โครงการตลาดนัดสีเขียว Green Market ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์

detail

ตลาดนัดสีเขียว สามารถเป็นกิจกรรมที่ทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล และทำให้คณะสิ่งแวดล้อมได้เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยการลดปริมาณขยะ การกำจัดขยะ อย่างถูกวิธีและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงทำให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานภายใน ภายนอก ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน จนถึงปัจจุบัน ตลาดนัดสีเขียวได้เป็นอัตลักษณ์ที่คนที่เคยศึกษาหรือมาใช้บริการแล้ว อยากมาใช้บริการอีกอย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งแนะนำคนที่รู้จักมาด้วย ซึ่งส่งเสริมให้ได้เข้ามารู้จักมหาวิทยาลัยมหิดลได้ดีมากยิ่งขึ้นด้วย

          โครงการตลาดนัดสีเขียวได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ.2535 เป็นตลาดที่เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และพ่อค้าแม่ค้าโดยรอบมหาวิทยาลัย ได้มีสถานที่จำหน่ายสินค้าให้แก่บุคลากรในการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค ต่อมาได้กลายเป็นศูนย์กลางจำหน่ายพืช ผัก ผลไม้ ปลอดสารพิษจากทั้งชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งเป็นสถานที่พักผ่อน พบปะบุคลากรและนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา และพัฒนาเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรโดยรอบมหาวิทยาลัยที่ประสบปัญหาราคาพืชผักผลไม้ขายไม่ได้ตามราคาตลาด รวมทั้งเป็นที่สถานที่ช่วยบรรเทาปัญหาเกษตรกรไม่สามารถนำผลผลิตออกจากพื้นที่เพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภคด้วยสาเหตุถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง

          จากการดำเนินการตลาดนัดที่ผ่านมา พบว่าผู้ขายและผู้ซื้อใช้ถุงพลาสติกในการบรรจุสินค้า และโฟมเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ส่งผลให้เกิดขยะที่ย่อยสลายยากเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และเป็นปัญหากับการจัดการด้านความสะอาด ผู้บริหารคณะ จึงมีมติให้คณาจารย์เป็นที่ปรึกษาโครงการตลาดนัดสีเขียว โดยมีคณะกรรมการสวัสดิการ รวมทั้งบุคลากรของคณะ เป็นผู้สนับสนุนงบประมาณและสถานที่ โดยมีนักศึกษาของคณะ ร่วมดำเนินโครงการตลาดนัดสีเขียว เพื่อรณรงค์เชิญชวนให้ผู้ขายของและผู้ชื้อที่ตลาดนัดคณะ ลดใช้ถุงพลาสติก โฟม เปลี่ยนเป็นใช้ถุงผ้า ใช้ถุงซ้ำ แยกประเภทและทิ้งขยะอย่างถูกวิธี สาธิตการนำขยะมาหมักทำปุ๋ย รวมทั้งจัดประชุมให้ความรู้ผู้ขายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความตระหนัก เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงาน โดยมีผู้บริหาร คณาจารย์ คณะกรรมการสวัสดิการ นักศึกษาและบุคลากรของคณะ รวมทั้งผู้ขายและผู้ซื้อเข้าร่วมโครงการตลาดนัดเสีเขียว

วัตถุประสงค์

1. เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้ผู้ขายและผู้ชื้อของตลาดนัดลดการใช้ถุงพลาสติกและงดใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากโฟม เน้นการใช้ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ

2. เพื่อส่งเสริมให้ผู้ขายและผู้ซื้อทั่วไปเข้าใจและเกิดทัศนคติในการลดการใช้ทรัพยากรและลดขยะ

3. เพื่อสนับสนุนการจัดการขยะโดยแยกถังอย่างถูกวิธี และนำขยะไป Recycle เพื่อลดปัญหาการฝังกลบขยะมูลฝอยและมลพิษจากการเผาขยะ

4. เพื่อเป็นตลาดนัดต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

การดำเนินการ

      1. ประชุม เสนอโครงการเพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์เป้าหมายของโครงการ

      2. สำรวจประเภทของขยะที่พบในตลาดนัด และสำรวจประเภทของบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ

      3. ประชาสัมพันธ์โครงการ

ผลการดำเนินงาน

      1. มีการรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าและบรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ

      2. ผู้ประกอบการที่ใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติมีจำนวนมากขึ้น

      3. ผู้บริโภคที่ใช้ถุงผ้ามีจำนวนมากขึ้น

      4. มีจำนวนถังขยะที่สามารถแยกประเภทขยะได้มากขึ้น

ผู้นำไปใช้ประโยชน์ หน่วยงาน ชุมชน ฯลฯ ผลกระทบ

      1. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำหน้าที่หลักของสถานศึกษาตามพันธกิจ โดยถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาและประชาชนทั่วไป และเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรโดยรอบมหาวิทยาลัยมหิดลที่ประสบปัญหาราคาพืชผัก ผลไม้ ขายไม่ได้ตามราคาตลาด

      2. คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากรของคณะฯ ได้มีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้และนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่รณรงค์ให้ผู้ขายและผู้ซื้อเข้าใจและเกิดทัศนคติในการลดการใช้ทรัพยากรและลดปริมาณขยะ รวมทั้งจัดหาถุงผ้า บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ขายและผู้ซื้อได้ใช้อย่างสะดวก

      3. ผู้ขายเข้าใจและให้ความร่วมมือในการลดใช้ถุงพลาสติกและลดขยะโดยการใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น

      4. ผู้ซื้อส่วนใหญ่เกิดการยอมรับให้ความร่วมมือและปฏิบัติต่อเนื่องสม่ำเสมอในการลดใช้ทรัพยากรและลดปริมาณขยะโดยซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ใช้บรรจุภัณฑ์จากวัสดุธรรมชาติ

Partners/Stakeholders

- ผู้บริหารคณะฯ

- คณาจารย์ผู้สอน

- คณะกรรมการสวัสดิการ

- สโมสรนักศึกษา

- บุคลากรของคณะฯ

- นักศึกษา

- เครือข่ายผู้ขาย/ผู้ซื้อ

- MUIC

- เทศบาลตำบลศาลายา

- ชุมชนคลองโยง/ชุมชนจงถนอม/ชุมชนศาลาดิน/ชุมชนศาลายานิเวศน์/ชุมชนลำพยา

ผู้ดำเนินการหลัก
คณะทำงานบริหารพื้นที่ตลาดนัดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
เทศบาลตำบลศาลายา/ชุมชนคลองโยง/ชุมชนจงถนอม/ชุมชนศาลาดิน/ชุมชนศาลายานิเวศน์/ชุมชนลำพยา