การประเมินความมั่นคงทางอาหารภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในลุ่มน้ำแม่จาง จังหวัดลำปาง

detail
SDGs ที่่เกี่ยวข้อง

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ประเมินและคาดการณ์แนวโน้มการใช้ที่ดิน โดยเฉพาะพืชเกษตรหลัก 3 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ในช่วง พ.ศ. 2544 - 2574 ทำให้หน่วยงานรัฐมีข้อมูลและแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่การเกษตรภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในลุ่มน้ำแม่จาง จังหวัดลำปาง อันนำไปสู่การผลิตอาหารอย่างมีเป้าหมาย และส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ในลุ่มน้ำแม่จางอย่างยั่งยืนต่อไป

ความสำคัญ วัตถุประสงค์โครงการ

ลุ่มน้ำแม่จาง จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำวัง มีสถานการณ์การขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมและการลดลงของพื้นที่ป่าไม้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำ ซึ่งอาจรวมถึงประเด็นของความมั่นคงทางอาหาร การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินและคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต การประเมินความถี่ของการเพาะปลูกรวมถึงผลผลิตทางการเกษตรของพืชเกษตรหลัก 3 ชนิด ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง การประเมินปริมาณน้ำท่า การชะล้างพังทลายของดิน การพัดพาตะกอนลงสู่ลำน้ำ และการสูญเสียธาตุอาหารหลัก การประเมินความเหมาะสมของการใช้ที่ดินของพืชเกษตรหลัก อันจะนำไปสู่การประเมินความมั่นคงทางอาหารภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินได้ต่อไป

การดำเนินการ

การวิจัย ประกอบด้วยขั้นตอนทั้งสิ้น 8 ขั้นตอน ดังนี้

1) การประเมินสถานการณ์การใช้ที่ดินในปี พ.ศ. 2544, 2549, 2554, 2559 และ 2564 โดยใช้ข้อมูลดาวเทียม

2) การประเมินรูปแบบการทำเกษตรกรรมของพืชเกษตรหลัก 3 ชนิด ในปี พ.ศ. 2544, 2549, 2554, 2559 และ 2564 ด้วย Google Earth Engine

3) การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในอนาคต พ.ศ. 2569 และ 2574 ด้วยแบบจำลอง Land Change Modeler (LCM)

4) การประเมินปริมาณน้ำท่ารายปีตามรูปแบบการใช้ที่ดินในปี พ.ศ. 2544, 2549, 2554, 2559 และ พ.ศ. 2564 และการใช้ที่ดินในอนาคต พ.ศ. 2569 และ 2574

5) การประเมินการชะล้างพังทลายของดินด้วย USLE การพัดพาตะกอนลงสู่ลำน้ำ และการสูญเสียธาตุอาหารหลัก ด้วย InVEST

6) การประเมินพื้นที่เหมาะสมของการใช้ที่ดินทางการเกษตรของพืชเกษตรหลัก 3 ชนิด ด้วย GIS

7) การประเมินความมั่นคงทางอาหารภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเกษตรกรรมและผลผลิตของพืชเกษตรหลัก 3 ชนิด โดยใช้การสัมภาษณ์/สอบถามข้อมูลจากผู้กำหนดนโยบายในพื้นที่ศึกษา (Planners) ผู้มีประสบการณ์ทำงานในพื้นที่ศึกษา (Experienced professional) ผู้นำชุมชน (Community leader) และตัวแทนเกษตรกร (Farmer) ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิที่เกี่ยวข้อง

ผลการดำเนินงาน

1) ผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในลุ่มน้ำแม่จางจากปี พ.ศ. 2544 2549 2554 2559 และ 2564 พบว่าพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เหมืองแร่ และพื้นที่ชุมชนสิ่งปลูกสร้างขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันพื้นที่ป่าผลัดใบลดลง

2) ความเข้มของการเพาะปลูกพืชพบว่าข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง ส่วนใหญ่ปลูก 1 รอบต่อปี

3) การคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน ปี พ.ศ. 2569 และ 2574 พบว่าการลดลงของพื้นที่ป่าผลัดใบและการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะไม้ยืนต้น

4) ปริมาณน้ำท่ารายปีใน พ.ศ. 2544 2549 2554 2559 และ 2564 พบว่ามีปริมาณน้ำท่ารายปีเท่ากับ 542.98 1163.43 1632.46 168.98 และ 159.93 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี สำหรับปี พ.ศ 2569 และปี พ.ศ. 2574 มีปริมาณน้ำท่ารายปีเท่ากับ 442.46 และ 223.62 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

5) การประเมินการชะล้างพังทลายของดิน การพัดพาตะกอนลงสู่ลำน้ำ และการสูญเสียธาตุอาหารหลัก

5.1) การชะล้างพังทลายของดินในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จาง พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่เกิดการชะล้างพังทลายของดินในระดับน้อยมาก (very slight) มีพื้นที่เท่ากับ 930.96 ตารางกิโลเมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 56.88 รองลงมาอยู่ในระดับน้อย (slight) มีพื้นที่เท่ากับ 300.65 ตารางกิโลเมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 18.37 และระดับรุนแรง (severe) มีพื้นที่เท่ากับ 126.16 ตารางกิโลเมตรหรือคิดเป็นร้อยละ 7.71 ส่วนใหญ่พบในพื้นที่เกษตรกรรมและพื้นที่ที่มีความลาดชันมาก

5.2) การวิเคราะห์หาผลผลิตตะกอนในปี พ.ศ. 2544 พบว่า มีปริมาณตะกอนเท่ากับ 153261.17 ตันต่อปี ปี พ.ศ. 2549 พบว่ามีปริมาณตะกอนเท่ากับ 211,734.36 ตันต่อปี ปี พ.ศ. 2554 พบว่ามีปริมาณตะกอนเท่ากับ 332,825.42 ตันต่อปี ปี พ.ศ. 2559 พบว่า มีปริมาณตะกอนเท่ากับ 186,739.15 ตันต่อปี และปี พ.ศ. 2564 พบว่า มีปริมาณตะกอนเท่ากับ 184,525.41 ตันต่อปี

5.3) การพัดพาธาตุอาหารลงสู่ลำน้ำ พบว่า ลุ่มน้ำแม่จางมีการพัดพาไนโตรเจนโดยเฉลี่ย 54.22 ตัน/ปี และฟอสฟอรัสโดยเฉลี่ย 4.51 ตัน/ปี ลักษณะของการพัดพาจะสอดคล้องกับปัจจัยของการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมมากกว่าปริมาณน้ำฝน

6) การประเมินความเหมาะสมของการใช้ที่ดินทางการเกษตร พบว่า พื้นที่มีความเหมาะสมสำหรับปลูกพืชเกษตรกรรมที่เป็นพืชไร่ ข้าวโพด ไร่มันสำปะหลัง มากกว่าการปลูกนาข้าว

7) ผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรส่วนใหญ่เพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่สามารถเลี้ยงชีพและครอบครัวได้ ทำให้แนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่ไม่เปลี่ยนแปลงไปทำเกษตรชนิดอื่น ทั้งนี้ ปัจจัยทางกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่จาง จังหวัดลำปาง และอาจจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร ประกอบด้วย ปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำท่าที่ลดลง ทำให้ควรมีการส่งเสริมให้สร้างแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร รวมถึงสิทธิ์ในการถือครองที่ดิน ที่ควรมีการจัดการอย่างเหมาะสมเพื่อบรรเทาปัญหาการรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้

การนำไปใช้ประโยชน์

1) องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง 2) สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง 3) สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง 4) ตัวแทนผู้ใหญ่บ้าน (ในตำบลแม่เมาะ ตำบลแม่ทะ ตำบลน้ำโจ้) 5) วิสาหกิจชุมชน (วิสาหกิจชุมชนไทยวิจัยสิ่งแวดล้อม) 6) เกษตรกรในพื้นที่ มีแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่การเกษตรภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในลุ่มน้ำแม่จาง จังหวัดลำปาง อันนำไปสู่การผลิตอาหารอย่างมีเป้าหมาย และส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ในลุ่มน้ำแม่จางอย่างยั่งยืนต่อไป

ความแตกต่าง หรือมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากโครงการอื่น

           การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ประเมินการใช้ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2544, 2549, 2554, 2559 และ 2564 และคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอนาคต พ.ศ. 2569 และ 2574 เพื่อประเมินความมั่นคงทางอาหารและกำหนดแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่การเกษตรภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในลุ่มน้ำแม่จาง จังหวัดลำปาง

ผลกระทบในระดับชุมชน ประเทศ ระดับโลก

          หน่วยงานรัฐมีข้อมูลสถานการณ์และแนวโน้มการใช้ที่ดิน และมีแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการความมั่นคงทางอาหารในพื้นที่การเกษตรภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในลุ่มน้ำแม่จาง จังหวัดลำปาง อันนำไปสู่การผลิตอาหารอย่างมีเป้าหมาย และส่งเสริมให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร ในลุ่มน้ำแม่จางอย่างยั่งยืนต่อไป

Partners/Stakeholders

1) องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง

2) สำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดลำปาง

3) สำนักงานเกษตรอำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

4) ตัวแทนผู้ใหญ่บ้าน (ในตำบลแม่เมาะ ตำบลแม่ทะ ตำบลน้ำโจ้)

5) วิสาหกิจชุมชน (วิสาหกิจชุมชนไทยวิจัยสิ่งแวดล้อม)

6) เกษตรกรในพื้นที่

ผู้ดำเนินการหลัก
รศ.ดร.สุระ พัฒนเกียรติ
ส่วนงานหลัก