พฤติกรรมเชิงลึกของเกษตรกรและคนในชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนเกษตรปลอดการเผา

detail

เป็นโครงการเพื่อผลักดันเชิงนโยบายสำหรับการเป็นชุมชนเกษตรปลอดการเผา เพื่อให้การขับเคลื่อนชุมชนเกษตรปลอดการเผาเป็นรูปธรรมและยั่งยืนคู่วิถีเกษตรของสังคมไทย

วามสำคัญ วัตถุประสงค์โครงการ 

1) ค้นหาทางเลือกและประเมินต้นทุน-ผลตอบแทนในการใช้ประโยชน์ตอซังฟางข้าว 2) ประเมินการเปิดรับมลพิษทางอากาศ 3) ประเมินความเต็มใจจ่ายและความเต็มใจในการรับค่าชดเชยเพื่อจัดการฟางข้าวโดยปลอดการเผา 4) วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการจัดการตอซังฟางข้าว 5) สื่อสารทางเลือกและต้นทุน-ผลตอบแทนในการใช้ประโยชน์จากตอซังฟางข้าว สื่อสารผลการวิเคราะห์คุณสมบัติและธาตุอาหารในดินของแปลงเกษตรที่เผาและไม่เผาตอซังฟางข้าว และ 6) ถอดบทเรียน วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ และสังเคราะห์แนวทางการผลักดันสู่การเป็นชุมชนเกษตรปลอดการเผา

การดำเนินการ

- การเก็บตัวอย่างดิน กระบวนการสื่อสารผลการวิเคราะห์คุณสมบัติและธาตุอาหารในดินระหว่างพื้นที่เผาและไม่เผาตอซังฟางข้าว และการใช้ประโยชน์จากตอซังฟางข้าว

- ถอดบทเรียน และ วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ

- สังเคราะห์แนวทางการผลักดันเชิงนโยบาย 

- เก็บข้อมูลจากบบสอบถาม แบบสอบถามเชิงลึก และการสนทนากลุ่มย่อย

ผลการดำเนินงาน

- ผลการวิจัยในประเด็นทางเลือกการใช้ประโยชน์จากตอซังฟางข้าว ประกอบด้วย 8 ทางเลือกหลัก ได้แก่ 1) ใช้ฟางข้าวคลุมดิน  2) ไถกลบฟางข้าว ควบคู่กับการปลูกพืชตระกูลถั่ว ปลูกปอเทืองเป็นปุ๋ยพืชสด และทำปุ๋ยหมักฟางข้าว  3) ทำปุ๋ยหมักฟางข้าว  4) ใช้ฟางข้าวเป็นอาหาร/เลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงปลา เลี้ยงกวาง เลี้ยงโค/กระบือ  5) เพาะเห็ดจากฟางข้าว เช่น เห็ดฟางสด เห็ดฟางในตะกร้าพลาสติก เห็ดนางรมเทาและทำวัสดุอาหารเสริมจากส่วนผสมของฟางข้าว  6) อัดฟางข้าวขาย  7) ผลิตภัณฑ์จากฟางข้าว เช่น กระถางปลูกต้นไม้ หุ่นฟางนก ฉนวนกันความร้อนจากฟางข้าว วัสดุกันกระแทกและถาดบรรจุภัณฑ์จากฟางข้าว ผลิตภัณฑของตกแต่งบ้าน  และ 8) ใช้ฟางข้าวเป็นชีวมวลเพื่อผลิตพลังงานทดแทนทางเลือก

- เกษตรกรและคนในชุมชนไม่ได้เปิดรับมลพิษทางอากาศมากนัก

- ส่วนใหญ่เกษตรกรไม่มีความเต็มใจจ่ายในรูปตัวเงินเพื่อจัดการตอซังฟางข้าวโดยปลอดการเผา เนื่องจากไม่มั่นใจว่า หากต้องจ่ายเงินเพื่อนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์แล้ว จะได้ผลตอบแทนกลับมาคุ้มทุนหรือไม่ สำหรับความเต็มใจในการรับค่าชดเชยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสู่การจัดการฟางข้าวโดยปลอดการเผา ส่วนใหญ่สะท้อนว่า อยากได้รับค่าชดเชยตามต้นทุนที่จะต้องมีการจ่ายไปสำหรับการนำฟางข้าวไปใช้ประโยชน์ 

- ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการจัดการตอซังฟางข้าวของเกษตรกร ผลการศึกษาแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ได้รับอิทธิพลเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญจากเกษตรกรกลุ่มที่เลือกวิธีเผาฟางข้าวในทุกประเด็นย่อย และแตกต่างเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับวิธีการจัดการโดยไม่เผา ในขณะเดียวกัน การรับรู้ประโยชน์ของวิธีการจัดการฟางข้าวที่ใช้อยู่ ของกลุ่มเกษตรกรที่ใช้วิธีการเผาพบว่ามีความแตกต่างเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญในประเด็นด้านการประหยัดต้นทุน เมื่อเทียบกับกลุ่มเกษตรกรที่ใช้วิธีการไถกลบและวิธีการเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งในนาข้าว

