โครงการประเมินผลการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และการนำแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพมาใช้ในประเทศไทย

detail
SDGs ที่่เกี่ยวข้อง

แนวคิด “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” หรือ Health in All Policies (HiAP) ได้ถูกกล่าวถึงในฐานะแนวคิดและหลักการ ซึ่งกำหนดอยู่ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และมีการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ยังมีช่องว่างขององค์ความรู้ คือ การประเมินบทบาทของการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ในการนำแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพมาใช้ในประเทศไทย

แนวคิด “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” หรือ Health in All Policies (HiAP) ได้ถูกกล่าวถึงในฐานะแนวคิดและหลักการ ซึ่งกำหนดอยู่ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และมีการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ยังมีช่องว่างขององค์ความรู้ คือ การประเมินบทบาทของการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ ฉบับนี้ในการนำแนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพมาใช้ในประเทศไทย

 

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ

1) ศึกษาการทำให้แนวคิดทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพกลายเป็นสถาบันในประเทศไทยและการปรากฏเป็นรูปธรรมนั้นส่งผลต่อการขับเคลื่อนแนวคิดผ่านกลไกในลักษณะใด

2) เพื่อทำความเข้าใจรากฐานและการพัฒนาแนวคิด “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ” ในสายธารการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย เพื่อให้เกิดความเข้าใจสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบันอย่างรอบด้านและเพื่อให้สามารถดำเนินการเพื่อการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายตามแนวคิดนี้ได้อย่างมีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

 

ใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพด้วยการวิจัยเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง จำนวน 50 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างเดือนเมษายนถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2565 วิเคราะห์ข้อมูลบนฐานของการวิเคราะห์แบบ thematic analysis เพื่อค้นหาประเด็นและเรื่องราวที่สำคัญเกี่ยวกับแนวคิด “ทุกนโยบายห่วงใยสุขภาพ (HiAP)” ในพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550

 

 HiAP ปรากฏขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่านการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550” ผ่านกลไกสำคัญ 3 ประการ ซึ่งมีข้อค้นพบ ดังนี้

1) การปรับเปลี่ยนนิยามสุขภาพใหม่ ถูกขยายนิยามชัดเจนในหมวดสิทธิและธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพสุขภาพแห่งชาติ โดยสุขภาพทางปัญญาถือเป็นมิติสุขภาพที่เพิ่มเติมออกมาจากคำนิยามขององค์การอนามัยโลก ยังคงมีประเด็นท้าทายเพื่อให้การปรับเปลี่ยนนิยามสุขภาพใหม่เป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์ต่อการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ มากขึ้น ได้แก่ การพัฒนากระบวนการและรูปแบบในการสื่อสารนิยามสุขภาพใหม่

2) การมีส่วนร่วมของสาธารณะมีกลไกเด่นที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของสาธารณะที่ระบุในพระราชบัญญัติฯ ได้แก่ กระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (มาตรา 40, 44) และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (มาตรา 11) และกลไกสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและการประเมินผลกระทบทางสุขภาพทำให้เกิดการยกระดับการมีส่วนร่วม การสร้างเครือข่ายและการเรียนรู้ร่วมกัน ประเด็นท้าทายเพื่อให้การมีส่วนร่วมมีความหมายมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ความเป็นตัวแทนของผู้เข้าร่วมในกระบวนการอย่างแท้จริงและการใช้วิธีการที่หลากหลายเพื่อพัฒนาประเด็นนโยบายให้มีความเข้มข้นมากขึ้น

3) ความร่วมมือแบบข้ามภาคส่วนมีรูปธรรม ปรากฏอย่างเด่นชัดในหมวด 2 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ที่ระบุองค์ประกอบรัฐระดับชาติ ท้องถิ่น สังคม วิชาการ ภายในและนอกภาคสุขภาพ นอกจากนั้นความร่วมมือแบบข้ามภาคส่วนที่ถูกออกแบบมาในพระราชบัญญัติฯ มุ่งหวังให้เกิดการประสานเชิงนโยบายผ่านผู้แทนที่มาจากภาคส่วนต่างๆ ทำให้นโยบายที่ตัดสินใจมีความชอบธรรมและสอดคล้องกับทิศทางของสังคม ประเด็นที่ท้าทาย คือ การประสานพลังเชิงนโยบายและสร้างผลกระทบควบคู่กัน ส่วนรากฐานและการพัฒนาแนวคิด HiAP นั้นเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของพลวัตรการเปลี่ยนแปลงของบริบททางการเมืองและการพัฒนาด้านสุขภาพทั้งในระดับโลกและภายในประเทศที่สัมพันธ์กัน มีความเชื่อมโยงกับการก่อตัวของกลไกและเครื่องมือต่างๆ ในการพัฒนาของระบบสุขภาพตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุข องค์การอนามัยโลก จนถึงธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ดังนั้น การพัฒนาระบบสุขภาพตามแนวคิดนี้ต้องขยายกรอบให้กว้างขวางไปกว่า พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 และการปฏิบัติการของกลไกและเครื่องมือตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ควรสร้างความเชื่อมโยงและการทำงานร่วมกันระหว่างองค์ประกอบทุกภาคส่วนและกลไกต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยตระหนักร่วมกันว่าเรื่องสุขภาพนั้นกว้างขวางกว่าภารกิจขององค์กรหรือกลไกด้านสาธารณสุขหรือการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยเท่านั้น

Partners/Stakeholders

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ

ผู้ดำเนินการหลัก
รองศาสตราจารย์ ดร.คนางค์ คันธมธุรพจน์, อาจารย์ ดร. ธีรพัฒน์ อังศุชวาล
ส่วนงานหลัก
ผู้ดำเนินการร่วม
สำนักงานพัฒนานโยบายระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข