การฝึกอบรมหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทาง สาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปี 2564

detail

การที่พยาบาลมีความรู้ความเข้าใจในการส่งเสริม สนับสนุนและคุ้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้การดูแลแม่ได้อย่างถูกต้อง จะช่วยให้แม่ตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทารกได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่าเหมาะสมต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของทารก ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดแก่เด็กไทย    

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นวิธีการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพของประชากรของประเทศตั้งแต่แรกเกิด เพราะนมแม่มิใช่เป็นเพียงสารอาหาร แต่เด็กที่ได้รับนมแม่อย่างเหมาะสมจะมีภูมิต้านทานโรค ทำให้มีสุขภาพดี ไม่ป่วยบ่อย ลดโอกาสในการเป็นโรคเรื้อรังหลายโรคเมื่อเด็กโตขึ้น ช่วยส่งเสริมความผูกพันใกล้ชิดระหว่างแม่ลูก เป็นการวางรากฐานของสติปัญญาความฉลาดทางอารมณ์ และสุขภาพจิตที่ดีของลูก เป้าหมายที่องค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟกำหนดให้ในปี 2025 คืออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 50 แต่อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน ในระดับโลกและของประเทศไทยมีอัตราที่ต่ำมาก จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังในการปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด ระยะหลังคลอด จนกลับไปอยู่ที่บ้าน เพื่อช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาและอุปสรรคที่ส่งผลให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่ประสบความสำเร็จ 

พยาบาลเป็นบุคลากรสำคัญในการสนับสนุนมารดาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จึงจำเป็นต้องมีความรู้และทักษะในการให้ความช่วยเหลือที่ถูกต้อง คณะพยาบาลศาสตร์เห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าวจึงจัดการอบรมพยาบาลเฉพาะทางสาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพของพยาบาลให้สามารถทำหน้าที่ปกป้อง ส่งเสริม และสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ทั้งในภาวะปกติและเจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ปีพ.ศ.2561-2564 คณะพยาบาลศาสตร์ได้จัดอบรมพยาบาลที่ปฏิบัติงานด้านการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่จากโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศมาแล้วจำนวน 195 คน จากการสำรวจอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ก่อนเข้ารับการอบรมพบว่ามีอัตราเฉลี่ย 45.24% และภายหลังจากพยาบาลผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรการพยาบาลเฉพาะทางสาขาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน หลังเข้ารับการอบรมเพิ่มขึ้นเป็น 56.00%

Partners/Stakeholders
  • โรงพยาบาลต้นสังกัด ของผู้เข้ารับการอบรม
  • ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช
  • มารดาตั้งครรภ์ และให้นมบุตร
ผู้ดำเนินการหลัก
ผศ.ดร.พรนภา ตั้งสุขสันต์
ส่วนงานหลัก
ส่วนงานร่วม