ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัย เรื่อง “การพัฒนารูปแบบในการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในนักเรียนมัธยมศึกษา” โดยได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนา (research & development) ทำให้ได้นวัตกรรมที่เป็นเลิศในการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจและป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตในนักเรียนมัธยมศึกษา คือ “MU MyMind Mobile Application” ประกอบด้วย ระบบคัดกรองความเสี่ยงฯ การส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจ การช่วยเหลือดูแล และส่งต่อ การทดสอบประสิทธิผลของ“MU MyMind Mobile Application” ดำเนินการสองวงรอบ โดยวงรอบที่ 1 เป็นขั้นทดสอบความเป็นไปได้ของการนำโปรแกรมฯ ไปใช้ มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการวิจัยวงรอบที่ 1 จำนวน 107 คน เป็นกลุ่มทดลอง 48 คน กลุ่มควบคุม 59 คน การดำเนินการวิจัยในวงรอบที่ 2 เป็นขั้นทดสอบประสิทธิผลและความคงอยู่ของโปรแกรมฯ ภายหลังจากการปรับแก้และพัฒนาจากการวิจัยในวงรอบที่ 1 มาแล้ว มีนักเรียนเข้าร่วมโครงการวิจัย จำนวน 99 คน เป็นกลุ่มทดลอง 54 คน กลุ่มควบคุม 45 คน ผลโดยสรุป พบว่า นักเรียนที่เข้าใช้นวัตกรรม MU MyMind มีสุขภาวะทางจิตใจ มีสติ และมีกลยุทธ์ในการรับมือกับปัญหาดีขึ้นกว่านักเรียนที่ไม่ได้ใช้นวัตกรรม และระดับความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และความเครียด ต่ำกว่านักเรียนที่ไม่ได้ใช้นวัตกรรม ทั้งระยะสิ้นสุดการทดลอง และระยะติดตามผล 3 และ 6 เดือน
ด้วยประสิทธิผลที่ประจักษ์ชัดของ “MU MyMind Mobile Application” จึงทำการขยายผลการใช้นวัตกรรมสู่โรงเรียนมัธยมศึกษา โดยเริ่มจากโรงเรียนในเครือข่ายใกล้วิทยาเขตศาลายา จำนวน 1 โรงเรียนคือโรงเรียนทีปังกร เพื่อสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน พัฒนาระบบและกลไกเสริมหนุน และพัฒนาต่อเนื่องให้เป็น “โรงเรียนมัธยมศึกษาต้นแบบ ในการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจและป้องกันการเจ็บป่วยทางจิต” ที่พร้อมขยายผลสู่สถาบันการศึกษาอื่น ติดตามประเมินผลการใช้นวัตกรรม วิเคราะห์ปัจจัยเสริมหนุนหรืออุปสรรคในการขับเคลื่อนการใช้นวัตกรรมฯ สู่ความยั่งยืน จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนนวัตกรรมฯ สู่นโยบายของสถาบันการศึกษาและนโยบายระดับประเทศในการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจวัยรุ่น ด้วยความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ภาควิชาสุขภาพจิตฯ คณะพยาบาลศาสตร์ ร่วมกับอาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หวังว่าจะช่วยให้วัยรุ่นมีสุขภาวะทางจิตใจที่ดี ลดอัตราการเกิดโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายในวัยรุ่น นำไปสู่การลดภาระของประเทศในการรักษาการเจ็บป่วยทางจิตในวัยรุ่น
การดำเนินโครงการในครั้งนี้ มีประเด็นที่ต้องการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการชี้นำสังคมหรือนโยบายระดับสถาบันการศึกษา หรือ ระดับประเทศ คือ ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจและป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตในวัยรุ่น เนื่องจากสอดคล้องกับแผนพัฒนาสุขภาพจิตแห่งชาติ (Mental Health in Thailand 4.0) พ.ศ. 2561 - 2580 ที่กำหนดว่า วัยรุ่น ควรได้รับการส่งเสริมสุขภาพจิตและการป้องกันปัญหาสุขภาพจิต สร้างเสริมพัฒนาการทางด้านคิดและอารมณ์ นำไปสู่การมีสุขภาพจิตดีและมีความสุข เน้นการมีส่วนร่วมในระดับชุมชนของกลุ่มเป้าหมาย ให้มีระบบเฝ้าระวังและคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตและโรคที่สำคัญ ได้แก่ โรคซึมเศร้า ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการและกระบวนการรักษาที่เหมาะสม
ส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจและป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตในวัยรุ่น โดยการมีส่วนร่วมของสถาบันการศึกษา ครู นักเรียน ผู้ปกครอง คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกันพัฒนาระบบและกลไกที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจวัยรุ่น โดยใช้นวัตกรรมที่เป็นเลิศจากงานวิจัย คือ “MU MyMind” Mobile Application ซึ่งมีจุดเด่น คือ
1) ระบบคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตด้วยแบบวัดที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ค้นหาวัยรุ่นที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มี alert system แจ้งเตือนผู้ให้บริการเมื่อผู้ใช้นวัตกรรมมีภาวะซึมเศร้ารุนแรงหรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย
2) มีระบบส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิต
3) มีระบบดูแลกลุ่มเสี่ยง/ มีปัญหาสุขภาพจิต
4) มีระบบส่งต่อเข้าสู่ระบบบริการฯ ตลอดจนการฟื้นฟูต่อเนื่อง และที่สำคัญ คือ เป็นนวัตกรรมที่เข้าถึงง่าย ไม่มีข้อจำกัดเรื่องวัน เวลา สถานที่ และจำนวนครั้งของการใช้บริการ
การมีส่วนร่วมและความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งสถาบันการศึกษา คณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย ผู้ปกครอง และนักเรียน จะร่วมกันพัฒนาระบบและกลไกที่จะเสริมและต่อยอดนวัตกรรมให้เกิดนโยบายของสถาบันการศึกษาในการขับเคลื่อนการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตใจในวัยรุ่น เพื่อลดอัตราการเกิดโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายของวัยรุ่นไทย