นวัตกรรมส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต “MU My mind” ช่วยลดอัตราการเกิดโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในนักเรียนมัธยมศึกษาได้
นวัตกรรมส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต “MU My mind” ช่วยลดอัตราการเกิดโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในนักเรียนมัธยมศึกษาได้
สถานการณ์ปัจจุบัน ประชากรทุกช่วงวัยมีแนวโน้มที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตสูงขึ้น มีสถิติการเกิดโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น
ทีมวิจัยนำนวัตกรรม Mobile Application ที่พัฒนาขึ้น ภายใต้ชื่อ “MU My mind” และผ่านการทดสอบประสิทธิผลในระยะแรกแล้ว ไปใช้ในการคัดกรองปัญหาสุขภาพจิต ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจ และป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในนักเรียนมัธยมศึกษา 2 แห่ง ในอำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
นักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะเข้า Application “MU My mind” เพื่อประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเอง และเข้าโปรแกรมส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจผ่าน Application บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น 3 สัปดาห์ จากนั้นประเมินสุขภาพจิตด้วยตนเองอีกครั้ง (Post test) และมีการติดตามผล 3, 6 เดือนหลังเข้าร่วมโปรแกรม
เป้าหมายของ “MU My mind” คือ
- ลดอัตราการเกิดโรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย
- สร้างต้นแบบ “การส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต” ในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษา
- ขับเคลื่อนเชิงนโยบาย เพื่อขยายผลการวิจัยสู่สถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาอื่นๆ
ในระหว่างดำเนินโครงการ พบนักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง และมีความเสี่ยงสูงต่อการฆ่าตัวตายสูงมาก ทีมวิจัยได้ให้การช่วยเหลือในเบื้องต้น ให้ความรู้และประสานความร่วมมือแก่ครูแนะแนว ครูประจำชั้น และผู้ปกครอง เพื่อร่วมกันดูแล และส่งต่อเพื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช แพทย์รับไว้เป็นผู้ป่วยใน ให้การรักษาด้วยยา และรักษาด้วยไฟฟ้า ทีมวิจัยติดตามให้การดูแลอย่างต่อเนื่องแก่นักเรียนรายนี้ เพื่อป้องกันการฆ่าตัวตาย ตลอดจนให้การปรึกษาและจิตบำบัดเพื่อฟื้นฟูสภาวะจิตใจจากโรคซึมเศร้า
ในเบื้องต้น นักเรียนที่มีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อยถึงปานกลางที่ได้ใช้นวัตกรรม “MU My mind” ให้ข้อมูลถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมกิจกรรม ความน่าสนใจของ application ขณะนี้ผลการทดสอบประสิทธิภาพของโปรแกรมเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ระหว่าการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัย โดยผลการวิจัยโดยรวมสามารถสรุปได้ว่าภายหลังการใช้โปรแกรมฯ นักเรียนมีสุขภาวะทางจิต มีสติ มีกลยุทธ์ในการรับมือกับความเครียดดีขึ้น มีภาวะสุขภาพจิต (ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และความเครียด) ลดลง และเมื่อทำการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่านักเรียนกลุ่มที่ใช้โปรแกรมฯ มีสุขภาวะทางจิต มีสติ มีกลยุทธ์ในการรับมือกับความเครียด มีภาวะสุขภาพจิต (ภาวะซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล และความเครียด) สูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้โปรแกรม ทั้งในระยะสิ้นสุดการทดลอง และติดตามผลหลังการทดลองสามเดือนและหกเดือน