นโยบายปกป้องสิทธิบุคลากร พนักงาน ลูกจ้างและพนักงานจ้างเหมาบริการ (Outsource) พ.ศ. 2565
โดยที่มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถานศึกษาทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง มีพันธกิจในการสร้างความเป็นเลิศทางด้านสุขภาพ ศาสตร์ ศิลป์ และนวัตกรรมบนพื้นฐานของคุณธรรม เพื่อสังคมไทยและประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลจึงได้ตระหนักถึงความสำคัญต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และความ หลากหลายของบุคคลทุกคนในทุกมิติ โดยไม่เลือกปฏิบัติ หรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมต่อเชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว ศาสนา เพศ (ซึ่งหมายรวมถึงทั้งเพศสภาพและเพศวิถี) อายุ สถานภาพการสมรส และความทุพพลภาพ ตลอดจนสร้างความตระหนักรู้และให้ประชาคมทุกระดับ ตั้งแต่ผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร ตระหนักถึงความสำคัญของหลักความเท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม
- มหาวิทยาลัยจะมุ่งมั่นบริหารและขับเคลื่อนพันธกิจของมหาวิทยาลัยภายใต้การเคารพ สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และความหลากหลายของบุคคลทุกคนในทุกมิติ
- มหาวิทยาลัยจะบริหารงานโดยยึดหลักความเท่าเทียม สร้างความตระหนักรู้และปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ พร้อมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ และปราศจากการเลือกปฏิบัติ แบ่งแยก กีดกันหรือจำกัดสิทธิประโยชน์ใด ๆ
- มหาวิทยาลัยจะปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันในกระบวนการการจ้างงาน ตั้งแต่การสรรหาและคัดเลือก การจ่ายค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียมตามความรู้ความสามารถ
- มหาวิทยาลัยจะสนับสนุน และรณรงค์ให้บุคลากรมีความตระหนักถึงการจ้างงานโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม ไม่ใช้แรงงานบังคับ แรงงานทาส แรงงานที่มาจากการค้ามนุษย์ หรือแรงงานเด็กอันมิชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงการลงโทษที่เป็นการทารุณต่อร่างกายหรือจิตใจ
- มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนและติดตามให้พนักงานจ้างเหมาบริการ (Outsource) ได้รับการปฏิบัติที่เสมอภาคและได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมจากนายจ้างโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งจะใช้เกณฑ์การปฏิบัติอย่างเสมอภาคสำหรับการพิจารณาคัดเลือกผู้รับจ้างเหมาบริการมาทำงานให้แก่มหาวิทยาลัย
ดาวน์โหลดฉบับเต็ม