โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย: ภาคกลางและภาคตะวันตก ช่วยให้เกิดการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่มีมาตรฐานจนเป็นศูนย์ต้นแบบให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กในพื้นที่อื่นๆ ส่งผลให้สามารถยกระดับคุณภาพในการดูแลเด็กปฐมวัยให้ดีขึ้น
โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย: ภาคกลางและภาคตะวันตก ช่วยให้เกิดการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กที่มีมาตรฐานจนเป็นศูนย์ต้นแบบให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กในพื้นที่อื่นๆ ส่งผลให้สามารถยกระดับคุณภาพในการดูแลเด็กปฐมวัยให้ดีขึ้น
โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อสุขภาวะเด็กปฐมวัย: ภาคกลางและภาคตะวันตก รับผิดชอบโดยภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) สำนัก 4 สำนักสนับสนุนเด็ก เยาวชนและครอบครัว ดำเนินการระหว่างปี 2563-2564 มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสุขภาวะเด็กปฐมวัยตั้งแต่ในครรภ์มารดาจนถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ ให้มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย โดยการ 1) พัฒนาระบบและกลไกการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับอำเภอ และ 2) พัฒนาศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเครือข่าย
กลุ่มเป้าหมาย : ประกอบด้วย หญิงตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิด – 6 ปีบริบูรณ์ ครู/ผู้ดูแลในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กปฐมวัย ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ครู/ผู้ดูแลเด็ก ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ หน่วยบริการสุขภาพ (รพ.สต.) โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ ผู้ปกครอง อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน แกนนำชุมชน คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิต และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ
วิธีดำเนินการ : ประกอบด้วย 3 แผนงาน ดังนี้
แผนงานที่ 1 การพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
ประกอบด้วย 1) การพัฒนาศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เป็นศูนย์เรียนรู้โดยการสนับสนุนการพัฒนาตนเอง พัฒนาบทบาทการเป็นวิทยากร พัฒนาสถานีเรียนรู้/นวัตกรรม/สื่อสําหรับการเรียนรู้ จัดกิจกรรม (site visit) แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเครือข่ายในจังหวัด และนิเทศศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเครือข่าย (Coaching) 40 ศูนย์ 2) การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเครือข่ายแบบก้าวกระโดด มีขั้นตอนในการพัฒนา 9 ขั้นตอน คือ วางแผนการพัฒนา เลือกศูนย์เรียนรู้เพื่อไปเยี่ยมชม (site visit) เยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ ออกแบบการพัฒนาด้วยกระบวนการ Benchmarking การสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับบุคลากร กำหนดเป้าหมายและจัดทำแผนการพัฒนา การปฏิบัติเพื่อแก้ไขปรับปรุงระบบ การประเมินทบทวนและเปรียบเทียบซ้ำ และถอดบทเรียน
ผลการศึกษา
1) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เป็นศูนย์เรียนรู้มีวิทยากร เกิดการนิเทศและถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับศูนย์เครือข่าย
2) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเครือข่าย มีคะแนนการพัฒนาศักยภาพตามเกณฑ์มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ ในระดับ A (คะแนน 80-100) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17.7 เป็นร้อยละ 87.5
3) เกิดศูนย์ฯต้นแบบ 3 ศูนย์
4) ผลลัพธ์ด้านเด็ก เด็กมีภาวะโภชนาการอยู่ในกลุ่มสูงดีสมส่วน (W/H = สมส่วน, H/A = สูง) จากการประเมิน 4 ครั้ง ร้อยละ 71.63-77.51 โดยเด็กกลุ่ม สมส่วนลดลงในการประเมินครั้งที่ 4 (พฤศจิกายน 2563) อาจเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เด็กมีพัฒนาการสมวัยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 97.81 เป็นร้อยละ 98.16
แผนงานที่ 2 การพัฒนาระบบและกลไกเด็กปฐมวัยระดับอําเภอ
โดยการร่วมวางแผนงานและสร้างเสริมความเข้มแข็งของคณะทํางานระดับอําเภอ ใน 2 อำเภอ คือ 1) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ที่พัฒนาไว้ กิจกรรมประกอบด้วย การสร้างความเข้มแข็งระบบและกลไกสุขภาวะเด็กปฐมวัยระดับอำเภอ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เด็กปฐมวัย การพัฒนาศักยภาพสถานศึกษาแบบก้าวกระโดด และการจัดการความรู้ และ 2) อำเภอท่าม่วง จังหวัด กาญจนบุรี กิจกรรมประกอบด้วย การค้นหาตำบลร่วมดำเนินการ การวางแผนดำเนินโครงการ การศึกษาสถานการณ์ การเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ วิพากษ์และคืนข้อมูล ร่วมเสนอยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัย ประชุมวางแผนและดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ และสรุปบทเรียน
ผลการศึกษา เกิดกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยระดับอําเภอ 2 อําเภอ มียุทธศาสตร์ มีกิจกรรม/โครงการการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เด็กปฐมวัยระดับอําเภอ
แผนงานที่ 3 การสร้างเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19)
กิจกรรมประกอบด้วยการสนับสนุนชุดส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย ชุดป้องกันความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ชุดถุง “เด็กอิ่มอุ่น” กิจกรรมการพัฒนาศักยภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นศูนย์ฯเรียนรู้ (learning@home) และ โครงการระบบพี่เลี้ยงออนไลน์ (Coaching Online)
ผลการศึกษา มีเด็กปฐมวัยและครอบครัวได้รับการสนับสนุนความต้องการพื้นฐานด้านการยังชีพ 439 ครอบครัว การสนับสนุนอุปกรณ์ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ 1,740 คน และสนับสนุนให้ครูจัดการเรียนรู้ที่บ้าน (learning@home) โดยมีทีมวิชาการสนับสนุนกิจกรรม Coaching Online โดยโครงการดังกล่าวเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในเรื่องสร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม (SDG4) ช่วยให้เด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ ภายในปี 2573 เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา และลดความเหลื่อมล้ำ (SDG10) ในเรื่องการส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรืออื่นๆ ภายในปี 2573 และขจัดความหิวโหย (SDG2) ในเรื่องยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 รวมถึงบรรลุเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ภายในปี 2568 ด้วย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส)
สำนัก 4 สำนักสนับสนุนเด็ก เยาวชนและครอบครัว
ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในเขตภาคกลางและภาคตะวันตก