โครงการร้านอาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค สุขภาพชุมชนเขาทองยั่งยืน

detail

“ความเข้มแข็งด้านสุขภาพของคนในชุมชนที่ยั่งยืน เกิดจากพื้นฐานความปลอดภัยด้านอาหารในชุมชน ที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ประกอบการร้านอาหารและแผงลอยในพื้นที่”

1. บทนำ
ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ เป็นที่ตั้งของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ห่างจากตัวเมืองราว 15 กิโลเมตร ความเป็นอยู่และอาหารการกินของประชาชนในชุมชน ยังเป็นลักษณะคล้ายกับชุมชนที่ห่างไกลความเจริญจากตัวเมืองทั่วไป โดยวิถีการบริโภคอาหารในพื้นที่มีลักษณะเป็นร้านอาหารของคนในชุมชน ตลาดนัด หาบเร่ แผงลอย ซึ่งยังคงต้องพัฒนาด้านการสุขาภิบาลอาหารและอาหารปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง การบริโภคอาหารที่ไม่สะอาดเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ โดยมีสาเหตุทั้งจากเชื้อก่อโรคและสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร การบริโภคอาหารเพื่อให้ได้อาหารที่สะอาดปลอดภัยมีคุณค่าตามหลักโภชนาการและปราศจากสารปนเปื้อนนั้น จำเป็นต้องสร้างระบบการดูแลควบคุมตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยของอาหารทุกกระบวนการ ดังนั้น หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเขาทอง เพื่อสร้างระบบอาหารปลอดภัยในชุมชนเขาทองขึ้น  โดยเก็บตัวอย่างอาหารจากร้านอาหาร ตลาดนัด แผงลอย ตรวจสอบสิ่งปนเปื้อนในอาหารทั้งด้านเคมีและจุลินทรีย์ และดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรับทราบข้อมูลและเข้าถึงการบริโภคอาหารที่สะอาดและปลอดภัยได้ เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและประกันคุณภาพของอาหารในชุมชนเขาทอง เป็นการพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากสิ่งปนเปื้อนในอาหารแก่ผู้ประกอบการและสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคในชุมชนและผู้มาเยือน ซึ่งในระยะยาวจะเกิดเป็นระบบอาหารปลอดภัยในชุมชน จนเกิดความยั่งยืนด้านสุขภาพของคนในชุมชนได้ 

2. วัตถุประสงค์
       1. เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ความปลอดภัยของอาหารด้านสารเคมีและจุลินทรีย์บ่งชี้ความสกปรกของอาหารและน้ำปนเปื้อน ในตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์  
       2. เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีด้านอาหารปลอดภัยแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร แผงลอย ใน ต.เขาทอง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์  
       3. เพื่อฝึกนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน ให้มีทักษะการตรวจสิ่งปนเปื้อนในอาหาร และการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร แผงลอย ให้ทราบถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากสารเคมีและจุลินทรีย์ปนเปื้อนในอาหาร และรู้หลักการจัดการด้านอาหารปลอดภัย 

3. วิธีการดำเนินการ
1. หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน ภายใต้รายวิชา นวสธ 322 ความปลอดภัยของอาหารและการสุขาภิบาลอาหาร ประสานงานกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเขาทอง เพื่อจัดทำโครงการ ร้านอาหารปลอดภัย ใส่ใจผู้บริโภค ซึ่งจะจัดกิจกรรมต่อเนื่องทุกปี โดยของบประมาณสนับสนุนจากกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาทอง
2. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเขาทอง แจ้งประชาสัมพันธ์โครงการให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ตลาดนัด แผงลอย ทราบกิจกรรมของโครงการ
3. อาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน ภายใต้รายวิชา นวสธ 322 ความปลอดภัยของอาหารและการสุขาภิบาลอาหาร เก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสิ่งปนเปื้อนในอาหาร น้ำและน้ำแข็ง ด้านเคมี ได้แก่ สารบอแรกซ์, กรดซาลิไซลิก, โซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ ฟอร์มาลิน สารโพลาร์ในน้ำมันทอดซ้ำ และสารกำจัดแมลงตกค้าง และตรวจจุลินทรีย์ปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม ภาชนะ และมือผู้สัมผัสอาหาร ได้แก่ โคลิฟอร์มแบคทีเรีย โดยใช้ชุดตรวจอย่างง่าย
4. จัดทำรายงานผลตรวจสิ่งปนเปื้อนด้านเคมีและจุลินทรีย์ให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเขาทอง และคืนข้อมูลแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ตลาดนัด แผงลอย โดยนักศึกษาจะจัดทำโปสเตอร์ให้ความรู้ผลกระทบด้านสุขภาพและแนะนำวิธีการจัดการอาหารเพื่อลดอันตรายจากสิ่งปนเปื้อนที่ตรวจพบแก่ผู้ประกอบการร้านอาหาร ตลาดนัด แผงลอย 
5. รับฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการระหว่างลงพื้นที่ และสรุปผลการดำเนินงาน   
4. ผลผลิตและผลลัพธ์
1. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเขาทอง ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลด้านสุขภาพของชุมชนได้เฝ้าระวังและทราบ
สถานการณ์ความปลอดภัยของอาหารบริโภคในชุมชนต่อเนื่องกันทุกปี
2. ผู้ประกอบการร้านอาหาร ตลาดนัด แผงลอยในชุมชนเขาทองทราบข้อมูลสิ่งปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารที่ตน
จำหน่ายเพื่อการปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบให้ปลอดภัยมากขึ้น และได้รับความรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากการปนเปื้อนสารเคมีและจุลินทรีย์ในวัตถุดิบอาหาร 
3. นักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน ได้ฝึกทักษะการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชนและทักษะการเก็บตัวอย่างอาหารเพื่อตรวจสิ่งปนเปื้อนทางเคมีและด้านจุลินทรีย์ (โคลิฟอร์ม) รวมถึงการแจ้งผลตรวจและให้ความรู้ผลกระทบต่อสุขภาพจากสิ่งที่ตรวจพบ และให้คำแนะนำเพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น 
5. ผลกระทบ
การร่วมมือระหว่างโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดลและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเขาทอง ซึ่งเป็นหน่วยงานดูแลด้านสุขภาพของชุมชน ในการลงพื้นที่ตรวจสิ่งปนเปื้อนในอาหารและน้ำตามร้านอาหารและแผงลอย ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 3 ปี 5 เดือน ทำให้ทราบสถานการณ์ความปลอดภัยของอาหารบริโภคในชุมชนเขาทองเพื่อการเฝ้าระวังให้แก่ผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร แผงลอยในชุมชนได้ทราบข้อมูลสิ่งปนเปื้อนในวัตถุดิบอาหารที่ตนจำหน่ายเพื่อการปรับปรุงคุณภาพวัตถุดิบให้ปลอดภัยมากขึ้น และตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากสิ่งปนเปื้อนที่ตรวจพบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการปลูกจิตสำนึกด้านอาหารปลอดภัยแก่ผู้ประกอบการ เมื่อผู้ประกอบการรับรู้ถึงประโยชน์ของโครงการ ในปีถัดไปจึงยินดีให้ความร่วมมือในการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างอาหาร อีกทั้งเป็นการให้บริการที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ทำให้ผู้บริโภคทั้งที่อาศัยในชุมชนและผู้มาเยือนมีความมั่นใจ และรู้สึกปลอดภัยในการใช้บริการร้านอาหาร แผงลอยในชุมชนเขาทองมากขึ้น ลดโอกาสการเจ็บป่วยที่มีสาเหตุจากอาหารและน้ำได้ ทำให้ระบบความปลอดภัยด้านอาหารเกิดขึ้นในชุมชน เป็นการสร้างความยั่งยืนด้านสุขภาพของคนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง

 

 

Partners/Stakeholders

1. อาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขชุมชน โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล
2. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
3. กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาทอง
4. ผู้ประกอบการร้านอาหาร แผงลอย ในตำบลเขาทอง อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์

ผู้ดำเนินการหลัก
อ.ดร.ศศิมา วรหาญ ,อ.วรารัตน์ หนูวัฒนา
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเขาทอง, กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาทอง