ระบบกรอบงานอัตโนมัติเพื่อการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์แบบสหพันธรัฐสำหรับรูปภาพทางการแพทย์

detail
SDGs ที่่เกี่ยวข้อง

การเรียนรู้แบบสหพันธรัฐผ่านระบบต่อประสานผู้ใช้ที่เรียบง่าย ผสานกระบวนการทำงานรังสีวิทยา การเก็บข้อมูลภาพรังสีที่มีมาตรฐาน การฝึกฝนแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกแบบไม่ต้องแบ่งปันข้อมูล การแบ่งปันแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกกลางกับสถาบันที่เข้าร่วม 

การตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา (Diagnostic Imaging Study) เป็นศาสตร์หนึ่งที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ สามารถเห็นและระบุสิ่งผิดปกติของโครงสร้างและอวัยวะภายในร่างกายของผู้ป่วยก่อนให้คำวินิจฉัยและเสนอวิธีการรักษา โดยไม่มีความจำเป็นที่ทำศัลยกรรมผ่าตัด (Invasive Procedures) เพื่อดูอวัยวะภายในร่างกาย โดยใช้ข้อมูลรูปภาพประเภทต่างๆ เช่น Computed Radiography (CR), Digital Radiography (DR), Computed Tomography (CT), Magnetic Resonance Imaging (MRI), Ultrasound (US) เป็นต้น  ซึ่งในปัจจุบัน รูปภาพทางการแพทย์ที่นำใช้ในการวินิจฉัยโรคมีปริมาณสูงมาก ทำให้รังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถให้คำวินิจฉัยด้านรังสีวิทยาได้ทัน ส่งผลให้แพทย์ทั่วไปหรือแพทย์เจ้าของไข้เป็นผู้ให้การวินิจฉัยภาพรังสี ซึ่งแพทย์เหล่านี้อาจไม่มีความชำนาญในการวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องแม่นยำ คณะผู้วิจัยจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีระบบให้คำแนะนำแก่แพทย์ทั่วไปในการวินิจฉัย

ในปัจจุบัน ระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เชิงลึก (AI Deep Learning) มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีความสามารถและประสิทธิภาพสูง ทำให้การสร้างระบบ CAD ให้คำแนะนำ การวินิจฉัยที่ประยุกต์ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์เชิงลึกสามารถให้ผลการวินิจฉัยรูปภาพทางการแพทย์เทียบเท่าหรือดีกว่ารังสีแพทย์ จึงมีบริษัททางการแพทย์หลายบริษัทได้นำระบบให้คำแนะนำสำหรับการวินิจฉัยจากต่างประเทศมาจำหน่าย แต่ระบบเหล่านี้ที่มีต้นทุนค่อนข้างสูง และผลลัพธ์การวินิจฉัยอาจจะไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับประชากรในประเทศไทย เนื่องจากข้อมูลรูปภาพที่ใช้ฝึกฝนระบบเหล่านี้ไม่ครอบคลุมสรีระและสัณฐานของประชากรในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ การฝึกฝนปัญญาประดิษฐ์เชิงลึกต้องอาศัยข้อมูลรูปภาพจำนวนมากในการฝึกฝนแบบจำลอง ด้วยเหตุนี้ ทางคณะผู้วิจัยจึงต้องการสร้าง “ระบบกรอบงานอัตโนมัติเพื่อการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์แบบสหพันธรัฐสำหรับรูปภาพทางการแพทย์” ที่เป็นการนำข้อมูลรูปภาพทางการแพทย์ร่วมกับผลวินิจฉัยจากสถาบันการแพทย์ในแต่ละสถาบันในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำมาฝึกฝนแบบจำลองการเรียนรู้เชิงลึกส่วนกลาง ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้และฝึกฝนแบบจำลองที่ไม่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลรูปภาพทางการแพทย์ของแต่ละสถาบัน มีแต่เพียงการแลกเปลี่ยนผลลัพธ์จากการฝึกฝนแบบจำลองของแต่ละสถาบัน เพื่อนำมารวมกับแบบจำลองส่วนกลางโดยมีจุดประสงค์เพื่อทำให้แบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ของส่วนกลางมีความสามารถ และความแม่นยำสูงขึ้นจากการที่ได้เรียนรู้และฝึกฝนจากชุดข้อมูลที่หลากหลาย โดยสถาบันที่เข้าร่วมสามารถนำเอาผลการฝึกฝนจากส่วนกลางไปใช้เพื่อประโยชน์ของคนไข้ในสถาบัน นอกจากนี้สถาบันที่ไม่มีระบบ AI สามารถส่งรูปภาพทากการแพทย์ เพื่อเอาผลลัพธ์วินิจฉัยเบื้องต้นจากแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ส่วนกลาง (AI Inference) ไปช่วยเสริมบุคลากรทางการแพทย์ทั่วไปเพื่อใช้ช่วยให้ความเห็นเบื้องต้นในการตัดสินใจของแพทย์

คณะผู้วิจัยได้ออกแบบระบบกรอบงานอัตโนมัติเพื่อการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์แบบสหพันธรัฐสำหรับรูปภาพทางการแพทย์เพื่อตอบสนองต่อการใช้งานจริง และสนับสนุนการให้ข้อบ่งชี้สำหรับรูปภาพทางการแพทย์ ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และข้อมูลสาธารณะจาก NIH Chest X-ray  ในระบบจะประกอบด้วยระบบย่อยที่ทำหน้าที่ร่วมกัน เพื่อให้รังสีแพทย์สามารถให้ข้อบ่งชี้ (Data Labeling) บนรูปภาพทางการแพทย์ จากนั้น ข้อมูลจะถูกเก็บโดยใช้ Annotation and Image Markup (AIM) ตามมาตรฐาน DICOM PS3.21 และ AIM XML document ทั้งนี้ ข้อบ่งชี้ของรูปภาพและรูปภาพจะถูกส่งไปฝึกฝนกับระบบแบบจำลองปัญญาประดิษฐ์เชิงลึกในรูปแบบการเรียนรู้แบบสหพันธรัฐ และให้ผลลัพธ์ที่มีความแม่นยำสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Partners/Stakeholders
  1. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)
  2. ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์​โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. ภาควิชาปรสิตวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  4. ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  5. ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์​ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
  6. Stanford University
  7. บริษัท ติงค์ บลู เดต้า จำกัด (THINK BLUE DATA CO.,LTD.)
ผู้ดำเนินการหลัก
ดร.พัฒนศักดิ์ มงคลวัฒน์
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
ศ. พ.ญ. ผิวพรรณ มาลีวงษ์ (ภาควิชาปรสิตวิทยา มหาวิทยาลัยขอนแก่น), รศ.ดร. วนิดา แก่นอากาศ (ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น), รศ.นพ. สิทธิ์ พงษ์กิจการุณ (ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล), รศ.พญ. ปรารถนา เชาวน์ชื่น (ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น), อาจารย์ แพทย์หญิงชญานิน นิติวรางกูร (ภาควิชารังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล), ผศ.ดร. อัคร สุประทักษ์ (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล), ผศ.ดร. ธนพล นรเสฏฐ์ (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล), ผศ.ดร. จิดาภา ไกรสังข์ (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล), อาจารย์ ดร. เพชร สัจจชลพันธ์ (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยมหิดล)
ส่วนงานร่วม