- การวิเคราะห์คุณสมบัติและธาตุอาหารในดินของแปลงเกษตรที่เผาและไม่เผาตอซังฟางข้าว พบว่า เถ้าหลังการเผาตอซังฟางข้าวมีค่าความเป็นด่างสูง ส่งผลให้ค่า pH และ ECe เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยปรับสภาพดินในนาที่ทั่วไปมีความเป็นกรดอยู่แล้ว ให้เป็นกรดลดลง การเผาไหม้อินทรีย์วัตถุ (ตอซังและฟางข้าว) ส่งผลให้ธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อพืชถูกปลดปล่อยออกมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเผาไหม้ทำให้ปริมาณอินทรีย์วัตถุ และคาร์บอนในดินลดลง

- การสื่อสารทางเลือกและต้นทุน-ผลตอบแทนในการใช้ประโยชน์จากตอซังฟางข้าว และสื่อสารผลการวิเคราะห์คุณสมบัติและธาตุอาหารในดิน ดำเนินการด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม สื่อสารผ่านแกนนำเกษตรกรและจัดทำ “คู่มือ ฟางข้าว...ทำอะไรได้บ้าง”

- กลยุทธ์การสื่อสารเพื่อส่งเสริมวิธีการจัดการตอซังฟางข้าวแบบไม่เผาเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและนิเวศวิทยา ที่จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรยั่งยืนมากขึ้น ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ ส่วนแรก การสื่อสารภายในตัวเกษตรกร หรือภายในกลุ่มเกษตรกร  ส่วนสอง การสื่อสารภายนอก เป็นการสื่อสารแบบสองทางและการสื่อสารที่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่าย  ส่วนสาม กลไกรองรับ ได้แก่ 1) นโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ เทคโนโลยี และการลงทุนในการนำฟางข้าวมาใช้ประโยชน์  2) กลยุทธ์การสื่อสาร คือ การวิเคราะห์เกษตรกร การปฏิบัติการสื่อสาร และ การติดตามตรวจสอบและการประเมิน

- การถอดบทเรียน วิเคราะห์ปัจจัยความสำเร็จ และสังเคราะห์แนวทางการผลักดันเชิงนโยบายสำหรับการเป็นชุมชนเกษตรปลอดการเผาได้กลยุทธ์ 4 หลัก คือ 1) กลยุทธ์เชิงรุก: ส่งเสริมเกษตรกรแนวหน้าเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง  2) กลยุทธ์เชิงแก้ไข: ส่งเสริมความรู้และฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการวิธีการใช้ประโยชน์ฟางข้าวอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง และคำนึงถึงข้อจำกัดของเกษตรกร  3) กลยุทธ์เชิงป้องกัน: ยกระดับการใช้ประโยชน์ฟางข้าวของกลุ่มเกษตรกรให้ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ  และ 4) กลยุทธ์เชิงรับ: สร้างผลตอบแทนการใช้ประโยชน์ฟางข้าวให้ชัดเจนขึ้น และจัดการการเผาอย่างเป็นระบบ

การนำไปใช้ประโยชน์

- คู่มือและอินโฟกราฟิกการจัดการตอซังฟางข้าว ฉบับชาวบ้าน เพื่อเกษตรกรได้นำไปปรับใช้ในการทำการเกษตร และสื่อมวลชนใช้ในการเผยแพร่สู่สาธารณะ

- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ข้อมูลบทเรียนจากการดำเนินการ ปัจจัยความสำเร็จ และแนวทางการผลักดันเชิงนโยบายสำหรับการเป็นชุมชนเกษตรปลอดการเผา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการสนับสนุนชุมชนเกษตรปลอดการเผาให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายต่อไป

ผลกระทบในระดับชุมชน ประเทศ ระดับโลก

ระดับชุมชน – เพื่อเป็นต้นแบบชุมชนเกษตรปลอดการเผาในระดับชุมชน เช่นในพื้นที่ศึกษา ตำบลตลุก อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท

ระดับประเทศ – เพื่อผลักดันเชิงนโยบายสำหรับการเป็นชุมชนเกษตรปลอดการเผา ที่สามารถนำไปปรับใช้กับเกษตรกรทั้งประเทศต่อไป

Partners/Stakeholders

• เกษตรกร

• ภาคสื่อมวลชน

• หน่วยงานรัฐ ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอสรรพยา เทศบาลตำบลตลุก ศูนย์วิจัยข้าวชัยนาท สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขต 5 สถานีพัฒนาที่ดินชัยนาท ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรอำเภอสรรพยา ศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลตลุก กรมส่งเสริมการเกษตร กรมควบคุมมลพิษ 

• ภาควิชาการ

• องค์กรอิสระที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนชุมชนเกษตรปลอดการเผา

• ภาคธุรกิจที่รับอัดและจำหน่ายฟางอัดก้อน  

ผู้ดำเนินการหลัก
ผศ.ดร.สุกัญญา เสรีนนท์ชัย
ส่วนงานหลัก