การประเมินระบบการดูแลผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหักที่ผ่าตัดเร็วโดยทีมสหสาขาวิชาชีพในโรงพยาบาลนำร่องของประเทศไทยและผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 ต่อระบบการดูแลผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก

detail
SDGs ที่่เกี่ยวข้อง

การศึกษาผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ต่อระบบการดูแลผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหักที่ผ่าตัดเร็วในบริบทของโรงพยาบาลต่างรูปแบบและต่อผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วย และพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ระบบการดูแลผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก

         ภาวะกระดูกสะโพกหัก (hip fracture) ในผู้สูงอายุ เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของระบบสาธารณสุขทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย ระบบการดูแลภาวะนี้ ในประเทศไทย ยังไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานการดูแลที่แนะนำในระดับสากลอันเนื่องมาจากข้อจำกัดของทรัพยากรในประเทศ หน่วย SIHP ได้ทำโครงการ ร่วมกับ สรพ. ในการปรับปรุงแนวเวชปฏิบัติเพื่อการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ เชิญชวนโรงพยาบาลนำร่องที่สนใจเข้าร่วมโครงการดูแลโดยใช้แนวปฏิบัติดังกล่าว หน่วย SIHP จึงได้ขอทุนวิจัยจาก สวรส. เพื่อติดตามผลการดำเนินการ เพื่อศึกษาปัญหาและเสนอแนวนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้สูงอายุกระดูกสะโพกหัก, ผู้กำหนดนโยบายในระดับต่างๆ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการดูแลผู้สูงอายุกระดูกสะโพกหัก

  • เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วย ทั้งปัจจัยทางโครงสร้าง ปัจจัยเชิงกระบวนการ และปัจจัยทางคลินิกของผู้ป่วย

  • เพื่อศึกษาผลกระทบของการระบาดโควิด-19 ต่อระบบการดูแลผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหักที่ผ่าตัดเร็วในบริบทของโรงพยาบาลต่างรูปแบบและต่อผลลัพธ์ทางคลินิกของผู้ป่วย

  • เพื่อพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายอันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ระบบการดูแลผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก

โดยได้รับแหล่งทุนสนับสนุน จาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

 

ทั้งนี้ได้นำผลลัพธ์ไปใช้ประโยชน์ ดังนี้

การนำเสนอผลงานวิจัยพร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายด้านสุขภาพ ในกลุ่มผู้สูงอายุที่กระดูกสะโพกหัก ต่อ

• สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.)

• ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

• ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย

• ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย

• ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย

• ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย

• โรงพยาบาลนำร่องทั้ง 20 แห่งในประเทศไทย

โดยมีข้อค้นพบและข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาระบบสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ป่วย ดังนี้

1. ภาวะกระดูกสะโพกหักในผู้สูงอายุเป็นภาวะที่มีอัตราการเสียชีวิตที่ 1 ปีสูง การผ่าตัดทำให้อัตราการตายลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ประเทศไทยยังมีอัตราการรักษาโดยไม่ผ่าตัด (nonoperative treatment) สูงมาก
 

ข้อเสนอเชิงนโยบาย: การสร้างแรงจูงใจ

กระทรวงสาธารณสุข ควรมีนโยบายการส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary team) และมีระบบการติดตามผลการดำเนินงานและผลลัพธ์อย่างเป็นระบบ ดังนี้

สร้างแรงจูงใจที่ไม่ใช่การเงิน (nonfinancial incentive)

สรพ. ควรจัดให้มีการรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ (The Program and Disease Specific Standard: PDSS)

กระทรวงสาธารณสุข ควรจัดเวทีประกวดและมอบรางวัลเชิดชูเกียรติทีมบุคลากรที่ให้บริการดีเลิศ (best practice) ประจำปี

สร้างแรงจูงใจด้านการเงิน (financial incentive)

สร้างกลไกการจ่ายค่าตอบแทนเพิ่มเติม ให้กับทีมบุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยในระดับโรงพยาบาล และโรงพยาบาลที่มีผลการดำเนินการเป็นเลิศ

2. การดูแลโดยองค์รวม โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ (multidisciplinary team) เป็นตัวชี้วัดเชิงคุณภาพที่สำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยสูงอายุกระดูกสะโพกหักมีอัตราการเกิดทุพพลภาพลดลง อัตราการตายลดลง

ข้อเสนอเชิงนโยบาย: พัฒนาแนวทางการดูแลแบบองค์รวม โดยทีมสหสาขาวิชาชีพ

  • Service plan ผู้ป่วยกลุ่มนี้ ควรระบุให้มี อายุรแพทย์สูงอายุหรืออายุรแพทย์ วิสัญญีแพทย์ และแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เข้ามาช่วยดูแลร่วมกับศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์อย่างเพียงพอ และในแต่ละโรงพยาบาลควรจัดให้มีผู้รับผิดชอบประสานงาน (care coordinator) ที่เป็นผู้ดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เริ่มเข้ามาโรงพยาบาลจนกลับไปอยู่ในชุมชม
  • สรพ. ควรพิจารณาให้มีการสร้างแนวมาตรฐานของคุณภาพการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลจากสหสาขาวิชาชีพ การดูแลแบบ specific care โดยให้มีกลุ่มการดูแลผู้สูงอายุที่เปราะบาง (care for frail older patients)
  • องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทยสภาหรือราชวิทยาลัยที่เกี่ยวข้อง สภาการพยาบาล เป็นต้น ควรจัดให้มีหลักสูตรการเรียนรู้ของแพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด เภสัชกร เกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยสูงอายุกระดูกสะโพกหักอย่างเหมาะสม

3. กระบวนการในการดูแลอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง การมีทีมสาขาวิชาชีพที่เหมาะสม ดูแลขณะอยู่โรงพยาบาลและดูแลหลังกลับจากโรงพยาบาล น่าจะส่งเสริมให้ลดอัตราการตาย ลดอัตราการเกิดทุพพลภาพ และลดผลกระทบทางสังคมในการดูแลผู้สูงอายุกระดูกสะโพกหัก

ข้อเสนอเชิงนโยบาย : สร้างกระบวนการในการดูแลอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง

  • กระทรวงสาธารณสุข ควรส่งเสริมให้มีการสร้างสหสาขาวิชาชีพให้เหมาะสม และเพียงพอในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ช่วงเจ็บป่วยเฉียบพลัน (acute care) และการดูแลหลังเจ็บป่วยเฉียบพลัน (intermediate care)
  • แหล่งทุนวิจัยภายในประเทศ ควรพิจารณาให้ทุนเพื่อทำการศึกษาวิจัย ถึงองค์ประกอบที่สำคัญ และ กระบวนการส่งเสริมการสร้างนโยบายให้มีการสร้างทีมการดูแลที่เหมาะสมและต่อเนื่อง
Partners/Stakeholders

- สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.)

- ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

- ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

- ภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ผู้ดำเนินการหลัก
หน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ (SIHP) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
สถาบันรับรองคุณภาพโรงพยาบาล (สรพ.)