โครงการการศึกษาสถานการณ์ด้านสุขภาวะของคนไทยเพื่อจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย 2566-2568

detail
SDGs ที่่เกี่ยวข้อง

รายงานสุขภาพคนไทย มีข้อมูล เนื้อหา และประเด็นสุขภาพที่สำคัญทุกมิติ ทั้งทางกาย จิต สังคมและปัญญา ที่สามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลในการอ้างอิงสถานการณ์ทางสุขภาพที่เป็นปัจจุบัน มีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำใช้ในการกำหนดประเด็นปัญหาและหัวข้อเชิงนโยบายและในการศึกษาวิจัยได้

สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ดำเนินงานโครงการจัดทำรายงานสุขภาพคนไทย โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ตั้งแต่ปี 2546 อย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีแบ่งการดำเนินงานเป็นรอบเวลา รอบละ 3 ปี จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปี โดยการดำเนินโครงการฯ สอดคล้องกับแผนหลักของ สสส. โดยเฉพาะแผนพัฒนาระบบและกลไกสนับสนุนเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ (แผน 13) ที่มีจุดเน้น ในการจัดทำงานวิจัย ผลงานวิชาการ และนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการทางานสร้างเสริมสุขภาพตามทิศทางและเป้าหมายพร้อมทั้งผลักดันหนุนเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัย ผลงานวิชาการ และนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อขยายฐานผู้รับประโยชน์ นำไปใช้ได้จริง และเห็นผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงนำความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ สู่นักสร้างเสริมสุขภาพและประชาชนทุกกลุ่มวัย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา “รายงานสุขภาพคนไทย” มีบทบาทในการรวบรวม และนำเสนอข้อมูล สถานการณ์ รวมถึง บทวิเคราะห์ประเด็นสำคัญต่างๆ ด้านสุขภาพที่ทันต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยข้อมูลและองค์ความรู้ที่จัดทำและเผยแพร่ในแต่ละปี ทำหน้าที่ในการชี้ประเด็นปัญหาและปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนไทยที่กำลังเกิดขึ้น หรือมีแนวโน้มเป็นเรื่องที่มีความสำคัญของประเทศ รวมถึงให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการติดตามแก้ไขปัญหา หน่วยงานผู้กำหนดนโยบาย รวมถึงภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลสถิติ บันทึกสถานการณ์และบทวิเคราะห์จากเนื้อหาในทุกส่วน ไปใช้ในการอ้างอิงและวิเคราะห์เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางนโยบายในอนาคต สำหรับประชาชนผู้อ่านทั่วไป ข้อมูลเนื้อหาในเล่มรายงานช่วยเพิ่มความตระหนักต่อสถานการณ์ด้านสุขภาพในประเทศและเสริมความรอบรู้ทางสุขภาพ นักวิชาการสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านการเรียนการสอน เป็นแหล่งข้อมูลการอ้างอิงสถานการณ์ทางสุขภาพที่เป็นปัจจุบัน มีความน่าเชื่อถือ สามารถใช้ในการกำหนดประเด็นปัญหาและหัวข้อในการศึกษาวิจัย รวมถึงวิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาทางสุขภาพของคนไทยเชิงลึกได้ต่อไป

รายงานสุขภาพคนไทยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1) ส่วนตัวชี้วัดสุขภาพ 

2) ส่วนสถานการณ์เด่นและผลงานดี ๆ ทางสุขภาพในรอบปี และ

3) ส่วนเรื่องพิเศษประจำฉบับ

ทั้ง 3 ส่วนทำให้รายงานนี้เป็นประโยชน์กับผู้อ่านหลากหลายกลุ่มและนำเสนอในรูปแบบที่สามารถสื่อสารได้กับคนทุกกลุ่ม โดยที่ส่วนตัวชี้วัดสุขภาพจะเป็นประโยชน์กับผู้กำหนดนโยบาย นักวิชาการ และนักเรียนนักศึกษาในการอ้างอิงข้อมูลในแต่ละเรื่อง ส่วนสถานการณ์เด่นทางสุขภาพเป็นประโยชน์กับประชาชนทั่วไปที่จะรับทราบสถานการณ์ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูล และส่วนเรื่องพิเศษประจำฉบับเป็นประโยชน์แก่ผู้กำหนดนโยบายในการวิเคราะห์ประเด็นและเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา รายงานสุขภาพคนไทยมีการกำหนดประเด็นที่สำคัญ รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยมีเป้าประสงค์และวัตถุประสงค์ดังนี้

 เป้าประสงค์ (Goal)

จัดทำรายงานสุขภาพคนไทยที่มีเนื้อหาสถานการณ์สุขภาพที่สำคัญ ตัวชี้วัด และบทความพิเศษ ปีละ 1 ฉบับ และเผยแพร่สู่สาธารณะในช่องทางต่างๆ กระตุ้นการรับรู้ทั้งเชิงนโยบาย และนำไปใช้ประโยชน์ทั้งด้านการศึกษา วิชาการ และการทำงานระดับพื้นที่

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อจัดทำรายงานสุขภาพคนไทยประจำปี ที่นำเสนอข้อมูลและประเด็นด้านสุขภาพที่สำคัญของประเทศไทยในทุกมิติ ทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคม และปัญญา
  2. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพในรายงานสุขภาพคนไทยแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีเครือข่ายของ สสส. ให้นำไปใช้ประโยชน์
  3. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพในรายงานสุขภาพคนไทยในรูปแบบต่างๆ ผ่านช่องทางที่หลากหลาย สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านในวงกว้าง รวมถึงผู้กำหนดนโยบายในประเด็นที่สำคัญ เพื่อสร้างความตระหนักในประเด็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ รวมทั้งสนับสนุนการทำให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบาย

การเผยแพร่รายงานสุขภาพคนไทยในแต่ละปี มีการเผยแพร่ในรูปแบบหนังสือฉบับภาษาไทย นอกจากนี้ ยังได้เผยแพร่รายงานสุขภาพคนไทยผ่านเว็บไซต์ของ สสส. ของ สำนักงาน พัฒนาะระบบข้อมูลข่าวสารสุขภาพ (HISO) ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และของเว็บไซต์สุขภาพคนไทย โดยมีผู้ดาวน์โหลดเป็นจำนวนปีละเกือบ 20,000 ครั้ง แสดงถึงการนำไปใช้ประโยชน์ของรายงานต่อประชากรกลุ่มต่างๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่ในรูปแบบหนังสือฉบับภาษาอังกฤษด้วย

การเผยแพร่หนังสือ

                                       

คลิปวีดีโอ

                                       

บทความสั้น

                                                                               

Policy Brief

 

การเผยแพร่เนื้อหารายงานสุขภาพคนไทยผ่านสื่อออนไลน์

                                                                                                                                                                                                                                                                  

     

                                            

Partners/Stakeholders

สสส. สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สภาพัฒน์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ผู้ดำเนินการหลัก
รศ. ดร. เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
สสส. / สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.)