การปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ปลูกยางพารา ภาคตะวันออกของประเทศไทย

detail
SDGs ที่่เกี่ยวข้อง

การประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ปลูกยางพารา ภาคตะวันออกของประเทศไทย เพื่อเสนอแนะแนวทางการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการเพาะปลูกยางพารา

ความสำคัญ วัตถุประสงค์โครงการ

1. เพื่อประเมินการกักเก็บคาร์บอนในดิน พื้นที่ปลูกยางพารา

2. เพื่อประเมินการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพเหนือดิน พื้นที่ปลูกยางพารา

3. เพื่อประเมินศักยภาพการกักเก็บคาร์บอน ในพื้นที่ปลูกยางพารา

4. พัฒนาสมการเพื่อคาดการณ์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระดับอกของต้นยางพาราจากค่าความสูงของลำต้นและพื้นที่การปกคลุมเรือนยอด

5. เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการเพาะปลูกยางพารา

6. เพื่อเสนอแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการเพาะปลูกยางพารา

การดำเนินการ

สำรวจและวิเคราะห์คุณสมบัติของดินและประเมินการกักเก็บคาร์บอนในดิน ส่วนการประเมินการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพ ได้ประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับในการประเมินมวลชีวภาพเหนือดินเปรียบเทียบข้อมูลกับวิธีการตรวจวัดแบบดั้งเดิมโดยใช้สมการอัลโลเมตริก (Allometric equation) และพัฒนาสมการเพื่อคาดการณ์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางระดับอกของต้นยางพาราจากค่าความสูงของลำต้นและพื้นที่การปกคลุมเรือนยอด ส่วนการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเพาะปลูกยางพารา เพื่อเสนอแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเพาะปลูกยางพารา วิธีการคำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกดำเนินการด้วยวิธี 2006 IPCC Guidelines for National Greenhouse Gas Inventories

ผลการดำเนินงาน

ผลการศึกษาพบว่า ในปี 2561 มีพื้นที่ปลูกยางพาราภาคตะวันออก 2,046,508 ไร่ มีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในดินเท่ากับ 16.19 ล้านตันคาร์บอน ปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพ เท่ากับ 19.66 ล้านตันคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 944 kgCO2eq/ไร่/ปี และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 1.93 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี ส่วนมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกยางพาราที่สำคัญ คือ กำหนดให้พื้นที่รับซื้อยางพาราอยู่ใกล้เคียงชุมชนไม่เกิน 15 กิโลเมตร เปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์ในกระบวนการปลูกยางพารา

การนำไปใช้ประโยชน์

จัดทำรายการมาตรการและเทคโนโลยีที่ใช้ในการลดก๊าซเรือนกระจกในแต่ละกิจกรรมการปล่อยเพื่อจะนำมาวิเคราะห์และคัดเลือกกิจกรรมที่เหมาะสม โดยเปิดโอกาสให้มีการประชุมระดมสมองเพื่อพิจารณาเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับท้องถิ่นต่อไป โดยกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์เป้าหมาย (Users) ได้แก่

(1) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

(2) การยางแห่งประเทศไทย

(3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสวนยางพาราและเกษตรกรณ์ผู้ปลูกยางพาราในภาคตะวันออก

ผลกระทบในระดับชุมชน ประเทศ ระดับโลก

          สามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อหาแนวทางสำหรับลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการปลูกยางพารา ลดต้นทุนการผลิต และนำไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ข้อมูลของการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และกักเก็บคาร์บอนของยางพาราจากการศึกษานี้สามารถนำไปพัฒนาเพื่อการจัดทำข้อมูลการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน และอาจจะเป็นแนวทางหนึ่งในการคิดคาร์บอนเครดิตซึ่งมีความป็นไปได้สูงเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการต่อรองทางการค้าในการลดภาวะโลกร้อน หรือ อาจผลักดันเข้าสู่ระบบซื้อขายคาร์บอนเครดิต เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น และอาจจะไม่ใช่เฉพาะผู้ปลูกยางพาราเท่านั้น ในอนาคตยังสามารถขยายผลไปสู่ไม้เศรษฐกิจยืนต้นชนิดอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และลำไย เป็นต้น

Partners/Stakeholders

(1) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

(2) การยางแห่งประเทศไทย

(3) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสวนยางพาราและเกษตรกรณ์ผู้ปลูกยางพาราในภาคตะวันออก

(4) สำนักงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด (ทสจ.) ในภาคตะวันออก

ผู้ดำเนินการหลัก
ผศ.ดร. มณฑิรา ยุติธรรม
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
ผศ.ดร. พงษ์เทพ หาญพัฒนากิจ คณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร