci-Art Network)” ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2542 โดยเป็นการรวมกลุ่มกันของนักวิทยาศาสตร์ นักธรรมชาติวิทยา และศิลปิน 15 ท่าน ในนาม “ชมรมนักวาดภาพวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (Natural Scientific Illustrators)” โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิวิมล แสวงผล อาจารย์ประจำภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง มีกิจกรรมอบรมเยาวชน และบุคคลทั่วไป มีการจัดแสดงภาพในนิทรรศการที่จัดโดยหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษา มีการรวมกลุ่มเพื่อวาดภาพในวันหยุด และทัศนศึกษาในพื้นที่ป่า เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ และการวาดภาพสิ่งมีชีวิตเพื่อการเรียนรู้เป็นประจำทุกปี
ทั้งนี้ก่อนการรวมกลุ่มนักวาดภาพวิทยาศาสตร์ธรรมชาติครั้งแรก ได้มีการเปิดสอนวิชา “นิทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ Scientific Illustration” เป็นวิชาเลือกสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ที่ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในภาคการศึกษาปลาย ปีการศึกษา 2541 และการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การวาดภาพทางวิทยาศาสตร์” ครั้งแรกในปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งรายวิชาและการอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว นับเป็นการเรียนการสอนการวาดภาพในแนววิทยาศาสตร์ และธรรมชาติวิทยาเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และได้เปิดสอนเป็นประจำตลอดมาจนถึงบัดนี้ ได้มีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนจนกระทั่งเป็นต้นแบบให้เกิดวิชาที่เกี่ยวข้องกับการวาดภาพทางวิทยาศาสตร์ในสถาบันการศึกษาหลายแห่งในประเทศไทยในเวลาต่อมา