โครงการอบรมหลักสูตรระยะสั้น จัดโดยสถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ภายใต้งานบริการวิชาการของสถาบันฯ มีพันธกิจหลักคือ การเผยแพร่ความรู้ด้านการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิภาพสู่นักการศึกษา ครู อาจารย์ และบุคคลทั่วไป ทั้งที่มาจากหน่วยงานภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างยั่งยืนในทุกภาคส่วนของประเทศ และส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการการศึกษาและบุคคลทั่วไปก้าวทันแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ของโลกในด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ซึ่งหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น คือ การเติบโตและพัฒนาอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) ซึ่งได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในการจัดการเรียนการสอน การวิจัย และการบริการวิชาการมากขึ้น ChatGPT และ Gemini เป็นเทคโนโลยี AI ซึ่งเป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการศึกษา ที่สามารถจำลองการสนทนาของมนุษย์ได้อย่างสมจริงมีประโยชน์ในหลายด้าน สามารถช่วยสร้างสรรค์วิธีการสอนและเนื้อหาที่เหมาะสม รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอน และประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ และการเรียนรู้แบบ Online Learning ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนยุคใหม่ สถาบันฯ ได้เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI กับด้านการศึกษาอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการเรียนการสอนโดยที่สามารถนำเครื่องมือปัญญาประดิษฐ์มาใช้อย่างถูกหลักจริยธรรมทางวิชาการ บนพื้นฐานความรู้ความเข้าใจและมีความรับผิดชอบต่อสังคมได้ สถาบันฯ จึงได้ดำเนินการจัดโครงการ “การใช้ ChatGPT & Gemini AI สำหรับการสอนและวิจัยวิทยาศาสตร์-แพทยศาสตรศึกษาอย่างมืออาชีพ” รุ่นที่ 2 และ 3 เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และความเข้าใจหลักการพื้นฐานของการใช้ ChatGPT กับ Gemini AI รวมถึงข้อจำกัดและข้อควรระวังการใช้ ChatGPT และ Gemini AI ตลอดจนการนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์และแพทยศาสตรศึกษาและการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระยะเวลาจัดอบรมมีตั้งแต่ 1 วัน ถึง 2 วัน ตลอดระยะเวลาโดยเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 - เดือนกันยายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ และความเข้าใจหลักการพื้นฐานของการใช้ ChatGPT กับ Gemini AI รวมถึงการก้าวข้ามข้อจำกัดและข้อควรระวังการใช้ ChatGPT และสามารถประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และมีความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์และการสอนแพทยศาสตรศึกษาอย่างมืออาชีพ และเพื่อเพิ่มศักยภาพการวิจัย และการบริการวิชาการ ให้มีประสิทธิภาพ โดยการจัดกิจกรรมประกอบไปด้วย กิจกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ใช้สื่อและนวัตกรรมที่วิทยากรได้จัดเตรียมไว้ รวมถึงการเรียนรู้การใช้โปรแกรมได้อย่างครอบคลุมตามเนื้อหา
ซึ่งผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2567 มีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมฯ ไปแล้วทั้งสิ้นกว่า 359 คน ซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมอบรมที่เคยอบรมหลักสูตรฯ ของสถาบันฯ ไปแล้ว โดยกลับมาเข้าร่วมอบรมหลักสูตรอื่น ๆ ซ้ำภายในปีเดียวกันนี้เป็นจำนวนกว่า 177 คน และยังมีผู้สนใจใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นทุกปี จากผลการสำรวจความพึงพอใจ พบว่า ผู้เข้าร่วมอบรมมีความพึงพอใจต่อหลักสูตรในภาพรวมในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ยในภาพรวม 4.65) รวมทั้งผู้เข้าอบรมยังได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็น การลงมือทำ และการร่วมกันเสนอความคิดเห็นและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รวมถึงทักษะทางเทคนิคที่จำเป็นสามารถประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนและการวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