เสวนาวิชาการ สานสัมพันธ์พี่น้อง IL: “Innovation In Education” และการปฐมนิเทศออนไลน์สำหรับนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2564

detail
SDGs ที่่เกี่ยวข้อง

การแนะนำหลักสูตร แผนการเรียน กำหนดการเรียนแนวทางการจัดการศึกษาตลอดหลักสูตร และสิ่งสนับสนุนทางการศึกษา รวมถึงอธิบายเกณฑ์มาตรฐานการอุดมศึกษาสำหรับการสำเร็จการศึกษาของหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก นอกจากนี้สามารถเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็น รวมถึงทักษะทางเทคนิคและอาชีพสำหรับอนาคตได้ 

มหาวิทยาลัยมหิดลได้มีนโยบายส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสร้างบัณฑิตให้มี Global Talents พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับเพิ่มขีดจำกัดในการทำงาน และการใช้ชีวิตในสังคมในศตวรรษที่ 21 เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยมีโครงการและกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยมหิดลสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืน พ.ศ. 2563-2566 เพื่อให้เกิดความสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว หลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิตและปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ จึงได้ดำเนินการจัดกิจกรรมและโครงการ ตลอดปีงบประมาณ 2564  เพื่อสนองตอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่กำหนดขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) และผลการดำเนินงานเพื่อความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้แก่นักศึกษา ศิษย์เก่า และบุคลากร โดยกิจกรรมในปีงบประมาณ 2564 ประกอบด้วย เสวนาวิชาการ สานสัมพันธ์พี่น้อง IL: “Innovation In Education” และการปฐมนิเทศออนไลน์สำหรับนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2564 โดยทั้งสองกิจกรรมจัดในรูปแบบ Online 

กิจกรรมที่ 1 เสวนาวิชาการ สานสัมพันธ์พี่น้อง IL: “Innovation In Education” 26 มกราคม 2564 เป็นการเสวนาวิชาการออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Webex Meeting โดยมี รศ. ดร. นพ.ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมเสวนา ทั้งนี้ทีมวิทยากรในการเสวนาประกอบไปด้วย ศิษย์เก่า และอาจารย์ของสถาบันฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในประเด็นนวัตกรรมการเรียนรู้ และเป็นแนวทางการพัฒนานวัตกรรมที่เหมาะสมกับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ต่อด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม การนำนวัตกรรมการเรียนรู้ไปปรับใช้ในการเรียนการสอน รวมถึงเคล็ดลับการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ศิษย์เก่าสร้างสรรค์จนประสบความสำเร็จมาแล้ว เพื่อให้ผู้เข้าฟังสามารถเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็น รวมถึงทักษะทางเทคนิคและอาชีพสำหรับอนาคตได้ โดยการจัดเสวนาวิชาการในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมเสวนาวิชาการผ่านระบบ Webex Meeting โดยในครั้งนี้เป็นศิษย์เก่า นักศึกษาปัจุจุบัน อาจารย์ และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมจำนวน 39 คน

กิจกรรมที่ 2 การปฐมนิเทศออนไลน์สำหรับนักศึกษาใหม่ ปีการศึกษา 2564 วันที่ 23 กรกฎาคม 2564 เวลา 10.00-12.00 น. จัดในรูปแบบออนไลน์ด้วยโปรแกรม Zoom โดยมี รศ.ดร.นพ. ชัยเลิศ พิชิตพรชัย ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวต้อนรับนักศึกษาใหม่ ในโครงการ “ปฐมนิเทศนักศึกษาใหม่ ภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2564 หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษา (หลักสูตรนานาชาติ) สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ จำนวน 5 คน วัตถุประสงค์กิจกรรมเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับค่านิยมองค์กร รวมถึงปณิธานของมหาวิทยาลัย “ปัญญาของแผ่นดิน” ที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่พึงประสงค์ออกไปเป็น Global Citizen ภายใต้พระราชดำรัสของสมเด็จพระบรมราชชนก “True success is not in the learning but in its application to the benefit of mankind” ความสำเร็จที่แท้จริงอยู่ที่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ

จากนั้น ผศ. ดร.ปรัชญพงศ์ ยาศรี ประธานหลักสูตร ได้แนะนำหลักสูตร แผนการเรียน กำหนดการเรียนแนวทางการจัดการศึกษาตลอดหลักสูตร และสิ่งสนับสนุนทางการศึกษา รวมถึงอธิบายเกณฑ์มาตรฐานการอุดมศึกษาสำหรับการสำเร็จการศึกษาของหลักสูตรปริญญาโทและปริญญาเอก นอกจากนี้ ช่วงเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learn and Share) “เคล็ดลับการเรียนระดับบัณฑิตศึกษาอย่างมีคุณภาพ” ได้เชิญวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย อาจารย์ นักศึกษาปัจจุบัน และศิษย์เก่าสำเร็จการศึกษาระดับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ดร. อริญชยา ตรีคุณประภา) ผู้ได้รับรางวัล The Dean’s List Award และ Outstanding Thesis Award, Fiscal Year 2021 นอกจากเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับนักศึกษาใหม่แล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตได้

          ทั้งนี้จากการจัดกิจกรรมและการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ได้จัดมานั้น ได้รับความร่วมมือจากนักศึกษา ศิษย์เก่า อาจารย์ และบุคลากรของสถาบันฯ ในการเข้าร่วม ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน อันเป็นการสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อ 4 (Quality Education) ของนักศึกษา ศิษย์เก่า และบุคลากรของสถาบันฯ

Partners/Stakeholders

นักศึกษา ศิษย์เก่า อาจารย์ และบุคลากรของสถาบันฯ

ผู้ดำเนินการหลัก
หลักสูตรระดับบัณฑิตศึกษา สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้
ส่วนงานหลัก